จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หุ้นเพิ่มทุน IPO, PP และ RO (ตอนที่ 2)

หุ้นเพิ่มทุน IPO, PP และ RO (ตอนที่ 2)



      สัปดาห์ที่แล้วผมพูดถึงเรื่องหุ้น IPO กันไปแล้ว สัปดาห์นี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องหุ้น PP (PRIVATE PLACEMENT) และหุ้น RO (RIGHT OFFERING) กันครับ จริงๆแล้วหุ้นที่บริษัทจดทะเบียนขายหุ้นเพิ่มทุนในลักษณะ PP มีมานานแล้ว แต่มาฮือฮากันมากๆ ก็ในช่วงหลังๆนี้ เพราะว่ามีการขายหุ้น PP ให้แก่ผู้ถือหุ้นใหม่ในลักษณะเฉพาะเจาะจงในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดเป็นอย่างมาก จนผมเองก็รู้สึกว่าน่าเกลียดเกินไป สมมติว่าหุ้นบริษัทหนึ่งราคาตลาดอยู่ที่ 9 – 10 บาท วันร้ายคืนร้ายประกาศขายหุ้น PP ให้แก่กลุ่มบุคคลในวงจำกัด ราคาหุ้นละ 0.50 บาท อย่างนี้ก็วงแตกสิครับ นักลงทุนรายย่อยที่โชคร้ายถือหุ้นบริษัทนี้อยู่ก็หงายเก๋งเลย ราคาก็ตกระเนระนาดเป็นแน่ อาจจะลงไปเหลือ 2 – 3 บาทเลยทีเดียว จากสถิติในปี 2557 พบว่ามีจำนวน 27 บริษัท ที่มีการขายพีพีถึง 49 ครั้งและมี 13 บริษัทที่เพิ่มทุนเกิน 1 ครั้ง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 73% ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์เริ่มให้ความสนใจในเรื่องนี้พอสมควร เห็นจากการที่ทำ PUBLIC HEARING เพื่อส่งให้ กลต.พิจารณาตัดสิน บจ. 
      ผมมีความเห็นอยากเสนอว่า บริษัทที่จะออก PP ให้ราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด (โดยใช้ราคาถัวเฉลี่ยย้อนหลัง 1 – 3 เดือน) เกินกว่า 10% ขึ้นไป บริษัทเหล่านี้ต้องแจ้งเหตุผลและตัวเลขผลประโยน์ซึ่งคาดว่าจะได้รับต่อผู้ถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์และกลต หากขายหุ้น PP ให้กับนักลงทุนกลุ่มนี้ และจะต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษาการเงินอิสระให้ความเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มทุนครั้งนั้น รวมทั้งกรรมการอิสระทุกท่านต้องส่งความคิดเห็นของตนให้กับผู้ถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์และกลต  เพราะว่าชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกรรมการอิสระ ดังนั้นควรจะให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับบริษัท มิใช่กลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กรรมการอิสระเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนรายย่อยอยู่แล้ว ดังนั้นควรจะทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และควรจะมี SILENT PERIOD ในกรณีแบบนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการเทขายทำกำไรหลังจากหุ้น PP เหล่านี้เข้าเป็นหุ้นจดทะเบียนในตลาด ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่นักลงทุนรายย่อยได้เป็นอย่างมาก รวมไปถึงการกำหนดสัดส่วนของหุ้น PP ว่าไม่ควรจะเกิน 10% ของทุนจดทะเบียนก่อนเพิ่มทุน มิฉะนั้นนอกจาก DILUTION EFFECT ที่จะเกิดขึ้นหลังราคาหุ้น PP ที่ตั้งไว้ราคาต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ ก็จะกลายเป็นหอกคอยทิ่มแทงนักลงทุนรายย่อยอย่างแสนสาหัส โดยผมขอสรุปไว้เป็นข้อๆดังนี้ คือ
