ถึงเวลาต้องปฏิรูปภาษีแล้ว
สัปดาห์นี้คราวแรกว่าจะมาเขียนถึงเรื่องธุรกิจ
Health
care ดีจริงหรือ ตอนที่ 2 แต่เห็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องการรีดภาษีของหน่วยงานต่างๆ
ของกระทรวงการคลัง แล้วผมอยากจะแสดงความเห็นบ้าง จึงต้องขอยกยอดเรื่อง Health
care ไปเป็นสัปดาห์หน้า ผมขออนุญาตสรุปคร่าวๆ
ว่าจะมีการถอนขนห่านรีดภาษีครั้งใหญ่อะไรบ้าง
(1) กรมสรรพากร
มีแนวโน้มจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% ซึ่งคาดว่าสามารถเรียกเก็บภาษีได้เพิ่มปีละ
1.5 แสนล้านบาท
(2) กรมสรรพากรเรียกบริษัทตรวจสอบบัญชีมากำชับให้ทำบัญชีให้ถูกต้อง
และขอความร่วมมือให้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 20% และกำลังขออำนาจให้พนักงานสอบสวนกรณีทุจริตภาษีสามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องส่งเรื่องฟ้องศาลและขออำนาจศาล
หรือขออำนาจ ปปง. ในการอายัดทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้องในการทุจริต
(3) กำลังแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเสียภาษีของคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
โดยจะบังคับให้ลงรายได้เป็นรายได้บุคคลด้วย แม้จะลงเป็นรายได้คณะบุคคลแล้วก็ตาม
(4) กรมสรรพสามิตเตรียมที่จะเรียกเก็บภาษีน้ำมันดีเซลเป็น
5.31 บาท/ลิตร
คาดว่าจะได้ภาษีเพิ่มปีละ 1 แสนล้านบาท
(5) กรมสรรพสามิตจะเรียกเก็บภาษีชาเขียว
กาแฟ เครื่องดื่มผสมน้ำตาล โดยถือว่าเป็นเครื่องดื่มทำลายสุขภาพ คาดว่าจะอยู่ที่ 10-20%
ของมูลค่า
ซึ่งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมชาเขียวบางรายได้ออกมาเรียกร้องให้กรมสรรพสามิต ถ้าจะมีการจัดเก็บ
ก็ขอให้เก็บภาษีตามบัญชีแนบท้ายทั้ง 111 รายการ
ไม่ควรเรียกเก็บเฉพาะรายการใดรายการหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
เนื่องจากเป็นสินค้าที่พอจะทดแทนกันได้
(6) กรมสรรพามิตจะเรียกเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม
กับธุรกิจที่ทำให้เกิดมลพิษต่างๆ
(7) กระทรวงการคลัง
มีแนวคิดที่จะลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI เพราะว่าได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาที่
20% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเป็นอันดับสองใน ASEAN รองจากสิงคโปร์เท่านั้น จึงมีหลายๆ ธุรกิจที่รีบมาขอ BOI เพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเดิมที่สูง เราจึงเห็นตัวเลขของ BOI ที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
(8) กระทรวงการคลังจะมีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ
คือ ภาษีมรดก และภาษีที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชน
สร้างความเป็นธรรมและสร้างรายได้ให้แก่รัฐ
ในด้านภาษีมรดก
ยังมีปัญหาว่าจะเรียกเก็บทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศได้อย่างไร
เพราะเป็นการยากที่จะเข้าไปตรวจสอบ
ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทางกระทรวงการคลังต้องการใช้ทดแทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน
ที่จัดเก็บได้น้อย และมีความเหลื่อมล้ำ โดยภาษีตัวใหม่จะใช้ราคาประเมินของกรมธนรักษ์
ซึ่งต้องติดตามว่าในที่สุดจะคลอดได้หรือไม่และถ้าคลอดอัตราภาษีที่ใช้สำหรับเพื่อการพาณิชย์
เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อการเกษตรและที่ดินรกร้าง จะเป็นอย่างไร
อันที่จริง
ผมว่ากรมสรรากรควรจะเรียกเก็บภาษีกับกลุ่มฐานรายได้อื่นๆ เช่น กลุ่มรถเข็นแผงลอย
ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เอาเปรียบสังคมในทุกๆ ด้าน
ไม่ว่าเบียดเบียนพื้นที่บาทวิถี วางขายของตามอำเภอใจ
จนแทบจะไม่เหลือทางเดินให้คนเดินถนนเลย
ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมถึงได้มีการปล่อยปละละเลยกันได้ถึงเพียงนี้
โดยเฉพาะยามค่ำคืนบริเวณสยามสแควร์ด้านติดถนนพระราม 1
หรือบริเวณแยกอโศก-สุขุมวิทตรงปากซอยคาวบอย
ซึ่งเปิดเป็นบาร์เบียร์โจ่งครึ่มถึงตี 2 ตี 3 เปิดเพลงเสียงดัง มอเตอร์ไซต์จอดบนฟุตบาทจนแทบไม่เหลือทางเดินรถ Taxi
จอดซ้อนคัน ทำให้จราจรย่านอโศกแม้จะเป็นยามค่ำคืน ก็ยังติดขัด ผมมีคำถามที่อยากให้กทม.ตอบ
ว่าทำไมบน Sky walk และบริเวณนอกชานชาลาของสถานีรถไฟฟ้า BTS
ถึงไม่มีหาบเร่แผงลอย ผมเคยสังเกตเห็นหลายครั้งว่าเมื่อจะมีพ่อค้าแม่ค้าแอบเอาของมาขายก็จะถูกเจ้าหน้าที่รปภ.เข้ามาห้ามขายทันที
แต่ทำไมเทศกิจจึงได้ปล่อยปละละเลยได้ขนาดนี้ครับ หรือว่ามีผลประโยชน์จากส่วยบังตา
แล้วพอพวกพ่อค้าเหล่านี้ขายต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ก็มีความรู้สึกว่าบาทวิถีเป็นที่ทำกินของตน ไม่มีความคิดเลยว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
หลายๆ รายมียอดขายในแต่ละวันไม่ใช่น้อย ผมขอยกตัวอย่างรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 40-50
บาทในวันหนึ่งๆ ขายได้ประมาณ 100-200 ชามลองตีซะว่าวันละ
150 ชาม ราคาเฉลี่ยชามละ 45 บาท
นั่นหมายถึงยอดขายตกวันละ 6,750 บาท หยุดขายทุกวันจันทร์
ดังนั้นปีหนึ่งๆ คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 2 ล้านบาท
ซึ่งสมควรจะต้องเสียภาษี แต่ก็ไม่เคยเสียภาษีเลย ในขณะที่คนกินเงินเดือนมากกว่า
15,000 บาทปีหนึ่งรายได้เกิน 180,000 บาทต้องเริ่มเสียภาษีแล้ว
กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ทั่วประเทศไทยมีจำนวนเท่าไหร่ ผมไม่มีตัวเลขที่แน่นอน
ถ้าทางสรรพากรจับกลุ่มรถเข็นแผงลอยเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนให้หมดและเรียกเก็บภาษี
ก็น่าจะช่วยกระทรวงการคลังในยามที่ชักหน้าไม่ถึงหลังได้บ้างไม่มากก็น้อย
และอยากให้ทางกทม.ช่วยจัดโซนให้กลุ่มแม่ค้าเหล่านี้
และไม่อนุญาตโดยเด็ดขาดในการขายของบนบาทวิถี
แบบที่ประเทศสิงคโปร์เขาจัดการระเบียบที่บ้านเมืองของเขา อยากฝากให้กทม.ขอให้ทาง
คสช. ช่วยร่วมดำเนินการปฏิรูปการใช้พื้นที่บาทวิถีให้ถูกต้อง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าบาทวิถีซึ่งหมายถึงเป็นพื้นที่สำหรับใช้เดิน
ถ้าทางคสช.และกทม.ร่วมกันทำได้สำเร็จ ท่านจะซึ้อใจคน กทม. และคนหัวเมืองใหญ่ๆ
ได้อย่างเต็มที่
กลับมาที่ตลาดหุ้นจากบทความฉบับที่แล้วที่ผมเตือนย้ำว่าตลาดใกล้มีการปรับตัวลงแล้ว
ในที่สุดตลาดหุ้นก็ไปทำ High ที่ 1,548 จุด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ไม่ถึง 1,550 จุดตามที่ผมทำนายเอาไว้ แล้วลงมาทำ Low เมื่อวันที่ 1
สิงหาคมที่ 1,487 จุด แล้วมีการ Rebound
ขึ้นมา
ผมยังมั่นใจว่าตลาดยังอยู่ในช่วงการปรับตัวลงโดยตลาดน่าจะมีการปรับตัวลงจากจุดสูงสุดประมาณ
100 จุดบวกลบโดยมีแนวรับที่แข็งแกร่งบริเวณ 1,420-1,450
จุด ใจเย็นๆ รอให้ตลาดปรับตัวลงมาบริเวณดังกล่าว
แล้วค่อยเลือกซื้อหุ้นน่าจะเป็นกลยุทธที่ดีครับ
กิติชัย เตชะงามเลิศ
06/08/57
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น