จริงๆแล้วฉบับนี้ผมตั้งใจจะเขียนเรื่อง
การกระจายการลงทุน ( Asset
Allocation ) แต่บังเอิญ
ข่าวเรื่องนโยบายดอกเบี้ยที่ทางรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเห็นตรงกันข้าม
และเป็นประเต็นร้อนในขณะนี้ ผมเองก็ได้รับความเมตตาจากท่าน ไชยา พรหมา
ซึ่งท่านเป็นประธานคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน
ให้ผมได้เข้าไปรับใช้เป็นที่ปรึกษาของท่านเมื่อปีที่ผ่านมา
และทางคณะกรรมาธิการชุดนี้ ได้เชิญผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และสำนักงาน
กลต. เข้ามาพบและปรึกษาหารือกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
มีความเห็นที่สอดคล้องและขัดแย้งกันก็หลายเรื่อง และนโยบายดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง
จึงยังไม่สามารถที่จะหาบทสรุปได้ จึงมีการนัดประชุมกันต่ออีกในวันที่ 14
กุมภาพันธ์ แหมช่างบังเอิญตรงกับวันแห่งความรัก (วันวาเลนไทน์)
บรรยากาศวันนั้นคงจะหาข้อสรุปกันได้สักที ผมได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในทีมงาน
ทำข้อเสนอแนะให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ย
ซึ่งผมมีความเห็นดังนี้ คือ
1)
เราควรจะดูตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งท่านชินโสะ อาเบะ ที่เพิ่งได้รับชัยชนะในการคัดเลือกเป็นประธานพรรค LDP
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และได้นำพรรค LDP ชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อ 26 ธันวาคม และพอเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้ประกาศว่า
จะมีนโยบายให้ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) มีมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน
ถ้าผู้ว่า BOJ ไม่ยอมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลก็จะเปลี่ยนตัวผู้ว่า
ในที่สุดนาย มาซากิ ชิรากาวา (ผู้ว่า BOJ)
ประกาศที่จะลาออกภายในเดือนเมษายนนี้ซึ่งเป็นการลาออกก่อนครบกำหนด
ตามธรรมชาติของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำอะไรก็จะคิดถึงความผาสุกของประชาชนมาก่อน
ญี่ปุ่นอยู่ในสถานภาพที่ไม่เติบโตมา 2 ทศวรรษแล้ว หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Two
Lost Decades เกิดภาวะ Deflation ติดต่อกันมายาวนานมาก
นายกคนใหม่ของญี่ปุ่นจึงมีนโยบายที่จะทำให้ญี่ปุ่นมี Inflation มากขึ้นโดยการผ่อนคลายทางการเงิน
ซึ่งมาตรการก็คล้ายๆกับ QE ของ FED ซึ่งจะมีการเพิ่มสภาพคล่องโดยการพิมพ์
เงินเยน ออกมาในตลาดในปริมาณมาก ทุกเดือนโดยไม่มีขีดจำกัดทางด้านเวลา
2)
ผมคาดว่า
ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะปัดว่า นโยบายดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของ
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่เรามาดูสิครับว่าคณะกรรมการ กนง. มีทั้งหมด 7
ท่าน 3 ท่านในนั้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. เกือบครึ่งเข้าไปแล้ว
3)
ถ้าทางธนาคารแห่งประเทศไทย
กลัวว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ผมขอเสนอว่า ธปท.