1.       หุ้น PP ที่ออก ถ้าราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาดเกิน 10% ขึ้นไป สามารถออกขายได้ไม่เกิน 30% ของทุนจดทะเบียน แต่ถ้าราคาต่ำกว่าราคาตลาดเกิน 10% ขึ้นไป ไม่สามารถออกขายเกิน 10% ของทุนจดทะเบียนก่อนเพิ่มทุน
2.       การออกหุ้น PP ทุกครั้ง ที่มีการขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 10% กรรมการอิสระทุกท่านต้องส่งความเห็นไปยังผู้ถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์และกลต รวมทั้งบริษัทต้องว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมาวิเคราะห์และส่งความเห็นให้กับผู้ถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์และกลต ล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการขาย PP ครั้งนั้นๆ
3.       ผู้บริหารของบริษัทที่จะขาย PP ที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 10% ต้องชี้แจงเหตุผลและตัวเลขผลประโยชน์ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้รับ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเฉพาะเจาะจงที่จะได้รับการจัดสรรหุ้น PP ครั้งนั้นๆ
4.       กำหนด SILENT PERIOD ดังนี้
4.1.    ราคาหุ้น PP ต่ำกว่าราคาตลาดน้อยกว่า 10% ไม่มี SILENT PERIOD
4.2.    ราคาหุ้น PP ต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 10% แต่ไม่เกิน 30% ให้มี SILENT PERIOD ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
4.3.    ราคาหุ้น PP ต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 30% แต่ไม่เกิน 50% ให้มี SILENT PERIOD ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
4.4.    ราคาหุ้น PP ต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 50% ขึ้นไป ให้มี SILENT ไม่ต่ำกว่า 12 เดือน
เพราะว่าถ้ากลุ่มผู้ถือหุ้นเฉพาะเจาะจงที่ได้รับการจัดสรร PP ในราคาต่ำๆนั่นหมายถึง บริษัทมองแล้วว่าผู้ถือหุ้นกลุ่ใหม่นี้น่าจะยังประโยชน์ให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี ก็จะส่งผลให้กับบริษัทได้มีกำไรมากขึ้น ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นตามผลประกอบการที่ดีขึ้น กลุ่มผู้จองหุ้น PP ก็จะขายได้กำไรดีขึ้นในระยะยาวไปด้วย อย่างนี้สิถึงจะเป็น WIN WIN WIN ถึงได้ประโยชน์ทั้งบริษัท กลุ่มผู้จองหุ้น PP และผู้ถือหุ้นรายย่อย
หมายเหตุ ราคาตลาดควรจะใช้ราคาย้อนหลัง 1-3 เดือนและสิ่งที่กล่าวมานี้ ควรจะยกเว้นกรณีที่บริษัทมีปัญหาทางการเงิน แล้วเจ้าหนี้ยอมแปลงสภาพหนี้เป็นทุน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ที่เป็น SUPPLIER หรือสถาบันการเงินก็ตาม และหรือการที่เจ้าหนี้เหล่านี้ยอมใส่เม็ดเงินใหม่เข้ามาเพื่อฟื้นฟูกิจการ เนื้อที่หมดแล้ว ผมขอยกยอดเรื่องหุ้น RO ไว้ในสัปดาห์หน้าครับ

 

    กิติชัย เตชะงามเลิศ
           25/02/58
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B8 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หุ้นเพิ่มทุน IPO, PP และ RO ตอนที่ 1

หุ้นเพิ่มทุน IPO, PP และ RO ตอนที่ 1


การที่บริษัทต่างๆนำหุ้นของตนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือ MAI จุดประสงค์หนึ่งก็คือการระดมทุน ส่วนจุดประสงค์หรือประโยชน์อื่นๆที่จะได้รับจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน ผมเคยเขียนไว้ในบทความก่อนๆของผม ชื่อว่า “เอาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กันดีกว่า” โดยค้นดูได้จาก Blog ของผม kitichai1,blogspot.com โดยก่อนจะเข้าตลาดก็ต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินช่วยแนะนำการจัดทำข้อมูล และระบบบัญชีที่ถูกต้องสอดคล้องกับกฏระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ เมื่อทำการยื่นไฟล์ลิ่งเพื่อขอเป็นบริษัทจดทะเบียน และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ก็สามารถที่จะขายหุ้น IPO เพื่อระดมทุนจากประชากรทั่วไปได้ ซึ่งในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมาหุ้น IPO ได้สร้างผลตอบแทนให้กับผู้จองซื้อหุ้นเหล่านี้เป็นอย่างมาก โดยบางตัวให้ผลกำไรมากกว่า 200% เสียด้วยซ้ำ ภายในเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากผู้จองซื้อชำระเงินค่าหุ้นจองเหล่านี้ ต่างก็ได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้า พักหลังๆนี้ นักลงทุนรายย่อยหรือรายละเอียด (รายเล็กจิ๋ว) ล้วนแล้วแต่ไม่มีสิทธิ์ได้จองหุ้นเหล่านี้ ถ้ามีวอลลุ่มซื้อขายน้อยไม่ถึงเกณฑ์โบรกเกอร์ที่เป็น UNDERWRITER กำหนด คนที่มีสิทธิ์จองจึงมีแต่นักลงทุนรายกลางกับรายใหญ่เท่านั้น ซ้ำแล้วหุ้นจองหลายตัวถูกเจ้าของบริษัทดึงโควต้ากลับไปจัดสรรให้ญาติพี่น้อง มิตรสหาย และผู้มีอุปการะคุณ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือ SUPPLIER ต่างๆ  นอกเสียจากหุ้นจองที่มีปริมาณหุ้นมากๆ รายย่อยจึงอาจมีสิทธิ์ได้จองกับเขาบ้าง ซึ่งหุ้นเหล่านี้พอเข้าตลาด ส่วนใหญ่ก็จะขึ้นไม่มาก หรือบางครั้งอาจทำให้ผู้จองขาดทุนก็เป็นได้ ดังนั้นเวลาโบรกเกอร์ถามรายย่อยว่าอยากได้หุ้นจองไหม นั่นหมายความว่าหุ้นตัวนั้นไม่ค่อยเป็นที่พิศวาสของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ส่วนกรณีหุ้นที่เข้าตลาด 2-3 วันแรกขึ้นหวือหวาเป็น 100-200% ถ้าผมเป็นเจ้าของหุ้น ผมคงโกรธที่ปรึกษาทางการเงินและ UNDERWRITER เป็นอย่างมาก ว่าทำไมตั้งราคาหุ้น IPO ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากอย่างนี้ แทนที่บริษัทของผมจะได้รับเงินจากการขาย IPO มากกว่านี้ ลองดูตัวอย่างครับ สมมติว่าผมเป็นเจ้าของหุ้นบริษัท DEF จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท PAR = 1 บาท ต่อมาเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้น ขาย IPO หุ้นละ 2 บาท ปรากฏว่าเข้าตลาดวันแรกราคาขึ้นไปปิดที่ 6 บาท ต่อมาวันที่สอง ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 7.20 บาท ลองคิดง่ายๆกันครับว่า ถ้าตั้งขายราคา IPO ที่ 5 บาท นักลงทุนก็น่าจะยังแฮปปี้อยู่เพราะว่าได้ผลตอบแทนวันแรกก็ 20%แล้ว ถ้าถือไปถึงวันที่สองไปขายที่ 7 บาท ก็ยังได้กำไรรวมแล้ว 40% เสียด้วยซ้ำ นับว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนเยี่ยมยอดในช่วงเวลาการลงทุนสั้นๆ เพียงแค่ประมาณครึ่งเดือนเท่านั้น แต่เงินที่ขาย IPO แทนที่บริษัทจะได้เงินจากการระดุมทุนครั้งนี้เป็น 250 ล้านบาท กลับได้เพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น เงินส่วนที่บริษัทควรจะได้อีก 150 ล้านบาทก็ไปตกอยู่ที่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายกลางรายใหญ่ที่ได้สิทธิ์จองหุ้นเหล่านี้ไป ผมอยากเห็นตลาดหลักทรัพย์ทำ SCORING ให้คะแนนบรรดาที่ปรึกษาทางการเงินและ UNDERWRITER เหล่านี้ ถ้าหุ้น IPO เมื่อเข้าตลาดแล้วมีราคาเปลี่ยนแปลงไม่มากกว่า 20% ควรจะได้คะแนนเต็ม 10 ส่วนหุ้น IPO ตัวไหนที่เข้าตลาดแล้วราคาเปลี่ยนแปลงมากกว่า 100% น่าจะได้คำแนนต่ำกว่า 5 แล้วนำ SCORING นี้มาเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นระยะๆ และควรจะกำหนดกฏเกณฑ์การจัดสรรหุ้น IPO เสียใหม่ โดยกำหนดสัดส่วนให้กับนักลงทุนสถาบัน : นักลงทุนรายกลางและรายใหญ่ : นักลงทุนรายย่อย เป็น 30 : 40 : 30 โดยนักลงทุนรายกลางและรายใหญ่ หมายถึงนักลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อเดือนมากกว่า 100 ล้านบาทและมีพอร์ตการลงทุนสูงกว่า 100 ล้านบาท แล้วบังคับให้บริษัท UNDERWRITER เหล่านี้ต้องประกาศรายชื่อผู้จองซื้อหุ้น IPO และจำนวนหุ้นที่แต่ละรายได้ใช้สิทธิ์จองต่อสาธารณะ อาจจะเป็นทางเว็บไซด์ของบริษัทและเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อความโปร่งใส มิฉะนั้นหุ้นจองตัวที่มีโอกาสกำไรสูงๆ หลายๆครั้งอาจจะถูกจองโดยญาติพี่น้องของผู้บริหารของ UNDERWRITER เหล่านั้นเสียเอง แทนที่นักลงทุนรายย่อยทั้งหลายที่ถูกเรียกติดปากว่า แมงเม่า จะได้อานิสงค์จากกำไรของหุ้น IPO กับเขาบ้าง
            เนื้อที่หมดแล้ว คงต้องมาต่อเรื่องหุ้น PP และ RO ในสัปดาห์หน้าส่วนภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้ ผมขอแนะนำให้ขึ้นขาย ลงไม่ซื้อนะครับ เพราะว่าผมคิดว่าตลาดหุ้นช่วงนี้แพงเกินไป ถึงแม้หลายฝ่ายจะเก็งว่า กนง.อาจจะมีการประกาศลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า 0.25% จากตัวเลข GDP ปี 2557 แย่กว่าที่คาดคือ = 0.70%เท่านั้น ซึ่ง กนง. อาจจะคงดอกเบี้ยก็เป็นได้ แต่ถึงแม้กนง.จะมีการประกาศลดดอกเบี้ยผมคิดว่า ธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่ลดดอกเบี้ยตาม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แทบไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยเลย

    กิติชัย เตชะงามเลิศ
           18/02/58
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/ หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ภาษีทรัพย์สินที่จะเป็นธรรม

ภาษีทรัพย์สินที่จะเป็นธรรม


            บนโลกใบนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีฐานะร่ำรวยประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์แต่เป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่าประมาณแปดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยเองก็ไม่สามารถหลีกพ้นจากความจริงข้อนี้ สาเหตุนี้ทำให้รัฐบาลหลายๆคณะพยายามที่จะออกกฏหมายต่างๆเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินจึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาและพยายามผลักดันมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที แต่ดูเหมือนรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากการรัฐประหารอาจจะทำได้สำเร็จ โดยภาษีมรดก ก็อย่างที่ท่านทราบๆกันแล้วว่าจะเรียกเก็บกับผู้รับมรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว จะต้องนำมารวมกัน ถ้าต่ำกว่า 50 ล้าน (โดยนำทรัพย์สินหักด้วยหนี้สินก่อน) ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกิน 50 ล้าน ผู้รับมรดกจะต้องชำระภาษีในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทในอัตราคงที่ ไม่เกิน 10% ซึ่งเป็นอัตราเพดาน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้จริงในเดือนมิถุนายนปีนี้
            แต่บทความฉบับนี้ ผมจะขอเน้นเรื่องภาษีทรัพย์สิน หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งในหลายๆประเทศก็มีการเรียกเก็บภาษีดังนี้ จุดประสงค์คือนอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้วยังเป็นการกระตุ้นให้เจ้าของทรัพย์สิน นำทรัพย์สินเหล่านี้ไปพัฒนา ไม่ใช่ซื้อเก็บไว้เก็งกำไร หรือปล่อยให้รกร้าง สร้างความสูญเสียแก่เศรษฐกิจของชาติ เงินภาษีนี้ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาจัดสร้างสาธารณูปโภค สร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว สะอาด น่ารื่นรมย์แก่สังคมของท้องถิ่นนั้นๆ คิดแล้วก็คล้ายๆมนุษย์คอนโดที่ต้องจ่ายค่าส่วนกลางให้นิติบุคคล เพื่อให้นิติบุคคลมีเงินที่จะไว้ใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางให้คงอยู่ในสภาพที่ดี เหมาะแก่การพักอาศัย ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับภาษีตัวนี้ เพียงแต่ว่าขอให้เงินภาษีในส่วนนี้ ได้ถูกนำไปใช้ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวเท่านั้นก็เพียงพอ แต่ภาษีโรงเรือนที่มีการเรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันก็ควรจะยกเลิกไป เพราะจะซ้ำซ้อนกับภาษีทรัพย์สินที่กำลังจะออกมา ถึงแม้ว่าจะมีบางฝ่ายแย้งว่า ภาษีโรงเรือนนั้นคิดจากฐานค่าเช่า หากเป็นบ้านที่อยู่อาศัยเองไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นการยกเลิกภาษีโรงเรือนจะยังประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าเท่านั้น ส่วนประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้านและอยู่พักอาศัยเองซึ่งจากเดิมก็ไม่ต้องเสียภาษีนี้อยู่แล้ว ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการยกเลิกภาษีโรงเรือนก็ตาม แต่ในเมื่อรัฐจะเรียกเก็บภาษีทรัพย์สินซึ่งอัตราเรียกเก็บก็ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สินนั้นๆ ยิ่งการถือครองทรัพย์สินเพื่อการพาณิชย์ก็จะถูกเรียกเก็บในอัตราภาษีที่สูงกว่าแบบอื่นๆอยู่แล้ว การมีอสังหาริมทรัพย์ไว้เช่าก็ถือว่าเข้าข่ายเพื่อการพาณิชย์อยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะเรียกเก็บภาษีโรงเรือนซ้ำอีก 
            ส่วนข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าไทยที่เสนอขอยกเว้นภาษีที่ดินสำหรับบ้านของผู้มีรายได้น้อยที่มูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท และยกเว้นให้ทุกคนเพื่อความชอบธรรม โดยให้คำนวณภาษีทรัพย์จากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ราคาค่อนข้างสูง ผมมีความเห็นว่าควรจะยกเว้นภาษีสำหรับบ้านที่มีมูลค่าไม่เกิน 1.50 ล้านบาท ส่วนข้อเสนอที่จะให้เก็บค่าธรรมเนียมการโอนเป็น 2% ของราคาซื้อขาย แต่ไม่เกิน 5,000 บาท ผมไม่เห็นด้วย เพราะว่าจะทำให้หน่วยงานของรัฐสูญเสียรายได้ตรงส่วนนี้เป็นอย่างมาก ยิ่งปัจจุบันนี้รัฐยังหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายจนทำให้งบประมาณขาดดุลติดต่อกันมาหลายปี จึงน่าจะคงแบบเดิมไว้ และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงๆ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็เป็นผู้ที่มีฐานะแน่นอน การเก็บ 2% ของราคาทรัพย์สินก็ดูเหมาะสมดี มีฉะนั้นเราจะออกกฏหมายภาษีมรดกหรือทรัพย์สินทำไม ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมนั่นเอง ส่วนค่าจดจำนองที่เดิมคิดไว้ 1% ของราคาทรัพย์สิน สำหรับผู้ที่กู้ซื้ออสังหาเพื่ออยู่อาศัยเอง ตัวนี้ควรจะกำหนดว่า 1% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เพราะผู้กู้ต้องแบกดอกเบี้ยจ่ายกับสถาบันการเงินอยู่แล้ว ภาระจะได้ไม่หนักเกินไป ยกเว้นอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อไว้เป็นสำนักงานหรือเพื่อการพาณิชย์ ก็จะเรียกเก็บในอัตราเท่าเดิมโดยไม่มีเพดาน

