จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การเลือกซื้อหุ้นเข้าพอร์ต


การเลือกซื้อหุ้นเข้าพอร์ต
          สำหรับนักลงทุนที่ไม่ขยันทำการบ้าน การซื้อหุ้นตาม SET50 หรือ SET100 ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์จะประกาศรายชื่อหุ้นที่เข้าสู่ตารางการคำนวณ ปีละ 2 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 1 มกราคม - 30 มิถุนายน และ 1 กรกฎาคม -31 ธันวาคม โดยสามารถดาวน์โหลดรายชื่อหุ้นดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ (www.set.or.th) ทุกครั้งที่มีการถอดหุ้นเดิมออกจากการคำนวณและการเพิ่มหุ้นใหม่เข้าไปแทน จะมีผลต่อราคาหุ้นดังกล่าว โดยหุ้นที่ถูกถอดออกไปราคาก็จะตกลง  ขณะที่หุ้นใหม่ที่ถูกเลือกเข้าไป ราคาก็จะสูงขึ้น โดยหุ้นใน SET50 จะมีผลกระทบมากกว่า SET100 อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับหุ้นตัวใหญ่ใน SET50 โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่บริหารพอร์ตโดยอิงกับ SET50 ก็อาจจะมีการสับเปลี่ยนหุ้นในพอร์ตที่บริหารอยู่ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์ นอกจาก SET50 และ SET100 แล้ว ปัจจุบันยังมีอีก 2 INDEX คือ SETHD (SET HIGH DIVIDEND 30 INDEX) และ FTSE SET INDEX โดย SETHD เริ่มมีตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2554 โดยตลาดหลักทรัพย์จะเลือกหุ้นที่จ่ายปันผลดี โดยดูย้อนหลัง 3 ปี ส่วน FTSE SET INDEX ประกอบไปด้วย 6 ดัชนีย่อย คือ
          1.  FTSE LARGE CAP ซึ่งประกอบด้วยหลักทรัพย์ 30 ตัวแรกในกระดานหลักโดยพิจารณาเรื่อง FREE FLOAT และสภาพคล่องในการซื้อขาย
          2.  FTSE SET MID CAP เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 90% แรกของกระดานหลักเรียงตาม MARKET CAP และไม่อยู่ใน FTSE LARGE CAP
          3.  FTSE SET SMALL CAP เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 98% แรกของกระดานหลัก แต่ไม่อยู่ใน 2 ประเภทแรก
          4.  FTSE SET ALL SHARE ประกอบด้วยหลักทรัพย์ทุกตัวใน 3 ประเภทแรก
          5.  FTSE SET MID/SMALL CAP ประกอบด้วยหลักทรัพย์ทุกตัวใน ประเภท 2 และ 3
          6.  FTSE SET FLEDGLING ประกอบด้วยหลักทรัพย์ในกระดานหลักที่มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะรวมอยู่ใน FTSE SET ALL SHARE INDEX
          ซึ่งทั้ง SETHD และ FTSE SET INDEX (ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์กับ FTSE ของ UK) จะมีการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมิถุนายนและธันวาคม แต่ INDEX ที่เป็นที่นิยมมากสุดคือ SET50 รองลงมาคือ SET100 แต่ SETHD และ FTSE SET ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่นักลงทุนรายย่อยมากนัก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงรายชื่อหุ้นใน 2 ดัชนีหลัง จะมีผลต่อราคาหุ้นน้อยมาก ปัจจุบันหลายๆ บลจ. มีการออกกองทุนประเภท PASSIVE FUND คือกองทุนที่ลงทุนโดยอิงตามดัชนี SET50 หลายกองทุน บริหารโดยหลาย บลจ. ซึ่งกองทุนประเภทนี้จะคิดค่าบริการกองทุนในอัตราที่ต่ำกว่ากองทุนประเภท ACTIVE FUND ซึ่งผู้บริหารกองทุนจะต้องใช้สมองมากหน่อย ในการคัดเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการดีมีอนาคตมาใส่ไว้ในพอร์ต ผมสังเกตเห็นทุกปี