ควรจะใช้เครื่องมือ LTV (Loan To Value)
ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งปัจจุบัน ธปท. กำหนด LTV สำหรับคอนโดมิเนียม
ที่ 90% หมายความว่า ผู้กู้ซื้อคอนโดจากธนาคาร จะกู้ได้ 90% แต่ทางธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้เกินกว่านี้
ทางธนาคารจะต้องตั้งสำรองสูงขึ้นและค่า LTV
สำหรับอสังหาแนวราบที่ 95% ทาง ธปท. ควรจะกำหนดค่า LTV เสียใหม่
เช่น กู้ซื้อคอนโดใช้ LTV 70%
นั่นหมายถึงนักเก็งกำไรที่จะซื้อคอนโด จะต้องใช้เงินตัวเอง 30%
ก็เป็นการกำหราบการเก็งกำไรได้ผลชะงัดทีเดียว
4) หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและอัตราหนี้เสียในภาคครัวเรือนก็สูงขึ้นซึ่ง
ธปท.กำลังกังวลอยู่นี้ ผมขอเสนอให้ ธปท. ออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์
ต้องตั้งสำรองในส่วนที่ปล่อยหนี้ภาคครัวเรือนในอัตราที่สูงขึ้น
ซึ่งก็จะเป็นการจำกัดความสามารถในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้ให้ลดลง
แล้วยังทำให้ธนาคารพาณิชย์ มีการคัดเลือกลูกค้าสินเชื่อมากขึ้น
ภาวะหนี้เสียก็จะลดลง นอกจากนี้ ธปท. อาจจะกำหนดให้อัตราส่วน
สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ปล่อยต่อ
สินเชื่อรวมทั้งหมดของธนาคารให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม
ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของ ธปท. ที่สามารถทำได้
5)
การที่จะลดดอกเบี้ยควรจะลด 0.50% ในครั้งเดียวซึ่งผมอยากให้เป็นครั้งที่จะถึงนี้
(ประชุม กนง วันที่20 กุมภาพันธ์) ซึ่งจะมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าลดครั้งละ
0.25% 2 ครั้ง ซึ่งถ้าลด 0.50% ครั้งเดียวจะเป็นการลดแรงจูงใจของเงินร้อนที่กำลังไหลเข้ามาท่วมประเทศไทย
ซึ่งทำให้ค่าเงินบาท เราแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี
และแข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งสินค้าออกของเรา ผู้ส่งออกไทยกำลังเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง
การลดดอกเบี้ยจะได้ประโยชน์หลายสถาน คือ
5.1) ลดเงินร้อนจากต่างประเทศ
ซึ่งเป็นต้นเหตุของการแข็งค่าของเงินบาท
5.2) ลดความเดือดร้อนของผู้ส่งออก
5.3) ลดภาระ ธปท.
เองในการประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยในการออกพันธบัตร มาดูดสภาพคล่องกลับไปเดิม ธปท.
ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง แล้วนำเงินไปซื้อพันธบัตรของสหรัฐ
โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก
5.4) นักธุรกิจในไทย
ก็จะมีต้นทุนดอกเบี้ยลดลง ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
5.5) ภาวะการลงทุน
การขยายกิจการก็จะมีมากขึ้น การจ้างงานก็จะดีขึ้น
ถึงแม้ปัจจุบันอัตราการว่างงานของไทยจะต่ำมากก็ตาม ก็จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น
ประชากรก็จะมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ความวุ่นวาย ความแตกแยกทางสังคมก็จะลดลง
ถ้า ธปท. ยอมลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ก็อาจจะพูดสำทับไปด้วยว่า
ถ้ายังมีเงินร้อนไหลเข้ามามากอีก การพิจราณาลดดอกเบี้ยและมาตรการอื่นๆ
ที่จำเป็นอาจจะมีการพิจารณาเพิ่มเติม เท่านี้นักเก็งกำไร ก็กลัวหัวหดกันแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ธปท. น่าจะทำ
Scenario ของค่าเงินบาทต่อ US Dollar
โดยเปรียบเทียบกับ ค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน แล้วดูว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสม
ควรจะอยู่ที่จุดใด แล้วทาง ธปท. ก็ใช้ระบบ Manage Float ดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนกว่าค่าเงินที่คำนวณได้เล็กน้อย
ประมาณ 3% ซึ่งก็จะทำให้ ความสามารถในการแข่งขัน
ของผู้ส่งออกในประเทศมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกจากประเทศเพื่อนบ้าน
ผมมองว่ารัฐบาล
ธปท.และหน่วยงานอื่น ๆ เปรียบเสมือนผู้เล่นในวงซิมโฟนี่ ออเครสต้า วงเดียวกัน
ถ้าไม่เล่นเพลงด้วยโน๊ตดนตรีเดียวกัน เพลงจะออกมาไพเราะได้ฉันใด
การที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ ธปท. คอยกระตุกขาอยู่อย่างนี้
เหมือนคนหนึ่งกำลังเร่งคันเร่งรถ อีกคนคอยเหยียบเบรค
แล้วรถจะวิ่งได้อย่างไรฉันนั้น
หมายเหตุ
: บทความนี้เป็นเพียงความเห็นของข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการ
การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราฎร ที่ข้าพเจ้าสังกัดอยู่
ติดตามแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
https://www.facebook.com/VI.Kitichai , http://twitter.com/value_talk , http://www.youtube.com/user/wittayu9 และ http://kitichai1.blogspot.com
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หรือหน้า B10 และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Stock Review, Me(Market Evolution), Glow และ Lisa ทุกเดือน
สนใจซื้ออสังหาเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ลองเข้า http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty
กิติชัย เตชะงามเลิศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น