จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธปท. –กนง. (ตอนที่ 1)


                                                ธปท. –กนง. (ตอนที่ 1)

            ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ต่างก็เป็นหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบุคลากรที่ทรงคุณวุฒิ และความน่าเชื่อถือมาแต่ไหนแต่ไร
            หลังจากที่ประเทศไทยมีสัมพันธไมตรี และติดต่อค้าขายกับต่างชาติโดยเฉพาะพวกตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 ได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนมาสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทางคณะราษฎร์โดย นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ได้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดตั้งธนาคารชาติ  เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง  พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎร ต่อมา พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นาย ปรีดีจึงได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น โดยได้มอบหมายให้พระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง รับผิดชอบในการร่างกฎหมายธนาคาร จนในที่สุด พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยก็ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2482 โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำหน้าที่เกี่ยวกับธุรกิจธนาคารกลาง และบริหารเงินกู้ของรัฐบาล โดยสำนักงานธนาคารชาติไทยได้เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2483 และได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ซึ่งเป็นวันชาติไทยในสมัยนั้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนฐานะของสำนักงานชาติไทยให้เป็นธนาคารกลาง โดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2485 และได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 ซึ่งเป็นวันที่ 10 ธันวาคม 2485 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ  โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เริ่มดำเนินการ ณ อาคารที่ทำการเดิมของธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยา โดยมีพระองค์เจ้า วิวัฒนไชย ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการพระองค์แรก ต่อมาจึงได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ วังบางขุนพรหม ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2488
            บทบาทหน้าที่ของ ธปท.ตามพรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 มีดังนี้
1.        ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาล และบัตรธนาคาร
2.        กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
3.        บริหารจัดการสินทรัพย์ของธปท.
4.        เป็นนายธนาคาร และนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
5.        เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
6.        จัดตั้งหรือสนับสนุนระบบชำระเงิน
7.        กำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงิน
8.        บริการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งบริการจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
9.        ควบคุมการแลกเปลี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน
โดยประเทศไทยมีผู้ว่าการ ธปท.รวมแล้ว 21 ท่าน โดยมี พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และนาย เล้ง ศรีสมวงค์ ที่ดำรงตำแหน่งท่านละ 2 สมัย แต่ละสมัยไม่ติดกัน ผู้ว่า ธปท.คนล่าสุดคือ  นายวิรไท สันติประภพ ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 แทนนายประสาร ไตรรัตน์วรกุลที่ได้หมดวาระลง คณะกรรมการ ธปท. ปัจจุบันมีจำนวน 12 ท่าน โดยมี นายอำพน กิตติอำพน เป็นประธานคณะกรรมการ และนายวิรไท สันติประภพ เป็นรองประธานกรรมการ
            คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) (กนง.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธปท. ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท.อย่างใกล้ชิด ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้การกำหนดทิศทางและนโยบายการเงิน กนง.จะพิจารณาจากข้อมูลต่างๆที่ ธปท.นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจึงนำไปพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางนโยบานการเงินต่อไป โดยกนง.ที่คณะกรรมการธปท.แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 ท่าน โดยมีผู้ว่าการ ธปท.เป็นประธาน และมีรองผู้ว่าการธปท.อีก 2 ท่าน ร่วมเป็นคณะกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้
            อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน
1.        กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรฐกิจ และการเงินของประเทศ
2.        กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยเงินตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
3.        กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามนโยบายข้อ 1.และ 2.
4.        ติดตามการดำเนินงานของ ธปท.ตามข้อ 3. ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพโดยจะมีการจัดประชุมทุก 6 สัปดาห์โดยประมาน(ปีละ 8 ครั้ง) เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะมีผลกระทบต่อแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม (ที่มา : เว็บไซด์ของ ธปท.) บทความหน้าเราจะมาดูผลงานของธปท.ที่ผ่านมาว่า เป็นอย่างไรกันครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
        11/11/58




ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 หรือ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B8หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน 
ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที 
หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น