            ส่วนข้อเรียกร้องของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีทรัพย๋สินที่บริษัทเหล่านี้ถือครองเพื่อรอการพัฒนา พูดง่ายๆคือรอการสร้างแล้วขาย ให้ยกเว้นไม่เรียกเก็บภายในระยะเวลา 2 ปี ผมถือว่าเป็นการเอาเปรียบบุคคลธรรมดาหรือหน่วยงาน หรือองค์กรอื่นๆ ที่ถือครองทรัพย์สินแห่งนี้แต่ต้องเสียภาษีเป็นรายปี เพราะไม่ว่าจะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือบุคคลธรรมดา ต่างก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.30% (ยกเว้นถ้าบุคคลธรรมดาโอนชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี ก็จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ก็ต้องจ่ายค่าอากรในตอนโอนแทน) ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ก็จะมีวิธีการคำนวณภาษีที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็ต้องเสียภาษีรายได้เช่นกัน ดังนั้นการที่จะยกเว้นการเก็บภาษีกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองทรัพย์สินดังกล่าวในช่วงระยะเวลาถือครองประมาณ 1-2 ปี เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการเอาเปรียบกลุ่มอื่นๆที่อาจจะซื้อลงทุนเหมือนกันหรือจำใจถือเพราะว่ายังหาคนซื้อไม่ได้ อย่าลืมนะครับ การที่จะขายอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนึงไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเจอคนซื้อที่เขา CLICK กับอสังหาชิ้นนั้นจริงๆจึงจะได้ขาย และโอกาสที่จะขายอสังหาของบุคคลธรรมดายิ่งลำบากกว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก และที่อ้างว่าจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจนต้องผลักภาระให้ผู้บริโภค เวลาคุณขึ้นโครงการสร้างเสร็จก่อนขาย ขอถามสักคำว่าคุณตั้งราคาขายตอนสร้างเสร็จแพงกว่าตอนก่อนสร้างไหมครับ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมนี่แหละตัวดี เห็นความแตกต่างของราคามากตอน PRESALE กับช่วงเวลาที่ผ่านไปบางโครงการขยับราคาขึ้นแทบจะรายไตรมาสเสียด้วยซ้ำ

    กิติชัย เตชะงามเลิศ
           11/02/58

        ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที 
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่

 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/

 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน

   ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที

 หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สถิติ SET INDEX ที่ท่านอาจไม่รู้ ตอนจบ