จะมีกองทุน ACTIVE FUND ที่สร้างผลตอบแทนแย่กว่ากองทุนประเภท PASSIVE FUND แสดงว่าผู้บริหารกองทุน ACTIVE FUND นั้นๆ บริหารแย่กว่า SET INDEX ถ้าเราให้ SET INDEX เป็น BENCHMARK ส่วนกองทุน PASSIVE FUND ควรจะสร้างผลตอบแทนพอๆ กับค่าการเปลี่ยนแปลงของ SET INDEX บวกกับอัตราเงินปันผล (DIVIDEND YIELD) นอกจากนี้แล้วปีนี้เป็นปีแรกที่ทางผู้บริหารบลจ. ทั้งหลายมาจับมือกัน ตกลงกันว่าต่อไปนี้จะไม่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ไม่มีบรรษัทภิบาลที่ดี ซึ่งผมสนับสนุนอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการโน้มน้าวให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาด MAI จะได้ประพฤติตนอยู่ในกรอบปฏิบัติที่ดีไม่สร้างความเสียหาย ให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อยที่ชอบลงทุนในหุ้นปั่น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้นน่าจะไม่มีบรรษัทภิบาล ผมยังอยากให้ตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มดัชนีอีกตัวคือ ดัชนีบรรษัทภิบาล ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 3 ดัชนีย่อย โดยแบ่งเป็น BIG CAP MIDCAP และ SMALL CAP โดยแต่ละดัชนีย่อยอาจจะมีหุ้นประมาณ 30 บริษัท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อยที่บางครั้งอาจจะหลงลงทุนในหุ้นปั่นหรือหุ้นที่มีบรรษัทภิบาลไม่ดี
          นอกจากดัชนีที่ตลาดหลักทรัพย์สร้างขึ้นมาแล้ว ยังมีดัชนีสากลที่มีนักลงทุนทั่วโลกใช้เป็น BENCHMARK คือ ดัชนี MSCI/MORGAN STANLEY CAPITAL INTERNATIONAL) สำหรับประเทศไทยนั้นมีดัชนี MSCI ที่นำประเทศไทยเข้าไปรวมใช้คำนวณในดัชนีทั้งหมด 29 ดัชนี เช่น ดัชนี MSCI ASIA EX JAPAN เป็นต้น โดย MSCI ได้สร้างดัชนี MSCI THAILAND โดยเลือกหุ้นตามเกณฑ์ของ MSCI เช่น หุ้นตัวที่ถูกเลือกจะต้องมี FREE FLOAT ขั้นต่ำ 15% และเมื่อคูณ MARKET CAP ด้วย ค่า% ของ FREE FLOAT แล้วต้องสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งในประเทศไทย หุ้นที่จะเข้าเกณฑ์ต้องมี MARKET CAP ขั้นต่ำ 250 ล้าน $ เป็นต้น นอกจากนั้นหุ้นไทยก็ยังถูกคัดเลือกไปใส่ไว้ใน MSCI GLOBAL SMALL CAP อีกด้วยโดยหุ้นล่าสุด20 ตัว  คือ  ANAN, BMCL, EA, EASTW, GRAMMY, GUNKUL, JMART, KTC, MALEE, N-PARK, OFM, OISHI, SAMTEL, SPCG, TFD, THRE, UMI, UV, VGI และ WHA โดยจะมีผลวันที่ 1 มิถุนายนนี้ หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าไปโดยส่วนใหญ่ราคาจะดีดขึ้นหลังจากมีข่าวออก และหุ้นที่ถูกคัดออกก็จะมีราคาตกลง ผมดูรายชื่อหุ้นที่ถูกคัดเข้าไปในรอบนี้แล้ว หลายตัวเป็นหุ้นที่ผมไม่สนใจเลย และบางบริษัทผลประกอบการยังแย่อยู่เลย ยังต้องรอลุ้นว่าผลประกอบการจะดีขึ้นหรือไม่ บางบริษัทผลประกอบการแย่ลงก็มี นักลงทุนทุกท่านใดนี้จะลงทุนในหุ้นตามดัชนี MSCI GLOBAL SMALL CAP นี้ ก็พิจารณาให้ดีด้วย ตาดีได้ตาร้ายเสียนะครับ

ติดตามแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
และ BLOG : http://kitichai1.blogspot.com
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หรือหน้า B10
 และนิตยสารคนรวยหุันCondo Guide, Stock Review, Me(Market Evolution), Glow และ Lisa  ทุกเดือน

                            กิติชัย เตชะงามเลิศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น