ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย
(ตอนที่ 1)
เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
ผมจำได้ว่าช่วงที่ผมเริ่มสนใจธุรกิจประกันชีวิตเกิดจากการที่ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์นายกสมาคมประกันชีวิตไทยในหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่ง
ท่านให้สัมภาษณ์ถึงจำนวนเปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ทำประกันชีวิตคิดเป็นเพียง 17%
ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ตอนนั้นผมรู้สึกสงสัยว่าทำไมคนไทยถึงได้ให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตน้อยมาก
ทั้งๆ ที่ระบบสวัสดิการของรัฐก็ยังไม่ดีและมากพอเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว
ถ้าสวัสดิการของไทยเราเทียบเท่าของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ผมจะไม่รู้สึกเป็นห่วงเลย
ด้วยความสงสัยดังกล่าว ผมจึงอยากจะรู้ว่าคนในเอเชียชาติอื่นๆ เขาทำประกันชีวิตกันมากน้อยแค่ไหน
ผมจึงเริ่มต้นถามอากู๋ (Google) ดูว่าคนญี่ปุ่นเขาทำประกันชีวิตกันมากน้อยแค่ไหน
บางท่านสงสัยว่าทำไมเลือกที่จะค้นหาข้อมูลชาวญี่ปุ่นก่อน คำตอบคือเพราะว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เจริญสูงสุดในเอเชีย
ปรากฏว่าคนญี่ปุ่นทำประกันชีวตมากกว่า 100% (สาเหตุที่มากกว่า
100% เพราะว่าคนญี่ปุ่นมักจะทำประกันชีวิตคนละหลายๆกรมธรรม์)
หลังจากค้นพบข้อมูลนี้ ผมเริ่มรู้สึกเหมือนกับฝรั่งที่ไปค้นพบทวีปแอฟริกา
แล้วเห็นคนแอฟริกันในสมัยนั้นไม่ใส่รองเท้า มองเห็นเป็นโอกาสที่จะขายของซึ่งก็คือ
รองเท้าได้จำนวนมหาศาล ฉันใดก็ฉันนั้น ผมคิดเล่นๆ ว่า
ถ้าสมมติว่ารายได้ของคนญี่ปุ่นหยุดนิ่งเป็นเวลา 15-20 ปี
รายได้ต่อหัวของคนไทยผ่านไปอีก 15-20 ปี
ก็คงมีโอกาสที่จะเท่ากับรายได้ต่อหัวของคนญี่ปุ่น นั่นหมายถึงโอกาสที่คนไทยจะทำประกันชีวิตใกล้ๆ
100% ก็มีความเป็นไปได้จากพื้นฐานที่เป็นคนเอเชียเหมือนกัน
ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านความคิดและวัฒนธรรมกันอยู่บ้างก็ตาม
นั่นหมายถึงโอกาสที่เบี้ยประกันชีวิตจะเติบโตได้ถึงเกือบๆ 13% ต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่สูงมากเลยทีเดียว
เพราะว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP ไทย ประมาณ 4% ต่อปีเท่านั้น แสดงว่าการเติบโตในอนาคตคิดเป็น 3 เท่ากว่าๆ
ของ GDP (GDP เป็นตัวเลขค่าเฉลี่ยรวมของทุกธุรกรรมในประเทศ)
นี้ยังไม่นับที่ GDP เฉลี่ยของไทยเริ่มมีอัตราการเติบโตที่ลดลงในปัจจุบันที่เหลือประมาณ
3% เท่านั้น และเมื่อผมค้นหาข้อมูลย้อนหลัง ปรากฎว่าอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตก็มีการเติบโตเป็น
3-4 เท่าของ GDP มาตลอด
คือเติบโตในระดับ 10-20% ต่อปีมายาวนาน
ทำให้ผมยิ่งเพิ่มความสนใจใคร่จะลงทุนหุ้นในกลุ่มนี้ จนเป็นที่มาของการซื้อหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัย
(SCBLIF) หรือชื่อในสมัยนั้นคือ
บริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต (SCNYL) ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อหลังจากบริษัทนิวยอร์คไลฟ์จากอเมริกาขายหุ้นคืนให้กับธนาคารไทยพาณิชย์
การลงทุนในหุ้นตัวนี้สร้างผลตอบแทนสุดมหัศจรรย์ให้กับผมเป็นอย่างมาก คือ ประมาณ 1,700 กว่า % เลยทีเดียว (รวมเงินปันผลและ Capital gain) เป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนในการลงทุนที่มากที่สุดในชีวิตการลงทุนของผม
และเป็นหุ้นที่ผมถือลงทุนนานที่สุดอีกด้วย
ผมเชื่อว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นที่ลงสัมภาษณ์นายกสมาคมประกันชีวิต ต้องมีผู้อ่านที่อ่านข่าวนั้นเป็นจำนวนไม่น้อย
แต่มีผู้อ่านที่นำข่าวมาขยายความต่อยอดแบบผม น่าจะมีเพียงไม่กี่คน
นี่เป็นบทเรียนที่ดีของนักลงทุนที่อยากประสบความสำเร็จ นอกจากท่านจะต้องอ่านข่าวสารข้อมูลมากๆ
แล้ว ท่านต้องอ่านให้ลึกและคิดเสมอว่า ข่าวแต่ละข่าวจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือธุรกิจใดๆ
ได้บ้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ท่านลงทุนอยู่ ยิ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
เพราะว่านั่นหมายถึงมูลค่าของเงินลงทุนของท่านจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเลยทีเดียว
ทีแรกผมคิดว่าจะเขียนจบในตอนเดียว แต่เขียนไปเขียนมา ยังมีเนื้อหาอีกมากคงต้องต่ออีกสัก
1-2 ตอนครับ แล้วพบกันตอนที่ 2 ในฉบับพุธหน้าครับ
กิติชัย เตชะงามเลิศ
26/11/57
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน รายการ Whats's up Spring ช่อง Spring News TV ทุกวันพุธ ช่วง What's up Money เบรค 4 เวลา 10.45-11.00 น.
หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น