สถิติ SET INDEX ที่ท่านอาจไม่รู้ ตอนจบ

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้จัดอันดับสถิติการขึ้นมากที่สุดของ SET INDEX ซึ่งจัดได้ 4 ลำดับ ส่วนสัปดาห์นี้ผมจะจัดลำดับการลงมากที่สุด โดยสถิติการลงต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุด และสร้างความเสียหายแก่นักลงทุนในตลาดหุ้นมากที่สุดก็คือ ช่วงเดือนมกราคม 2537 ซึ่งในเดือนนั้น SET INDEX ได้สร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด แล้วก็ไหลลงมาราวกับน้ำตกไนแองการ่า โดยลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 204.59 จุดในเดือนกันยายน 2541 ลงไปทั้งสิ้น 1,584.57 จุด หรือ 88.60% ภายในเวลา 4 ปี 8 เดือน ซึ่งผมเองก็เป็นนักลงทุนคนหนึ่งที่เริ่มลงทุนในช่วงครึ่งหลังของวิกฤตครั้งใหญ่นี้ จำได้คร่าวๆว่าช่วงที่เข้าลงทุนนั้น SET INDEX อยู่แถว 1,200-1,300 จุด ผมเห็นว่า SET INDEX ก็ได้ลงมาประมาณ 500 จุด หรือ ประมาณ 30กว่า% แล้ว คงจะลงไปอีกไม่มากแล้ว หุ้นหลายตัวลงมามากกว่า 40% เสียด้วยซ้ำ จากการเป็นนักลงทุนที่อ่อนประสบการณ์ในสมัยนั้น ทำให้การเริ่มต้นลงทุนของผมครั้งนั้นได้สร้างบาดแผลไว้เป็นที่ระลึกมากมาย ทำให้พบสัจธรรมว่า “ถูกแล้วยังมีถูกกว่าอีก” เงินออมที่เก็บมาจากการทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 12 ปี บางส่วนก็มลายหายไปกับการลงทุนช่วงนั้น แต่ผมก็ยังโชคดีกว่านักลงทุนหลายๆท่านที่ยังลงทุนต่อเนื่อง แล้วในที่สุดก็สามารถสร้างผลกำไรกลับคืนมาได้เป็นกอบเป็นกำ เข้าทำนอง “เงินไปเที่ยว เดี๋ยวเดียวก็กลับมา” แต่อันที่จริงก็ใช้เวลาอยู่นานหลายปีเลยทีเดียว ที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อเรียกคืนส่วนที่ขาดทุนกลับมา เมื่อคิดย้อนกลับไป ถ้ามองในแง่ดีก็คิดเสียว่าเป็นการได้บทเรียนจากการลงทุนจากประสบการณ์โดยตรง เสมือนเป็นวัคซีนสร้างความแข็งแกร่งให้กับผมในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ครั้งต่อๆไป ที่ผมเชื่อว่าคงจะมีอีกเป็นระยะๆ เพียงแต่ว่าดีกรีความรุนแรงจะมากหรือน้อยกว่าเท่านั้น
            ถ้าเรามาจัดลำดับสถิติการลดลงของ SET INDEX ในช่วงระหว่างปีที่มากที่สุด จะจัดได้เป็น 3 ลำดับคือ
1)    ช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 SET INDEX ในขณะนั้นอยู่ที่ 886.57 จุด หลังจากนั้นได้ไหลลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 380.05 จุด ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ลงไปถึง 506.52 จุดหรือ 57.13% ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งช่วงนั้น วิกฤตนี้เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเราเรียกวิกฤตนี้ว่า HAMBURGER CRISIS จากการลดลงของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง ได้ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดหุ้นไทยก็เลยโดนหางเลขเข้าไปเต็มๆ ทำให้นักลงทุนเงินหายไปเกินกว่าครึ่งเลยทีเดียว
2)    ช่วงเดือนกรกฎาคม 2533 SET INDEX อยู่ที่ 1,143.78 จุด ในขณะนั้นได้ไหลลงไปถึง 536.74 จุด ในเดือนพฤศจิกายน 2533 ลงไป 607.04 หรือ 53.07% ภายในเวลา 4 เดือน จากการเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียโดยสหรัฐฯรบกับอิรัก
3)    ช่วงเดือนตุลาคม 2530 SET INDEX ในเดือนนี้ทำจุดสูงสุดที่ 472.86 แล้วไหลลงอย่างรวดเร็วไปที่ 243.97 จุด และยังคงลงต่อเนื่องไปถึงเดือนธันวาคม 2530 โดยลงไปถึง 228.89 จุด คิดเป็น 48.41% ภายในเวลา 2 เดือน เราเรียกวิกฤตนี้ว่า BLACK MONDAY ซึ่งเริ่มต้นจากตลาดหุ้นสหรัฐฯตกลงติดต่อกันหลายวัน จากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ขึ้นมาถึง 44% ในปีนั้น มีการเทขายทำกำไรกันต่อเนื่องจนส่งแรงเหวี่ยงไปที่ตลาดหุ้นฮ่องกง ทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงตกระเนระนาด พลอยทำให้ตลาดหุ้นไทยตกลงอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือนเต็มๆ โดยในเดือนตุลาคม 2530 ตลาดหุ้นฮ่องกงลงไปถึง 45.50% ตลาดหุ้นลอนดอนลงไป 26.45% ตลาดหุ้นสหรัฐลงไป 22.68% ส่วนตลาดหุ้นไทยลงไปประมาณ 30% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2530 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงนั้นมี CEILING / FLOOR ที่ 10ทุกวันหุ้นเกือบทุกตัวมีแต่ OFFER ไม่มี BID พอตัวไหนไม่มีการซื้อขาย ราคาก็จะคงที่ ทำให้ตลาดหุ้นไทยดูเหมือนว่าลงไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นฮ่องกง
ส่วนสถิติการลงแรงสุดภายใน 1 วันนับจากจุดปิดวันเกิดกับจุดต่ำสุดของวันถัดไป มี 3 ลำดับคือ
1)    วันที่ 19 ธันวาคม 2549 SET INDEX ตกจาก 730.55 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 587.92 จุด ลงไป 142.63 จุด คิดเป็น 19.52% จนตลาดหลักทรัพย์ต้องประกาศหยุดการซื้อขายครึ่งชั่วโมง หลังจากที่ SET INDEX ตกลงไป 10% ตามกฏของ CURCUIT BREAKER  นับเป็นการใช้ CURCUIT BREAKER เป็นครั้งแรก ก่อนขึ้นมาปิดที่ 622.14 จุด สาเหตุเกิดจากการประกาศทำ CAPITAL CONTROL โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สร้างความตื่นตรกใจแก่นักลงทุนต่างประเทศ จึงมีแรงเทขายอย่างรุนแรง รวมทั้งการขายตัดขาดทุนจากนักลงทุนไทยบางกลุ่มและการถูก FORCE SELL ในบัญชี MARGIN ผสมโรงเข้าไปด้วย
2)    วันที่ 12 กันยายน 2544 SET INDEX ลงจาก 330.37 จุดไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ 298.04 จุด ลงไป 32.33 จุด คิดเป็น 9.79% สาเหตุเกิดจากเหตุการณ์ 911 เครื่องบินถล่มตึก WORLD TRADE CENTER ที่สหรัฐฯ โดยฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย AL-QAEDA
3)    วันที่ 15 ธันวาคม 2557 SET INDEX ลงจาก 1,514.95 จุดไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ 1,375.99 จุด ลงไปถึง 138.46 จุดหรือ 9.17% (ถ้าลงไปอีกหน่อยจนถึง 10% ก็จะเห็นตลาดหลักทรัพย์งัดมาตรการ CURCUIT BREAKER มาใช้เป็นครั้งที่ 2) แล้วขึ้นมาปิดที่ 1,478.49 จุด สาเหตุเกิดจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ คำสั่งขายจาก TRADING PROGRAM การถูก FORCE SELL ของลูกค้าบัญชี MARGIN และข่าวลืออัปมงคล

 

    กิติชัย เตชะงามเลิศ
           04/02/58

        ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที

ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน  ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty