จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

ประสบการณ์ในการลงทุนอสังหาของผม (ตอนที่ 2)

ประสบการณ์ในการลงทุนอสังหาของผม (ตอนที่ 2)

•รายได้แค่เดือนละ 15,000 บาท คุณสามารถเป็นเจ้าของคอนโดหรูย่านสุขุมวิทได้!
•ออมเงินเพียงเดือนละหลักพัน ก็เป็นเศรษฐี 100 ล้าน ก่อนอายุ 50 ปี!
    รายละเอียดอยู่ในหนังสือ"ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน"ซึ่งวางจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป(ร้านนายอินทร์ ซีเอ็ด B2S คิโนะคุนิยะ)แล้วครับ

          เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนค้างถึงช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำย่ำแย่สุดๆ จนทั่วโลกกล่าวขานว่าเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง ตามชื่ออาหารไทยที่เป็นที่รู้จักดีของชาวต่างชาติ ผมยังจำได้ดีว่า ช่วงนั้นเป็นวิกฤตชีวิตที่หนักที่สุดครั้งที่ 2 หลังจากวิกฤตครั้งแรกที่ผมต้องสูญเสียคุณพ่อ คุณแม่และน้องสาวอีก 1 คน อันเป็นสุดที่รักของผม เมื่อช่วงที่ผมมีอายุเพียง 12 ปี  ซึ่งทำให้ผมต้องออกจากโรงเรียน แล้วมาเปิดร้านขายเสื้อผ้าในช่วงกลางวัน แล้วไปเรียนกวดวิชาตอนเย็น เพื่อสอบเทียบม.ต้น และม.ปลายส่งเสียตัวเองจนผมจบปริญญาโท  วิกฤตชีวิต 2 ครั้งนั้นต่างก็มีผลกระทบต่อชีวิตผมอย่างมาก แต่ผมก็สามารถฟันฝ่าวิกฤตเหล่านั้นไปได้ด้วยดี แม้วิกฤตที่ 2 จะสร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้กับผมในช่วงหลายๆ ปีนั้นโดยผมใช้วิธีการแบบหักดิบในการแก้ไขสถานการณ์ครั้งนั้น ในช่วงนั้นผมมานั่งทบทวนและรวบรวมว่าตัวเองมีสินทรัพย์และหนี้สินอะไรบ้าง ก็ปรากฏว่าผมมีคอนโดที่ผมซื้อไว้สำหรับตัวผมเองและพี่ชาย อาคารพาณิชย์ที่ใช้ค้าขายเสื้อผ้า รถยนต์ 2 คัน (ของผมและพี่ชายคนละคัน) หุ้นกู้และเงินสดนิดหน่อยรวมทั้งหุ้นที่อยู่ในบัญชีมาร์จิน ซึ่งผมใช้เงินกู้เป็นจำนวนมาก ประกอบการภาวะที่ตลาดหุ้นตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้พอร์ตการลงทุนผมขาดทุนมหาศาล ผมจำได้ว่า มานั่งคำนวณดูว่าถ้าจะล้างหนี้มาร์จินต้องขายหุ้นออกไปประมาณ 70-80% ของพอร์ต ทั้งๆ ที่หุ้นแต่ละตัวลงมาต่ำติดดินแล้ว ซ้ำยังคอนโดที่ผมอาศัยอยู่ ผมก็กู้ธนาคารด้วย ช่วงนั้นผมอยู่ในภาวะ High Leverage คือมีหนี้ค่อนข้างมาก แต่ไหนแต่ไรผมเป็นคนที่ลงทุนแบบ Aggressive ทั้งหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ผมใช้สินเชื่อเป็นส่วนใหญ่ พอเจอวิกฤตก็เลยมีอาการสาหัสกว่าคนอื่นเขามาก ผมตัดสินใจขายหุ้นออกไป 80-90% ของพอร์ตพร้อมกับตัดใจขายรถยนต์ที่ผมใช้ขับขี่อยู่ เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ทั้งๆ ที่รถยนต์คันนี้เป็นความฝันของผมตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ ที่อยากจะเป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อนี้ แต่ผมมองว่า
1. ผมได้ Fulfill ความฝันไปแล้ว
2.รถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่าเมื่อเวลาผ่านไป เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด คือ ผมไม่ควรจะซื้อรถคันนี้เลยตั้งแต่ต้น เพราะว่าผมขาดทุนจากการขายรถคันนี้ไปล้านกว่าบาทซึ่งเป็นบทเรียนที่ผมไว้เตือนใจตลอดเวลาว่าจะไม่ซื้อทรัพย์สินที่เสื่อมมูลค่าที่มีมูลค่าสูงๆ อีกเป็นอันขาด
3. เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งในช่วงนั้นผมยังมองไม่ออกว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเมื่อไหร่ แต่ผมรู้แน่ๆ ว่าเศรษฐกิจต้องฟื้นแน่ ตามวัฎจักรเศรษฐกิจที่ผมได้ร่ำเรียนมา
4. คอนโดที่ผมอยู่ เป็นคอนโดใจกลางเมืองติดกับรถไฟฟ้า 2 ระบบ และสถานที่ที่ผมมักจะไปทำธุระ ส่วนใหญ่ผมก็สามารถใช้รถไฟฟ้าไปได้เกือบทั้งนั้น นานๆ ถึงจะไปสถานที่ที่รถไฟฟ้าไปไม่ถึง ผมก็สามารถใช้บริการ TAXI หรือกระทั่งรถเมล์ก็ได้
หลังจากขายหุ้นและรถยนต์คันโปรดออกไป ทำให้ผมเหลือสภาพคล่องที่พอให้ผมและพี่น้องมีเป็นค่าใช้จ่ายได้อีกหลายปี เพื่อรอวันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้วค่อยๆ เรียกสมบัติที่ผลัดกันชมกลับมาอีกครั้ง แต่เคราะห์กรรมยังไม่จบไม่สิ้น หุ้นกู้และหุ้นกู้แปลงสภาพที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ผมซื้อลงทุนไว้ก็เกิดการ Default ทำให้ผมต้องขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าในขณะที่ผมซื้อหุ้นกู้เหล่านี้ บริษัทก็กำลังขยายตัว ราคาหุ้นก็ขึ้นเป็นว่าเล่น ผมไม่คาดคิดเลยว่าบริษัทเหล่านี้จะเจ๊ง ผมเตยคิดว่าถ้าบริษัทมีเงินไม่พอก็น่าจะสามารถระดมทุนจากตลาดหุ้นได้ เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เจ็บปวดเช่นกัน

ในช่วงนั้นญาติผมคนหนึ่งก็ประสบปัญหาหนี้สินเช่นกันน ผมก็ได้แนะนำให้เขาขายรถยนต์ทิ้งให้เหลือเพียงคันเดียวที่เอาไว้ใช้ส่งของ และขายสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ไม่มีหนี้ แต่เขาไม่เชื่อผม จนในที่สุดต้องล้มละลายไป การเกือบจะล้มลงคราวนั้นของผมได้ให้คติเตือนใจผมว่าการที่ใช้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในสัดส่วนที่มาก เป็นเหมือนดาบ 2 คม ในภาวะที่เศรษฐกิจดีก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีและเร็วแต่ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำก็สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล บางครั้งอาจจะทำให้ทรัพย์สินที่อุตสาห์สร้างเนื้อสร้างตัวมามลายหายไปได้ และถ้าตัดสินใจผิดพลาดอาจจะกลายเป็นคนที่มีหนี้สินล้นพันตัวได้ เนื้อที่หมดแล้วเอาไว้อ่านต่อตอนที่ 3 สัปดาห์หน้าครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          24/09/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

ประสบการณ์การลงทุนอสังหาของผมตอนที่ 1

ประสบการณ์การลงทุนอสังหาของผมตอนที่ 1
•รายได้แค่เดือนละ 15,000 บาท คุณสามารถเป็นเจ้าของคอนโดหรูย่านสุขุมวิทได้!
•ออมเงินเพียงเดือนละหลักพัน ก็เป็นเศรษฐี 100 ล้าน ก่อนอายุ 50 ปี!
    รายละเอียดอยู่ในหนังสือ"ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน"ซึ่งวางจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป(ร้านนายอินทร์ ซีเอ็ด B2S คิโนะคุนิยะ)แล้วครับ


          ผมเริ่มลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก่อน รวมทั้งไม่มีญาติสนิทมิตรสหายที่ลงทุนในอสังหามาก่อนเช่นคัน การลงทุนก็สะเปะสะปะ โดยผมเริ่มต้นซื้อคอนโดชานเมืองราคาประมาณ 2-3 แสนบาทในสมัยนั้น เพื่อหวังเก็งกำไร ปรากฏว่าจนปัจจุบันก็ยังขายไม่ได้ และราคาซื้อขายในปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสมัยที่ผมซื้ออยู่เล็กน้อยก็เลยเป็นอสังหาประเภทหนึ่งที่นักลงทุนที่เบี้ยน้อยหอยน้อยกลุ่มหนึ่งในปัจจุบันซื้อเก็บลงทุนไว้ปล่อยเช่า ซึ่งเมื่อดูผลตอบแทนจากการเช่า ก็ค่อนข้างใช้ได้คือประมาณ 10% บวกลบ ดีกว่าฝากธนาคารในปัจจุบันถึง 3-4 เท่าตัวเลยทีเดียว  แต่คงต้องเลือกอาคารที่มีนิติบุคคลที่เข้มแข็งทำงานดี มิฉะนั้นจะเรียกเก็บค่าส่วนกลางจากเจ้าของร่วมได้ไม่ครบ บางอาคาร เรียกเก็บได้ไม่ถึง 70% เสียด้วยซ้ำ  ซึ่งก็จะทำให้นิติบุคคลมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย  การทำนุบำรุงอาคารให้คงสภาพดีไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนวัสดุต่างๆ เช่น ท่อน้ำดี, ท่อน้ำเสีย, การทาสีอาคารใหม่ ฯลฯ ทำได้ไม่เต็มที่ ก็จะทำให้อาคารเหล่านี้ซึ่งมีอายุ 10-20 ปี ทรุดโทรมลงโดยเร็ว  ทำให้อยู่ในสภาพที่ไม่น่าอยู่ คนเช่าก็จะย้ายออกไป ข้อเสียของการลงทุนในคอนโดเก่าที่อยู่ชานเมืองอีกอย่างก็คือ  ราคาแทบจะไม่ขึ้นเลย แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงไหน จากที่ผมคิดตามมาสิบกว่าปี ราคาก็ยังคงอยู่ระดับแสนปลายๆ ถึง 2 แสนกว่าๆ เท่านั้น ในขณะที่คอนโดที่ผมอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ผมซื้อมาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในราคา 7.80 ล้านบาท เป็นคอนโดที่อยู่ใจกลางเมือง ติดสถานีรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT ขนาดร่วม 200 ตารางเมตร ปัจจุบันนี้ราคาซื้อขายห้องขนาดที่ผมอยู่ กระโดดไปที่เกือบ 20 ล้านบาทแล้ว กำไรทั้งอยู่และทั้งราคาที่สูงขึ้น ยิ่งช่วงนี้มี Property Developer 3 บริษัทพร้อมใจกันจะมาเปิดโครงการขายในละแวกคอนโดที่ผมอยู่ โดยมี 2 รายที่เริ่มเปิดให้จองแล้ว รายที่เสนอราคาขายต่อตารางเมตรที่ต่ำที่สุด  เริ่มต้นที่ 150,000 บาท/ตารางเมตร ทั้งๆ ที่โครงการทั้ง 2 โครงการมีโลเคชั่นสู้คอนโดที่ผมอยู่ไม่ได้ ส่วนอีกบริษัทหนึ่ง แว่วๆ มาว่าราคาจะขายเริ่มต้นที่ 200,000 บาท/ตารางเมตร ในขณะที่ราคาคอนโดที่ผมอยู่ตกตารางเมตรละเพียงร่วม 100,000 บาทเท่านั้น จริงๆ แล้วผมอยู่คอนโดนี้มาร่วม 20 ปีแล้ว  โดยยูนิตแรกที่ผมเคยอยู่ ผมซื้อมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ราคาประมาณ 4 ล้านต้นๆ โดยมีพื้นที่ 100 ตารางเมตรหลังจากอยู่มาร่วม 10 ปี ผมรู้สึกอึดอัด เพราะว่าผมเป็นคนทำงานที่บ้านทั้งวัน  ถึงแม้จะเป็นห้อง Type 2 ห้องนอน แต่ผมก็ได้ดัดแปลงห้องนอนหนึ่งเป็นห้องทำงาน  ในช่วงปี 2557 ผมเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะวิกฤตต้มยำกุ้ง  ซึ่งทำให้คนไทยหลายคนต้องตกงาน ผมเองช่วงต้มยำกุ้ง ก็เป็นวิกฤตชีวิตครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของผมทรัพย์สินที่เคยมี ต้องสูญเสียไปถึงเกือบ 80% ช่วงนั้นผมเล่นหุ้นด้วยมาร์จินขาดทุนแสนสาหัส ลองคิดดูสิครับ สมมติว่าท่านมีเงิน 1 ล้านบาทแต่สามารถซื้อขายหุ้นได้ 2 ล้านบาท  เวลาหุ้นตกลงมาสัก 40% นั่นหมายถึงว่าท่านขาดทุน 80% นี่ยังไม่นับรวมดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้กับโบรคเกอร์ทุกสิ้นเดือน  และเวลาหุ้นลงในช่วงวิกฤต บางครั้งมันลงมากว่า 40% เสียอีก ผมขอยกตัวอย่างให้ดูเพื่อเห็นภาพที่ชัดเจน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 1,789.16 เมื่อเดือนมกราคม 2537 แล้วโดนเขาขายกระหน่ำลงมาเหลือ 204.59 ในเดือนกันยายน 2541 ลงมาถึง 1,584.57 จุดหรือคิดเป็นการลดลงถึง 88.54% นรกมีจริงครับ ช่วงนั้นมีนักลงทุนที่ฆ่าตัวตายไปหลายท่านเลย ผมต้องรวบรวมจิตใจให้เข้มแข็ง แล้วมานั่งทบทวนพิจารณาตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตและทรัพย์สินดี พี่น้องผมก็ไว้ใจให้ผมเป็นคนดูแลทรัพย์สินในกรีส  รวมทั้งคำสั่งเสียของคุณแม่ก่อนท่านจะเสียชีวิตประมาณ 1 เดือนที่พูดกับผมให้ดูแลพี่ชายและน้องสาวยังก้องอยู่ในหูผมทุกวันทำให้ผมต้องดูแลทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เนื้อที่หมดแล้วเรามาดูกันว่าในช่วงนั้นผมทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองผ่านพ้นวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ร่วมกับคนไทยทั้งประเทศในสัปดาห์หน้าครับ อ่านฉบับเต็มได้ในหนังสือ"ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน" ซึ่งวางจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป(ร้านนายอินทร์ ซีเอ็ด B2S คิโนะคุนิยะ)แล้วครับ แต่ก่อนจบบทความสัปดาห์นี้อยากเตือนนักลงทุนระยะสั้น SET INDEX ช่วงนี้ดูตื้อๆ แถว 1,570-1,600 จุด และสัญญาณทางเทคนิคฟ้องว่า จะมีการปรับตัวโดย MACD เริ่มตัดลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา RSI ก็ทำ Bearish Divergence กับ SET INDEX ระวังตัวกันหน่อยละกันครับ ส่วนนักลงทุนระยะกลางและยาว รอทยอยเก็บเพิ่มช่วงตลาดปรับตัวลงครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          10/09/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
   

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

ธุรกิจ HEALTH CARE ดีจริงหรือ (ตอนจบ)

ธุรกิจ HEALTH CARE ดีจริงหรือ (ตอนจบ)

•ออมเงินเพียงเดือนละหลักพัน ก็เป็นเศรษฐี 100 ล้าน ก่อนอายุ 50 ปี!
รายละเอียดอยู่ในหนังสือ"ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน"ซึ่งวางจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป(ร้านนายอิน ซีเอ็ด B2S คิโนะคุนิยะ)แล้วครับ



          บทความ 4 ตอนที่ผ่านมาที่ผมพูดเกี่ยวกับธุรกิจ Health care สวนใหญ่จะเป็นการมองในภาพรวมของทั้งโลก ส่วนบทความสัปดาห์นี้ผมจะเน้นถึงธุรกิจนี้ที่อยู่ในประเทศไทยครับ ธุรกิจ Health care ในประเทศมีมาตั้งนานแล้ว ผมขอเริ่มตั้งแต่สมัยที่มีเริ่มตั้งโรงพยาบาลเป็นเรื่องเป็นราวสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ได้เล็งเห็นถึงการขาดสถานพยาบาลเพื่อดูแลรักษาพสกนิกรที่เจ็บป่วย จึงมีพระราชดำริก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในราชอาณาจักรสยาม แต่ในสมัยนั้นมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาขน ไม่ได้หวังค้ากำไร เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ต่อมาคนไทยที่มีรายได้สูงเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จึงเริ่มมีธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมาตอบสนองความต้องการในบริการที่ดีขึ้น และต่อมาเริ่มมีการแตกขยายสาขาเป็น Hospital chain หรือ hospital network เริ่มมีการนำโรงพยาบาลเอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น จนปัจจุบันมีมากกว่า 10 บริษัทแล้วและยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) เป็น Chain ที่ใหญ่ที่สุดมี Market cap มากถึง 300,000 ล้านบาทเลยทีเดียวจนทำให้กลุ่มการแพทย์ ซึ่งเมื่อย้อนหลังไป 7-8 ปีที่แล้ว กลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มที่เล็ก Market cap ทั้งกลุ่มมีมูลค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ Market cap รวมของตลาด ต่อมาหลังจากเริ่มได้รับความนิยมจากนักลงทุน ทำให้กลุ่มการแพทย์มี P/E ที่สูงขึ้น จนถึงปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 20-30 กว่าเท่า เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตของรายได้และกำไรค่อนข้างสูง ประเทศไทยเรายังมีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งสถานพยาบาลค่อนข้างน้อย ยิ่งต่างจังหวัดแล้วยิ่งน้อยใหญ่ ทำให้โอกาสของธุรกิจนี้ยังมีอีกมากมาย นี้ยังไม่รวมผลกระทบจาก AEC ซึ่งทำให้ Hospital chain ของไทยไม่ว่าจะเป็น Chain ใหญ่หรือเล็ก มีโอกาสสอดแทรกเข้าไปตั้งคลีนิคหรือโรงพยาบาลที่ประเทศในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, และ Vietnam) ซึ่งยังขาดแคลนโรงพยาบาลชั้นนำอย่างมาก นอกจากการไปตั้งสถานพยาบาลในประเทศเหล่านี้แล้ว ยังสามารถที่จะรับบริหารจัดการโรงพยาบาลอื่นๆ โดยรับรู้เป็นค่าจ้างบริหารจัดการ อย่างเช่น ที่กลุ่ม IHH ของมาเลเซียทำอยู่ในหลายๆ ประเทศ ทำให้บริษัทมีโอกาสได้เรียนรู้ตลาดในประเทศนั้นๆ ว่ามีความต้องการบริการในรูปแบบไหน และประเภทของโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้สามารถตั้งเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางได้อีกด้วย ซึ่งการรับบริหารเป็นหนึ่งในนโยบาย Asset light ทำให้กลุ่มโรงพยาบาลที่รับบริหารไม่ต้องลงทุนมากมายเหมือนการลงทุนแบบ Green field ที่ใช้การลงทุนที่มากและใช้เวลาในการก่อสร้างโรงพยาบาลหรืออาจจะเข้าไป Takeover โรงพยาบาลทั้งในต่างจังหวัด และโรงพยาบาลในกลุ่ม ASEAN ด้วยกัน ยิ่งเครือข่ายที่ใหญ่มากขึ้นเท่าไร Economy of scale ก็จะมากขึ้นเท่านั้น อำนาจในการต่อรองทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการสั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ผมยังสงสัยว่าทำไมกลุ่มโรงพยาบาลต่างๆ ไม่เข้ามาสนับสนุนสถานศึกษาต่างๆ ให้สามารถรับนิสิตนักศึกษาเข้ามาเรียนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดี โดยอาจจะมีข้อผูกพันว่าจะต้องมาทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลที่ให้ทุนการศึกษาต่อจากการใช้ทุนของรัฐ คิดแล้วโรงพยาบาลเอกชนที่ให้ทุนน่าจะได้ประโยชน์ เพราะว่าบุคลากรทางการแพทย์นี้จบใหม่เหล่านี้ ในช่วงการใช้ทุนของรัฐ ก็เปรียบเสมือนได้ฝึกงานไปในตัว พอเริ่มทำงานใช้ทุนให้กับโรงพยาบาลเอกชน ก็จะมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว ผมอยากให้ BGH เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ปัจจุบัน BGH มีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 3 แห่งและกำลังก่อสร้างอีก 9 แห่ง และล่าสุดก็ได้ควบรวมกับกลุ่มโรงพยาบาลสนามจันทร์ซึ่งมีโรงพยาบาลอีก 3 แห่งเมื่อเร็วๆ นี้ รวมเป็น 43 แห่ง แล้วยังตั้งเป้าหมายจะเพิ่มอีก  7 แห่งในปีหน้ารวมเป็น 50 แห่ง ทำให้มีจำนวนเตียง รวมเป็น 8,000 เตียง นับว่ามากที่สุดในประเทศไทย รีบๆ ทำเถอะครับ เพราะว่าโครงการดีๆ แบบนี้ถือเป็น CSR ที่ตรงกับลักษณะธุรกิจและดีมากๆ ครับ และยังจะได้บุคลากรทางการแพทย์มาร่วมงานมากขึ้นด้วย

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          10/09/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
     

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

ธุรกิจ Health care ดีจริงหรือ ตอนที่ 4

ธุรกิจ Health care ดีจริงหรือ ตอนที่ 4

          สัปดาห์นี้ เรามาต่อกันที่เรื่องธุรกิจ Health care ที่ค้างไว้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน สำหรับท่านที่ พลาดตอนที่ 1 – ตอนที่ 3 ท่านสามารถอ่านได้จากบล็อกของผมที่ http://kitichai1.blogspot.com เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา
          ธุรกิจ Health care จัดแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภทดังนี้
1)    PHARMA เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรค ซึ่งรวมทั้งอาหารเสริมที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมทานกันเพื่อสุขภาพ และเพื่อลดโอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆ ธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้มหาศาล  ลองดูตัวอย่างยารักษาโรคต่างๆ ช่วงที่มีการออกยาตัวใหม่ๆ มา ราคาจะแพงมากเม็ดหนึ่งอาจจะตกถึง 200-300 บาท เนื่องจากได้จดลิขสิทธิ์ไว้ พอลิขสิทธิ์หมดอายุ บริษัทยาอื่นๆ สามารถผลิตได้ ราคาบางครั้งเหลือเม็ดละไม่ถึง 1 บาท Margin มหาศาลเพียงไหน ถึงแม้พอจะเข้าใจได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการทำ LAB วิจัย เพื่อค้นคว้าผลิตยาเพื่อรักษาโรคร้ายต่างๆ จะมีมากก็จริง แต่กำไรก็ยังมหาศาลอยู่ดี ลองดูจากงบการเงินของบริษัทยาข้ามชาติใหญ่ๆ ดูสิครับ
2)    BIOTECH เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีทางชีวภาพ พัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ ช่วยลดการติดเชื้อของโรคต่างๆ เช่นวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ หรือการค้นพบวิธีการผลิตและใช้ STEM CELL เพื่อบำบัดโรคหรือ อาการผิดปกติต่างๆ ทางร่างกาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคน
3)    HEALTH CARE EQUIPMENT อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรัก
ษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมทั้งให้เพื่อการเสริมสวย ซึ่งแต่ละเครื่องมีตั้งแต่หลักหมื่นจนเป็นหลักสิบๆ ล้านเลยทีเดียว ปัจจุบันนี้สถานพยาบาลคลินิค (ทั้งคลินิกรักษาผู้ป่วย และคลินิกเสริมสวย) ด้วยความที่ Urbanization เป็นโลกานุวัตร ทำให้เราเห็นสถานพยาบาลเหล่านี้ ผุดขึ้นมามากมาย เพื่อรองรับความต้องการของประชากรที่มีรายได้สูงขึ้น ความสามารถและความต้องการเข้าถึงสถานพยาบาลดีๆ ก็มีมากขึ้น ทำให้ความต้องการเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ก็มากตามไปด้วย
4)    HEALTH CARE SERVICES ก็คือสถานพยาบาลนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นคลินิก โรงพยาบาล ฯลฯ เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างได้เปรียบ เพราะว่าไม่มีลูกค้า (คนไข้) กล้าต่อราคา ทั้งๆ ที่ค่าบริการและค่ายาที่โรงพยาบาลเอกชนจะคิดราคาสูงลิบลิ่ว ค่ายาที่คุณหมอจ่ายคิดเป็นประมาณ 3 เท่าของราคาตามร้านขายยาทั่วไป แต่ผู้ป่วยก็ต้องยอมจ่ายอยู่ดี ผมเองยังสงสัยอยู่เลยว่าทำไมกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ ทำไมไม่เข้ามาดูแลตรงจุดนี้ ค่า Doctor fee หรือค่าบริการอื่นๆ จะคิดแพงก็พอทำใจได้แต่ค่ายาที่ชาร์จแพงเป็น 2-3 เท่าอันนี้ไม่ยุติธรรมกับผู้ป่วย การคิดราคาที่แพงกว่าร้านขายยาสัก 50% ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เราจึงเห็นกำไรของกลุ่มโรงพยาบาลพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนชื่นชอบกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ดูจาก P/E กลุ่มโรงพยาบาลบ้านเรา ส่วนใหญ่จะซื้อขายกันที่ P/E >30 เท่า เนื่องจาก CAGR (Compound Average Growth Rate) ย้อนหลังหลายๆ ปี ของหุ้นในกลุ่มนี้หลายๆ ตัวอยู่ที่ประมาณ 20% บวกลบ คิดเป็น PEG>1 เท่า ซึ่งธุรกิจนี้ในหลายๆ ประเทศก็ซื้อขายกันที่ P/E สูงๆ เช่นกัน ถ้าเราดู P/E BAND ของ Forward P/E S&P ในธุรกิจ Health care services จะซื้อขายกันที่ P/E ประมาณ 8-23 เท่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ช่วงปี 2008 ที่เกิด Hamburger crisis กลุ่มนี้ซื้อขายกันที่ P/E เพียง 8 เท่า เท่านั้น) ปัจจุบันกลุ่มนี้ซื้อขายกันที่ P/E ประมาณ 16-17 เท่า สาเหตุที่ P/E ต่ำกว่ากลุ่มโรงพยาบาลบ้านเรา เพราะว่าอัตราการเจริญเติบโตของรายได้และกำไรต่ำกว่าของบ้านเรา ที่น่าปลื้มใจก็คือ เรามีกลุ่มโรงพยาบาลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ใน ASIA PACIFIC เลยทีเดียว คือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ (BGH) เป็นรองก็แต่เพียงกลุ่ม IHH ของมาเลเซียเท่านั้น และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ก็เป็นโรงพยาบาลไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งยังเคยออกทางช่อง CNN เสียด้วย สัปดาห์หน้าเรามาต่อกันที่กลุ่มโรงพยาบาลบ้านเราว่าจะมีแนวโน้มดีต่อเนื่องหรือไม่กันครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          03/09/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน