จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การประมูลของรัฐ



การประมูลของรัฐ

            การประมูลคลื่น 1,800 และ 900 MHz ของกสทช. ได้สร้างความแปลกใหม่และดึงดูดความสนใจจากประชาชน จากการที่ราคาประมูลวิ่งไปแรงและไกลกว่าที่ทุกๆคนจะจินตนาการถึง กระทั่งตัวผู้เข้าร่วมประมูลเองก็คงไม่คาดว่าราคาจะไปสิ้นสุดที่ราคาสูงขนาดนั้น โดยคลื่น 900 MHz ประมูลไปเมื่อเดือนพฤษจิกายนราคาเริ่มต้นประมูลที่ 15,912 ล้านบาท มี 2 ใบอนุญาต แต่ละใบมี อายุ 18 ปี และขนาดของคลื่น 15 MHz โดยราคาไปสิ้นสุดที่ 39,792 ล้านบาท (เฉลี่ยค่าใบอนุญาตตกปีละ 2,210 ล้านบาท)สำหรับใบแรกโดย TRUE เป็นผู้ชนะ ส่วนใบที่สองไปสิ้นสุดที่ 40,986 ล้านบาท โดย AIS เป็นผู้ชนะ 2 ใบรวมเป็นเงิน 80,778 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้น 48,954 ล้านบาท คิดเป็นราคาที่เพิ่มขึ้น 153.83% โดยราคาประมูลที่สูงขึ้นมากเกิดจากการที่มีผู้เล่นรายใหม่อย่าง JAS ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจการให้บริการมือถือด้วย เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมที่เป็น BROADBAND INTERNET และ WIFI ธุรกิจจะได้ครบถ้วนแข่งขันกับ TRUE และ AIS ที่มี 2 ธุรกิจนี้เช่นกันได้ และแนวโน้มการใช้งานในอนาคตของคนรุ่นปัจจุบันมีการใช้งานจาก MOBILE  มากขึ้นเรื่อยๆ จากราคาของ SMART PHONE ที่ถูกลงเรื่อยๆ โดยมีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูง โดยปัจจุบันมือถือเครื่องเล็กๆสามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้น้องๆ NOTEBOOK เลยทีเดียว บวกกับชีวิตที่เร่งรัด และการชอบใช้ SOCIAL MEDIA ของคนไทยอย่างมากจนเราติดอันดับผู้ใช้ FACEBOOK  INSTAGRAM และLINE ในระดับโลกเลยทีเดียว ปริมาณการใช้ DATA ผ่านมือถือมีอัตราเติบโตอย่างน่าตกใจมาโดยตลอด และยังมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากความต้องการคุณภาพของภาพโดยเฉพาะ VDO ที่มีความละเอียดสูงขึ้นทำให้ 4G ช่วยตอบโจทย์เหล่านี้ได้ดีขึ้น
            ผู้เล่นหลักรายเดิม 3 ราย คือ AIS DTAC และTRUE โดยเฉพาะรายที่ 1 และ 3 จึงได้แข่งขันประมูลราคาจนไปแตะระดับ 40,000 ล้าน เพื่อกีดกันผู้เล่นรายใหม่อย่าง JAS โดย DTAC ถอดใจตั้งแต่ราคา 10,504 ล้านบาท ในขณะที่ JAS สู้ยิบตาจนถึง 38,996 ล้านบาท (โดยAISเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดที่ 41,625 ล้านบาท) ส่วนการประมูลคลื่น 900MHz ที่เพิ่งจะจบไปเมื่อเร็วๆนี้ ได้สร้างสถิติใหม่ของการประมูล คือใช้เวลาประมูลยาวนานถึง 66 ชม. ทำเอาประมูลคลื่น 1,800 MHz เมื่อเดือน พฤษจิกายนที่ว่านานถึง 33 ชม ชิดซ้ายไปเลย โดยคลื่น 900 MHz นี้มีอายุของใบประมูลเพียง 15 ปี และมีขนาดของคลื่นใบละ 10 MHz เท่านั้น โดยใบแรกจะใช้งานได้ไม่เต็ม 10MHz(ใช้ได้จริงประมาณ 7.50 MHZ) โดยผู้ชนะคือ JAS คว้าใบอนุญาตแรกที่ 75,654 ล้านบาท (เฉลี่ยค่าใบอนุญาตปีละ 5,046.60 ล้านบาท) ในขณะที่ TRUE คว้าใบอนุญาติที่สองไปที่ 76,298 ล้านบาท (เฉลี่ยค่าใบอนุญาตปีละ 5,086.56 ล้านบาท) ถ้าคิดต่อ MHz แล้ว JAS ประมูลแพงกว่า TRUE เสียอีก รวม 2 ใบทำรายได้เข้ารัฐไป 151,952 ล้านบาท และเมื่อรวมใบอนุญาตคลื่น 1,800 ที่ประมูลไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนอีก 2 ใบ จะเป็นรายได้เข้ารัฐทั้งสิ้น 232,730 ล้านบาท นับว่าน่าอัศจรรย์จริงๆ กับการประมูลของคลื่นที่จับต้องไม่ได้ แต่สามารถทำให้รัฐมีรายได้มากขนาดนี้ เอาไปทำรถไฟฟ้าได้ถึง 3 สายเลยทีเดียว หวังว่ารัฐคงจะนำเม็ดเงินนี้ไปใช้จ่ายได้อย่างคุ้มค่า ไม่นำไปตำน้ำพริกละลายน้ำ ควรจะใช้ในโครงการที่สร้างสาธารณุปโภคเพื่อความสะดวกสะบายของประชาชนและนักลงทุน
            จากผลลัพธ์ที่ได้จากการประมูลครั้งนี้ ควรจะชี้ทางสว่างให้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆที่ควรจะจัดให้มีการประมูลในโครงการที่มีมุลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ใจจริงอยากให้เป็นตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ต้องมีการจัดการประมูลในลัษณะแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการใหญ่ๆ แบบรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ฯลฯ ที่เราจะมีการจัดการประมูลในปีหน้า ถ้าทำให้โปร่งใสแบบที่ กสทช. ทำในคราวนี้ และเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถเข้าประมูลได้อย่างเต็มที่จะทำให้ราคาของแต่ละโครงการของรัฐจะมีราคาที่ถูกลง ซึ่งเรากำลังจะมีโครงการมากมายในปีหน้าด้วย ควรจะประหยัดเงินรัฐไปได้อีกโข และจะทำให้ประเทศไทยในสายตาของชาวโลกเป็นประเทศที่มีการแข่งขันแบบยุติธรรม จะทำให้เมื่อจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยก็จะมีการไต่อันดับที่สูงขึ้น ประชาชนก็จะมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ต้นทุนสินค้าและบริการจะถูกลงจากการแข่งขันอย่างเสรี ไม่ใช่การฮั้ววราคาแบบในอดีต ทำให้แต่ละโครงการของรัฐแทนที่จะราคาถูกกลับกลายเป็นแพง เพราะว่ารายใหญ่ไม่กี่รายฮั้วราคากัน
            กลับมาที่การแข่งขันในธุรกิจการให้บริการมือถือ คงจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีรายใหม่เข้ามา อย่างไรก็ตามการรับน้องใหม่โดยแข่งขันประมูลบ้าเลือดไปถึงระดับราคาที่สูงปรี้ดขนาดนั้น คงทำให้ต้นทุนค้ำคอ JAS ที่เริ่มจากศุนย์และยังต้องเตรียมเงินสำหรับสร้างเครือข่าย น่าจะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากแบบที่คนในตลาดหุ้นเกรงกัน อนึ่งตัวผู้บริหาร JAS ย่อมซาบซึ่งดีกว่าเพื่อนในกรณี TT&T ที่ประมูล FIXED LINE (โทรศัพท์พื้นฐานในอดีต)  แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร อย่างที่เราเห็นๆกัน แต่บอกได้คำเดียวว่า งานนี้ JAS เหนื่อยสุดครับ


กิติชัย เตชะงามเลิศ
        24/12/58



ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 หรือ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B8หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน 
ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที


วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน



                                           


                                           บรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน
            เมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวเรื่องการใช้ข้อมูลภายในของผู้บริหารชั้นสูงของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในกลุ่ม COMMERCE ที่ประกอบกิจการร้าน CONVENIENCE STORE ใช่แล้วครับผมกำลังพูดถึง CPALL บริษัทที่เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนทั้งสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งนักลงทุนที่เน้นคุณค่า ชอบบริษัทที่มีการเจริญเติบโตสูง และนักเก็งกำไรทั่วไป นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวโทษผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่เช่นนี้ของตลาดหลักทรัพย์และกลต. เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่แสดงว่าไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ถ้าผู้บริหารไม่มีบรรษัทภิบาลที่ดี ก็จะถูกกล่าวโทษอย่างเช่น CPALL คงจะทำให้เป็นที่หลาบจำและเกรงกลัวต่อผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ให้มิกล้าที่จะประพฤติตนไม่อยู่กับร่องกับรอยต่อไปในอนาคต
            อนึ่งการที่ผู้บริหารได้ออกมาโต้แย้งว่า ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปเป็นการใช้ข้อมูลภายในจึงได้กระทำการดังกล่าวไป ก็อาจจะเป็นไปได้ตามที่ผู้บริหารท่านนั้นได้แย้งไว้ เพราะว่าบางท่านก็ใช้บัญชีของตนเองในการซื้อขายหุ้น MAKRO โดยไม่ได้ใช้บัญชี NOMINEE ในการซื้อขาย อย่างไรก็ตามเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าขนาดผู้บริการระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เช่น CPALL ยังไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการเป็น INSIDER TRADING เยี่ยงนี้แล้ว ผู้บริหารระดับกลางหรือผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆจะมีจิตสำนึก หรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเป็นบริษัทภิบาลที่ดีต้องประพฤติตนอย่างไร
            จริงๆแล้วเรามีสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของกรรมการ และส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 กลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง 2 ปี หรือรวมแล้วตั้งขึ้นมา16 ปีแล้ว โดย IOD เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และก่อตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนนั่นคือ กลต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธปท. มุลนิธิกองทุนพัฒนาระบบตลาดทุน และ WORLD BANK โดยมีกิจกรรมหลักๆ 4 ประเภทคือ
1.        พัฒนาความรู้และทักษะต่างๆเพื่อเพิ่มตามความสามารถของกรรมการ
2.        กระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของกรรมการด้านการปรึกษา และแลกเปลี่ยนความคิด
3.        ส่งเสริมสัมพันธภาพและเครือข่ายระหว่างสมาชิกในการแลกเปลี่ยนทักษะความรู้และประสบการณ์
4.        สำรวจและค้นคว้าประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ การเป็นกรรมการบริษัทภิบาล และเผยแพร่สู่สมาชิกเพื่อเป็นการหาแนวทางในการพัฒนาประกอบกิจการที่ดีในองค์กรอย่างต่อเนื่อง
           ผมไม่แน่ใจว่าการเป็นกรรมการและหรือผู้บริหารระดับสูงในบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาด MAI จะต้องเข้ารับการอบรมจากสถาบัน IOD หรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นต้องเข้ารับการอบรม ผมอยากจะเสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ และกลต. ออกกฎให้ผู้บริหารและหรือกรรมการจะต้องเข้ารับการอบรม และผ่านการทดสอบจากสถาบัน IOD จะให้ดียิ่งขึ้น น่าจะมีการกำหนดให้เข้าทดสอบทุกๆ 2 ปี เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ทราบว่าการกระทำอะไรที่ไม่ใช่เป็นบรรษัทภิบาลที่ดี แล้วกรณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทำนองนี้ก็จะลดลง เพราะว่า พฤติกรรมทำนองนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อนักลงทุนที่ลงทุนในกิจการของบริษัทที่มีพฤติกรรมดังกล่าว
           กลับมาดูที่ CPALL หลังจากเกิดเหตุการณ์ ตัวแทนของผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ออกมายืนยัน ตามที่ผู้บริหารระดับสูงได้ชี้แจง และยืนยันว่าจะไม่ปลดผู้บริหารเหล่านั้น เรื่องนี้ก็พอเข้าใจกันได้ เพราะผู้บริหารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีฝีมือในการบริการองค์กรให้เจริญก้าวหน้าอย่างที่เราได้เห็นกัน และอยู่ด้วยกันมานาน แต่ข่าวนี้ทำให้นักลงทุนทั้งสถาบันภายใน และต่างประเทศ รวมทั้งนักลงทุน VI และนักเก็งกำไรแย่งกันขาย CPALL หนีตายกันโกลาหล ราคา CPALL ที่เคยอยู่แถวๆ 50 บาท ก็ไหลลงมาแตะจุดต่ำสุดที่ 40 บาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทำให้ MARKET CAP. จากประมาณ 450,000 ล้านบาท ลดลงไปเหลือเพียงแระมาณ 360,000 ล้านบาท เท่ากับว่าหายไปถึง 90,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ผู้บริหารได้จากการกระทำดังกล่าวที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทแล้ว ทั้งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนทั่วไปที่ลงทุนใน CPALL คงทำใจได้ยากจริงๆ นับว่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับตัวบริษัท และคงเป็นอุทาหรณ์เตือนใจทั้งกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจะต้องระมัดระวังการกระทำต่างๆที่เข้าข่ายไม่เป็นบรรษัทภิบาลที่ดี โดยส่วนตัวผมเห็นใจผู้บริหาร CPALL และเชื่อว่าท่านคงไม่มีเจตนาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะเห็นบทลงโทษที่หนักกว่านี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหานทำนองนี้อีกในอนาคต


กิติชัย เตชะงามเลิศ
        16/12/58



ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 หรือ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B8หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน 
ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที