ธุรกิจ
Health
care ดีจริงหรือ? (ตอนที่ 1)
จากวิทยาการที่ก้าวหน้าในหลายๆ
ด้านในปัจจุบัน รวมถึงธุรกิจ Health care และความรู้ที่ประชากรโลกมีต่อโรคภัยไข้เจ็บ
และโภชนาการที่ดีขึ้น ทำให้อายุขัยของคนในยุคปัจจุบันยืนยาวขึ้น
ทำให้ประชากรทั่วโลกที่กำลังเข้าสู่วัยชรามีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ
โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 เท่าในทุกๆ 50 ปี โดยคาดว่าจะมีจำนวนถึง 2,000 ล้านคนในปี พ.ศ. 2593
หรืออีก 36 ปีข้างหน้า
จากปัจจุบันที่มีประชากรประมาณ 800 ล้านคนที่มีอายุ 60
ปี หรือคิดเป็น 11% ของประชากรโลกที่มีอยู่มากกว่า
7,250 ล้านคน
โดยมีประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดคือ 1,394 ล้านกว่าคน
ตามมาติดๆ คือ อินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 1,268 ล้านคน
คาดว่าอีกไม่กี่ปี อินเดียจะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก
จากอัตราการเพิ่ม (เกิดใหม่-ตายไป) สูงกว่าของประเทศจีน
ที่มีอัตราการเกิดต่ำ จากนโยบายลูกคนเดียว แต่ความที่คนจีนมีอายุยืนมากขึ้น
ปัจจุบันคนจีนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมี 129 ล้านคนคิดเป็น 9.60% ของประชากร ทำให้สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของคนจีนสูง
รัฐบาลจีนเริ่มตระหนักถึงปัญหาข้อนี้อยู่เข่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากธนาคารซิตี้แบงค์ เข้าฟัง Dinner talk มีหัวข้อหนึ่งในสัมมนาที่น่าสนใจคือ ธุรกิจ Health care โดยมีผู้บริหารจาก บลจ.กรุงศรีอยุธยาเป็นวิทยากร รู้สึกได้ความรู้มากมาย
จึงอยากนำเนื้อหาบางส่วนมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่าน ระหว่างที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ผมได้เข้า
www.worldometers.info/world-population/ นั่งดูตัวเลขแล้วเพลินดี
เพราะว่าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกเสี้ยววินาทีแบบ Real time เลยทีเดียวอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเว็บไซต์นี้ถึงได้รู้ดี และ Update
ได้แบบนี้
ผมคาดว่าน่าจะเป็นการคาดการณ์ว่ามีเด็กเกิดใหม่ในปีนี้กี่คนแล้วก็มาหารเฉลี่ยต่อวินาทีกระมัง
อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุอยู่ที่ 1.90%
ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากรรวมเพียง 1.20% นี่คือเหตุผลที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในโลกนี้มีมากขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกเท่ากับ
73.70 ปีในปี พ.ศ. 2560 จากเดิม 72.60
ปีเมื่อปี พ.ศ.2555 เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น
ความต้องการในด้าน Health care ก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน
ปัจจุบันยุโรปเป็นทวีปที่มีอัตราส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก คาดว่า 37% ของประชากรทั้งหมดจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2593
ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ
ในเชียที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบคือมีประชากรถึง 1 ใน 4 ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปและคาดว่าจะมีจำนวนถึง
35 ล้านคนในปี พ.ศ. 2568 จากโครงสร้างของประชากรแบบนี้บางประเทศในยุโรป
เช่น เยอรมัน ก็มีการเกษียณงานตอนอายุ 65 ปี มากขึ้น
ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าทำแบบสมัครใจ เพราะว่าบางท่านอาจจะยังอยากทำงานต่อ
กลัวว่าหลังเกษียณแล้วจะเหงา ในขณะที่บางท่านก็รอวันเกษียณ เพื่อจะได้ไปเที่ยว
หรือพักผ่อนเสียที อย่างน้อยวิธีนี้ก็เป็นวิธีทำให้ปริมาณคนในวัยทำงาน ไม่ลดลง
ซึ่งมีผลต่อปริมาณผลิตผลของชาติ
ซึ่งแน่นอนกระทบกับอัตราการเจริญเติบโตของประเทศหรือ GDP นั่นเอง
ส่วนญี่ปุ่นเอง รัฐบาลเคยมีความคิดที่จะมีการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานที่มีคุณภาพ
แต่ด้วยความที่เป็นเชื้อชาตินิยมอย่างแรงกล้า
ไม่อยากให้มีสายเลือดจากชนชาติอื่นมาปะปน จึงต้องพับเก็บความคิดนี้ไว้
นอกจากประเทศพัฒนาแล้ว
มีการคาดว่าประเทศเกิดใหม่ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย
และแม็กซิโกจะมีการใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีก 5
ปีข้างหน้า จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น
พร้อมกับรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้น เมื่อปี 2548 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทั้งโลกอยู่ที่
605,000 ล้าน$ โดยมีสหรัฐเป็นชาติที่มีสัดส่วนมากสุดคือ
41% แคนาดา 2 % ยุโรป 27% ญี่ปุ่น 11% ที่เหลืออีก 19% เป็นประเทศ
Emerging และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แต่ปีหน้า (พ.ศ.2558)
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทั้งโลกคาดว่าจะขึ้นไปถึง 1,100,000 ล้าน$ (นับตัวเลขไม่ถูกเลย) หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 82%
ภายในเวลา 10 ปีเท่านั้น โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายจะเริ่มมีการผ่องถ่ายไปยังประเทศ
Emerging มากขึ้น คือ สหรัฐจะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 31% ยุโรปเหลือ 19% ญี่ปุ่นยังคง 11% แคนาดา 2% ที่เหลืออีก 29% เป็นประเทศ
Emerging และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
กำลังสนุกอยู่เลย
แต่เนื้อที่หมดขอยกยอดไปต่อตอนที่ 2 ในสัปดาห์หน้าแต่ขอเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังในการลงทุนในช่วงนี้
ตลาดหุ้นจะยื้อได้คงถึงแต่กลางเดือนสิงหาคม หลังผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนประกาศหมด แต่ทางเทคนิค Indicator หลายตัวเริ่มส่งสัญญานขาย รวมทั้งเป็น Bearish Divergence ระหว่าง SET INDEX กับ RSI มา 3-4
ครั้งแล้ว หรือตลาดจะลงก่อนก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับ
กิติชัย เตชะงามเลิศ
30/07/57
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty