จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556


ผมเตือนให้ขายทองทิ้งตั้งแต่ปีที่แล้ว

         
 บทความ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเขียนไว้ล่วงหน้าก่อนผมจะเดินทางไปเที่ยวประเทศอินเดียระหว่างวันที่ 4-18 เมษายนที่ผ่านมา จริงๆ แล้วสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมอยากจะเขียนเรื่องทองที่ราคาตกวินาศสันตะโร จนทำให้นักลงทุนและผู้ที่มีทองครอบครองไว้ ขาดทุนกันระเนระนาด ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านหนังสือ จาก 1 ล้าน เป็น 500 ล้าน ผมทำอย่างไรที่ผมเขียนและออกจำหน่ายเมื่อกลางปีที่ผ่านมา  และปฏิบัติตามคำแนะนำในหนังสือ ก็คงไม่ต้องทุกข์กับภาวะขาดทุนจากภารกิจถือครองทองไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่ง  ทองรูปพรรณ Gold Future หรือกองทุนที่ลงทุนในทองคำ ผมจำได้ว่านายจอร์จโซรอส และนักวิเคราะห์หลายๆ รายเชียร์ให้ซื้อทองคำ โดยคาดการณ์ว่าทองจะวิ่งไปที่ 2,000 $ /OUNCE แต่ผมเขียนในหนังสือไว้ว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วว่าควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในทองคำเพราะว่าเสน่ห์ของมันจะน้อยลงเรื่อยๆ QE ของ FED ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจของประเทศอันดับหนึ่งกับอันดับ 3 ดีขึ้น ความต้องการที่จะลงทุนในทองน่าจะน้อยลง และโอกาสที่ FED ติดต่อกัน 2-3 เดือน การยุติ QE ก็น่าจะได้เห็นกัน ค่าเงินดอลลาร์คงจะเริ่มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ และจะส่งผลกระทบให้กับราคาทองคำในตลาดโลกให้หล่นลงไปได้อีก การถึอครองทองนั้นจริงๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะท่านที่ถือทองคำแท่ง ผมเชื่อว่าท่านคงต้องเก็บรักษาไว้โดยการฝากในตู้นิรภัยของธนาคารซึ่งต้องเสียค่าเช่าตู้เป็นรายปี และท่านคงต้องมีเงินฝากเป็นหลักล้านบาทขึ้นไป ทางธนาคารจึงจะให้ท่านเช่าตู้ดังกล่าวได้ การซื้อหุ้นท่านยังได้รับเงินปันผล  การซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตร ท่านจะได้ดอกเบี้ย การซื้อคอนโดให้เช่า ท่านก็ได้ค่าเช่า แต่การซื้อทองท่านจะไม่มีรายได้อะไรเลยถ้าราคาทองไม่ขึ้น อย่างดีก็ได้แค่ลูบๆ คลำๆ ทองแท่งของท่านเท่านั้น เรามาดูราคาทองในอดีต  ช่วงปี 2513 ถึง 2523 ทองขึ้นจาก 35$ ไปทำจุดสูงสุดที่ 835 $ เพิ่มขึ้น 2,286 % หลังจากนั้นราคาทองก็ดิ่งลงไปเรื่อยๆ จนเหลือราคาเพียง 300$ ลดลงไปถึง 64% ภายใน 3 ปี หลังจากนั้นก็ Sideway ในช่วงราคาหนึ่ง แล้วลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 250$ ในปี 2542  ลองจินตนาการดูสิครับ ถ้าท่านซื้อทองไว้ตอน 800$ ในปี 2523  ท่านจะตกอยู่ในสถานใดในช่วงระหว่างปี 2523-2526 ไม่รู้คราวนี้ท่านที่ถือทองไว้ในช่วงนี้ จะเจอประสบการณ์เดียวกับนักลงทุนทองยุคนั้นหรือไม่ ผมคิดว่ามีโอกาสครับ แต่ความรุนแรงอาจจะน้อยกว่าอย่าลืมนะครับ คนไทยที่ซื้อทองโดน 2 เด้งนะครับ จากราคาทองโลกที่ลดลง และค่าเงินบาทที่แข็งเอาแข็งเอาทุกวัน จนเราเห็นเงินบาทที่ 28.58 บาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและทาง UBS ก็คาดการณ์ว่าปีนี้จะเห็นเงินบาทที่ 28 บาทและปีหน้าที่ 27 บาท ยิ่งทำให้ราคาทองในประเทศที่โค้ดราคาเป็นบาท ยิ่งต่ำลง การที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าเป็นเพราะไซปรัสจะหอบทองออกมาขายในตลาดประมาณ 10 ตัน จากที่ถืออยู่ 15 ตัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นปริมาณที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าซื้อทองคำของทั้งโลก ช่วงนี้น่าจะเป็นผลทางจิตวิทยาเล็กๆ เท่านั้น ช่วงนี้เราจะเห็นนักวิเคราะห์เปลี่ยนคำแนะนำเป็นขาย หรือลดการถือครองทองคำ โกลด์แมน แซคส์ ที่เคยเชียร์ซื้อทองคำปีที่แล้ว ตอนนี้ก็เชียร์ขายแล้ว จอร์จโซรอสที่เชียร์ซึ่งเหมือนกันเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ก็มีข่าวว่าแกลดการถือครองลงไปมากกว่าครึ่งแล้ว ตอนนี้นักลงทุนเริ่มมองเห็นว่าทองค่ำ ไม่ใช่ SAFE HAVEN อีกต่อไปแล้ว ยิ่งอัตราเงินเฟ้อของโลกยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งๆ ที่รัฐบาลกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ EU UK ญี่ปุ่น ปั๊มเงินออกมาในท้องตลาดมากมายมหาศาลขนาดนี้ ราคาของ COMMODITY ก็ไม่ได้พุ่งไปสักเท่าใด ราคาน้ำมันก็มีแต่ทรงกับทรุด ดูๆ แล้วก็น่าหนักใจแทนคนรวยที่ถือทองไว้ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม กลายเป็นทุกข์ของคนรวยจริงๆ ทองคำรอบนี้วิ่งติดต่อมาราธอนมายาวนานถึง 12 ปี จากราคาต่ำสุดแถว 258$ ในเดือนมีนาคม ปี 2544 จนขึ้นมาสูงสุดที่ 1,924$ เมื่อเดือนกันยายนปี 2554 รวมแล้วขาขึ้นรอบนี้ ทองวิ่งมาราธอนขึ้นมา 646% น้อยกว่ารอบก่อน (ปี 2513-2523) ซึ่งขึ้นมา 2,286% ดังนั้น รอบนี้การปรับตัวลงไม่ลงแรงเหมือนรอบนั้นที่ปรับตัวลงถึง 64% ผมคาดว่าช่วงนี้อาจจะมีการเด้งขึ้นจากการขายมากเกินไป แล้วคงจะมีการปรับตัวลงอีกรอบ  แนวรับในระยะยาว ผมคิดว่า น่าจะอยู่แถวๆ 1,100$ แต่คงจะไม่เห็นราคานี้ในเร็วๆ นี้หรอกครับ แต่เขียนแปะข้างฝาไว้ก่อนได้นะครับ ในระยะปานกลางถึงยาวเราน่าจะเห็นทองที่ราคานี้แน่ครับ คนที่ยังไม่มีก็ไม่ต้องรีบร้อนเข้าไปซื้อ หรอกครับ จริงๆ แล้วถ้าเรามองว่าทองเป็นขาลงแล้ว ก็ไม่อยากแนะนำให้ลงทุนนะครับ โอกาสเสียมากกว่าได้ โดยเฉพาะพวกที่เล่น Gold Future ป่านนี้รักษาบาดแผลหายดีหรือยังครับ คนที่จะเอาทองคำไปจำนำช่วงปลายเดือนก่อน คงปล่อยให้ทองหลุดจำนำไปหมดแล้ว เพราะเอาเงินไปซื้อทองใหม่ยังคุ้มกว่า ได้เงินไปใช้ก่อนฟรีๆ ไม่มีดอกเบี้ย แถมยังได้กำไรอีกด้วย ร้อยวันพันปีจึงจะเจอเหตุการณ์แบบนี้นะครับ
          ดูนักลงทุนดูชาวบ้านแล้ว เรามาดูธนาคารกลางของชาติต่างๆ นะครับว่าชาติไหนถึงครองทองคำมากสุด 5 อันดับแรก
1)    สหรัฐ 8,133.50 ตัน             คิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรอง     76%
2)    เยอรมัน 3,391.30 ตัน           คิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรอง     73%
3)    IMF 2,814 ตัน                    คิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรอง     N/A
4)    อิตาลี 2,451.80 ตัน              คิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรอง     72%
5)    ฝรั่งเศส 2,435.40 ตัน           คิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรอง     71%
25) ไทย   152.40 ตัน              คิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรอง     4%
59) ไซปรัส 13.90 ตัน               คิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรอง     58.30%

          ดูแล้วทุนสำรองของไทยเราได้รับผลกระทบน้อยมากเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ครับ สบายใจได้ ผมหวังว่าการตกลงของราคาทองรอบนี้ จะทำให้การลงทุนของทุกๆ ท่านมีความระมัดระวังมากขึ้น และผมเคยย้ำเสมอว่า การถือครองทองคำ ไม่ควรจะเกิน 5.10% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดของท่านนะครับ  “ข้อควรคำนึงอย่างหนึ่งนะครับในปี 2543 ราคาทองอยู่แถว 270-300 ขณะที่ดัชนี S&P ของสหรัฐอยู่ที่แถว 1,500 จุด ปัจจุบันราคาทองถึงแม้ระยะสั้นจะลงมามาก แต่ยังอยู่แถว 1,400 จุด ขณะที่ S&P ของสหรัฐอยู่ที่ 1,555 จุด ท่านคงจะเห็นอนาคตของราคาทองเมื่อเทียบกับ S&P ได้นะครับ
          ท่านที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือของผม ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นและอสังหา ก็ลองซื้อหาอ่านดูนะครับตามร้านหนังสือทั่วไปครับ


ติดตามแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
และ BLOG : http://kitichai1.blogspot.com
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หรือหน้า B10
 และนิตยสารคนรวยหุันCondo Guide, Stock Review, Me(Market Evolution), Glow และ Lisa  ทุกเดือน

                            กิติชัย เตชะงามเลิศ



MEGA PROJECT 2.20 ล้าน จะใช้อย่างไร

          บทความฉบับนี้ ผมเขียนเมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากอ่านการโต้คารมกันระหว่างคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมต.คลังคนปัจจุบันกับคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมต.คลัง ในเรื่องของ MEGA PROJECT 2.20 ล้านล้านบาท ทำให้คันมือคันไม้อยากเขียนถึงครับ ก่อนอื่นเรามาดูว่าประเทศไทยเราต้องการโครงการเหล่านี้หรือไม่ ในความเห็นของผม ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าประเทศเราต้องการครับ เราขาดการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการคมนาคม LOGISTICS มาหลายปีแล้ว ต้นทุน LOGISTICS  เราสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว หรือแม้เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย โดยของไทยอยู่ที่ 18-20% ของ GDP ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 13% ยิ่งถ้าไปเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 8% ด้วยแล้วจะเห็นได้ชัดว่า นี่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับไทยที่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมากกว่า 70% ต้องรีบแก้ไขปรับปรุง ก่อนที่จะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง พลอยจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราตกอันดับไปเรื่อยๆ ไม่อยากเห็นชาติอื่นๆ ที่เคยล้าหลังกว่าเรา อย่างเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะเร่งแซงเราไปเหมือนกันมาเลเซียที่ทิ้งเราจนไม่เห็นฝุ่นไปแล้ว ถึงแม้โครงการต่างๆ เหล่านี้จะต้องใช้เงินจำนวนมากมหาศาล พร้อมกับภาระการชำระหนี้ 50 ปี แต่ผมว่ามีความจำเป็นนะครับ ยิ่งอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับในอดีต  โดยคาดว่าภาระดอกเบี้ยของพันธบัตรเงินกู้ครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 4.40-5% เท่านั้น สำหรับพันธบัตรอายุ 50 ปี ผมว่าค่อนข้างต่ำใช้ได้เลยทีเดียว ซึ่งการออกพันธบัตรชุดนี้ออกมา  เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยทีเดียวครับ เพราะว่าช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากและเร็ว ทำให้เป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องเข้ามาดูแลค่าเงินมีสภาพคล่องส่วนเกินมหาศาล ที่ธปท.ต้องดูแลในการดูดซับออกโดยการออกพันธบัตรของธปท. ทำให้ธปท.มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรดังกล่าว ส่วนเงินที่ได้เข้ามาธปท.ก็ไปลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐหรืออื่นๆ ที่ได้ผลตอบแทนต่ำกว่า ส่งผลให้ธปท.ต้องประสบปัญหาขาดทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน เป็นภาระที่หนักอึ้งทีเดียว การที่รัฐบาลออกพันธบัตรเงินกู้ ก็จะเป็นการช่วยดูดซับสภาพคล่องในตลาดไปเสียเอง เป็นการลดภาระของธปท.ทางอ้อม โดยเป็นการนำเงินเพื่อไปพัฒนาประเทศ แก้จุดบอดต่างๆ ของเศรษฐกิจไทย เงินส่วนที่ทางรัฐบาลจะนำไปใช้ในด้าน LOGISTICS ของประเทศ เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน โดยคุณกรณ์เห็นว่า รัฐบาลควรจะนำเงินไปใช้ในด้านการศึกษาและสาธารณสุขมากกว่า จริงอยู่ ทั้ง 2 ด้านนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมเห็นด้วยกับคุณกิตติรัตน์ ว่า ถ้านำเงินนั้นไปใช้ใน 2 ด้านนั้น จะไม่มีผลต่อการเติบโต GDP ของประเทศ เมื่อเทียบกับทางด้าน LOGISTICS เพราะเมื่อ GDP โต ก็จะทำให้คนในชาติและประเทศมีรายได้มากขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น รัฐก็มีความสามารถในนำงบประมาณรัฐไปใส่ในการศึกษาและด้านสาธารณสุขได้มากขึ้น ประชาชนเองมีรายได้มากขึ้นก็สามารถจะเข้าถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้มากและดีขึ้น รวมถึงสามารถจะเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น อย่าลืมนะครับว่าพันธบัตรที่ธปท.ออกมาเพื่อดูดสภาพคล่องนั้น เป็นเงินที่ดูดไป ไม่ได้ไปใช้ทำประโยชน์อะไรนอกจากเพื่อจะดูดสภาพคล่องออกจากตลาดไปเท่านั้น และตามมาด้วยภาระขาดทุนจากการออกดังที่ผมกล่าวมาข้างต้น ขณะที่พันธบัตรเงินกู้ของรัฐชุดนี้สามารถเอาไปใช้พัฒนาประเทศ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ รมต.คลัง เรื่อง ธปท.ควรจะลดดอกเบี้ยในประเทศลงอีก ในสภาวะที่มีเงินร้อนไหลเข้ามาในประเทศไทยมากมายในขณะนี้ ยิ่งขณะนี้มีเงินจากญี่ปุ่นจากมาตรการ QE ของญี่ปุ่นที่จะปั๊มเงินออกมาอีกมากมายทุกเดือน ถ้าผมเป็นผู้ออมเงินชาวญี่ปุ่น ผมคงจะหาทางแลกเงินเยนเป็นเงินสกุลอื่นที่มีแนวโน้มแข็งค่าแบบเงินบาทและซื้อพันธบัตรไทยระยะ 1-3 ปี เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยก็สูงกว่า ซื้อพันธบัตรญี่ปุ่นและค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องไปได้อีกแบบนี้ ถ้าผมเป็นผู้ว่า ธปท. ในเมื่อเห็น DEMAND มากขนาดนี้ เรื่องอะไรผมจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงๆ ไปทำไม เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผมเอง ซ้ำร้ายเงินที่ได้จากการขายพันธบัตร ผมกลับต้องไปซื้อพันธบัตรของหลักๆ กลับมา ซึ่งล้วนแล้วแต่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำกว่าของผมอีก ทั้งๆ ที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้นยังแย่กว่าของเราเสียอีก จริงอยู่หน้าที่ของธปท. คือดูแลเรื่องค่าเงินสภาพคล่อง อัตราเงินเฟ้อ ของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การที่จะลดอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทยได้ แต่ในสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศค่อนข้างต่ำในขณะนี้ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ก็มีส่วนกดให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในอัตราต่ำแบบนี้ได้อีก ยังไม่พูดถึงเครื่องมือที่ธปท.หลายเครื่องมือ อาทิ เช่น การกำหนดค่า LTV ซึ่งถือว่าผ่อนปรับอย่างมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เรามาดูของเพื่อนบ้านเรานะครับ
          LTV (LOAN TO VALUE) คืออัตราส่วนการปล่อยกู้ที่ธนาคารให้แก่ผู้กู้ตามอัตราส่วนเมื่อเทียบกับมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน
          LTV               บ้านหลังแรก              บ้านหลังที่ 2              บ้านหลังที่ 3 ขี้นไป
          จีน                70                         40                         0-40%
          ฮ่องกง           50-70                    50-70                    50-70%        (1)
          สิงคโปร์          60-80                    40-80                    40-80%        (2)
          ไทย              90-95                    90-95                    90-95%        (3)
หมายเหตุ :
1.      ถ้ารายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกฮ่องกง LTV = 40-60% และ LTV จะผันแปรผกผันกับมูลค่าของหลักประกัน
2.      ถ้าระยะการกู้นานกว่า 30 ปี หรือผ่อนจนถึงอายุ 65 ปี LTV = 60% สำหรับบ้านหลังแรกและ 40% สำหรับบ้านหลังที่ 2
3.      คอนโด = 90% อสังหาริมทรัพย์แนวราบ = 95%
          ถ้าธปท. เริ่มมองเห็นการเก็งกำไรมากเกินไป อัตรา LTV ยังมีช่องกว้างที่ ธปท. จะดำเนินการได้ และการดำรงเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ต่อเงินกู้ประเภทต่างๆ ธปท.สามารถเพิ่มอัตราเงินทุนสำรองในประเภทของหนี้ที่ธปท. เห็นว่ามีการขยายตัวมากเกินไป หรือมีอัตราหนี้เสียสูง  การที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำ ก็จะทำให้ธุรกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกสูงขึ้น  อย่าลืมนะครับดอกเบี้ยจ่ายเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของธุรกิจ  และพวก SME จะมีโอกาสเข้าถึงเงินกู้และมีภาระดอกเบี้ยลดลง ความอยู่รอดของธุรกิจก็จะมากขึ้นนะครับ ส่วนที่คุณกรณ์สนับสนุนการสร้างรถไฟรางคู่แทนที่จะเป็นรถไฟความเร็วสูง ข้อนี้ ผมเห็นด้วยกับคุณกรณ์เป็นอย่างยิ่งครับ เพราะว่าต้นทุนในการก่อสร้างจะถูกกว่ามากและยังจะใช้ทั้งขนคนและขนของได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก  รัฐไม่จำเป็นต้องมาอุดหนุนโดยการลดราคาค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงให้ต่ำ  เพื่อดึงดูดให้คนมาใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนมีฐานะปานกลางขึ้นไป   ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐไม่ควรจะนำงบประมาณมาอุดหนุนคนกลุ่มนี้เราก็เห็นการขาดทุนของ AIRPORT RAIL LINK แล้วนะครับ จำนวนผู้โดยสารก็น้อยราคารัฐก็ต้องอุดหนุน ยอมขาดทุน เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า บทเรียนมีแล้ว อย่าให้มันซ้ำซากนะครับ นี่เป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศนะครับ ใช้กันให้คุ้มค่าหน่อยครับแต่ถ้าดื้อรั้นจะทำให้รถไฟความเร็วสูงจริงๆ ผมดูรายงานของ TDRI แล้วระบบของประเทศสเปน น่าจะคุ้มค่าที่สุด นอกจากความเร็วจะสูงสุดคือ 350 กม./ชม. แล้วต้นทุนการก่อสร้างเพียง 10 ล้าน$/กม. โดยสามารถใช้รางร่วมกับรถไฟปกติได้ด้วย


ติดตามแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
และ BLOG : http://kitichai1.blogspot.com
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หรือหน้า B10
 และนิตยสารคนรวยหุันCondo Guide, Stock Review, Me(Market Evolution), Glow และ Lisa  ทุกเดือน

                            กิติชัย เตชะงามเลิศ


วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ประโยชน์และโทษของการแข็งค่าของเงินบาท


ประโยชน์และโทษของการแข็งค่าของเงินบาท

          ไม่นานมานี้เราจะเห็นนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนหรือซื้อหุ้นในต่างประเทศคึกคักมากไม่ว่าจะเป็น คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี  ที่นำบริษัทในเครือ (TCC ASSET) เข้าไปซื้อหุ้น F&N (FRASER AND NEAVE) จนถือหุ้นถึง 90.32% F&N เป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ โดยเสนอซื้อในราคา 9.55 เหรียญสิงคโปร์ดอลล่าร์ (7.71 เหรียญสหรัฐ)/หุ้น F&N นอกจากจะมีธุรกิจเครื่องดื่มทั้ง ALCOHOL และ NON ALCOHOL แล้วยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสิ่งพิมพ์ซึ่งมีมูลค่ารวม 13,750 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (333,000 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นดีลใหญ่ที่สุด ของการเทคเวอร์ในสิงคโปร์เลยทีเดียว ซึ่งการเทคโอเวอร์ครั้งนี้ TCC ASSET ต้องแข่งขันกับคู่แข่งนานาชาติไม่ว่าจะเป็น OVERSEA UNION ENTERPRISE (OUE) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติสิงคโปร์โดยร่วมกับ KIRIN บริษัทเบียร์จากญี่ปุ่น โดยถ้าประมูลชนะได้ทาง OUE จะเอาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ KIRIN จะได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไป แต่ในที่สุด TCC ASSET ของเจ้าสัวเจริญเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด และได้ F&N ไปครอง โดยมีการขึ้นราคารับซื้อแข่งกันอยู่หลายครั้ง  ซึ่งคาดว่าคงนำมาต่อยอดกับธุรกิจในเครือซึ่งมีทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจโรงงานขวดแก้ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือได้เป็นอย่างดี
          กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) นำโดยเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เข้าซื้อหุ้นของบริษัทผิดอัน ประกันภัย 15.60% จาก HSBC ในดีลมูลค่าถึง 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (282,000 ล้านบาท) ที่ราคา 59 ดอลลาร์ฮ่องกง/หุ้น (255 บาท/หุ้น) โดยทางกลุ่ม CP ใช้เงินสดและเงินกู้จาก CHINA DEVELOPMENT BANK
          กลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ 150 ปี ของอิตาลี LA RINASCENTE ด้วยมูลค่า 260 ล้านยูโร (10,000 ล้านบาท) เมื่อ 2 ปีก่อนและล่าสุดได้ไปเทคโอเวอร์ห้างสรรพสินค้า ILLUM ประเทศเดนมาร์คซึ่งมีอายุนานกว่า 12 ปี ซึ่งอยู่ในกลางกรุงโคเปนเฮเกน ด้วยขนาดพื้นที่ 20,000 ตรม. โดยซื้อผ่านทางห้าง LA RINASCENTE
          กลุ่ม MINT เข้าซื้อ OAKS HOTELS&RESORTS (OAKS) เป็น HOTEL CHAIN ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลียโดยผ่านทางบริษัทย่อย DELICIOUS FOOD HOLDING ที่จดทะเบียนในสิงคโปร์เมื่อปี 2554
          นอกจากกลุ่มดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายธุรกิจที่เข้าไปเทคโอเวอร์ กิจการในต่างประเทศหรือซื้อหุ้นบางส่วน เช่น IVL เข้าซื้อธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในประเทศไนจีเรีย ทวีปแอฟริกา เป็นต้น
          นี่คืออานิสงค์ของค่าเงินบาทที่แข็งทำให้นักธุรกิจไทยสนใจที่จะไปเข้าซื้อกิจการทั้งที่มีปัญหาและไม่มีปัญหา  โดยใช้เงินบาทในจำนวนที่น้อยลง  ลองคิดดูสิครับเมื่อต้นปี 2552 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36 บาทกว่าๆ /ดอลลาร์ 4 ปีผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 20% เจ้าสัวธนินท์ ช่วงนี้เชียร์ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ปล่อยค่าเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกตลาด อย่าไปสู้กับอัตราแลกเปลี่ยน และแนะใช้ประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าทุนในราคาถูกลง ส่วนผู้บริโภคเอง อาจได้อานิสงค์จากการแข็งค่าของเงินบาทไม่มากนักเพราะว่าผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ  ส่วนมากมักจะไม่ลดราคาสินค้า  จากประสบการณ์ตรงของผม ครีมกันแดดยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นสินค้านำเข้า ผมใช้ต่อเนื่องมานานหลายปี ตอบค่าเงินบาทเกือบ 40 ล้านบาทกับปัจจุบันที่ต่ำกว่า 29 บาท ผมยังต้องซื้อครีมหลอดนั้นในราคาเดียวกันเลย ไม่รู้ท่านสุภาพสตรีที่นิยมของแบรนด์เนม ผมอยากทราบจริงๆ ว่ากระเป๋าถือที่ท่านซื้อ ทางร้านได้ลดราคาลงมาหรือไม่  โดยเฉพาะใบละหลายๆ แสนบาท จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ ราคาน่าจะปรับลดลงไปอย่างน้อย 30,0000-50,000 บาท
          จริงๆ แล้วผมคิดว่า ถ้ารัฐบาลจะฉวยโอกาสที่เงินบาทกำลังแข็งค่ากระตุ้นและส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ  และบริษัทเอกชน  เร่งนำเข้าเครื่องจักรใหม่  ที่ลดการใช้พลังงานและหรือลดการปล่อยมลภาวะ  โดยให้ลดหย่อยภาษีได้ 1.5-2 เท่าของราคาเครื่องจักร และขึ้นอากรขาเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อเอาไปโปะส่วนที่จะลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักร ก็น่าจะดีนะครับ
          ส่วนโทษของการแข็งค่าของเงินบาท คือ ราคาสินค้าของไทยจะดูแพงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้า และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอาจจะต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นค่าห้องพัก ถ้าโรงแรมนั้นๆ เสนอราคาเป็นเงินบาท หรือค่าใช้บริการต่างๆ ดังนั้นในภาคเอกชนจะต้องพยายามพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ให้มีต้นทุนลดลง โดยคุณภาพของสินค้าและบริการไม่ด้อยลง เพื่อให้สินค้าและบริการ แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ยิ่งถ้าสามารถพัฒนาและสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการให้เหนือกว่าคู่แข่งด้วย ก็จะสามารถต้านกระแสบาทเข็งได้เป็นอย่างดี ในระยะยาว รัฐบาลควรจะพยายามเปิดตลาดใหม่ในประเทศใหม่ๆ ที่สินค้าไทยไม่เคยเจาะตลาดเหล่านั้นมาก่อน ส่วนทางภาคเอกชนควรจะมีการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจะทำให้แข่งขันได้แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นก็ตาม
          ถ้าแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทยังมีความต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เงินทุนจากนักเก็งกำไรก็คงจะไหลเข้ามาอีกค่อนข้างมาก เพราะเขาจะได้กำไร 2 ต่อ  คือ ต่อแรกกำไรจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะว่าตอนนำเงินเข้ามาใช้เงินดอลลาร์แลกได้บาทมาก แต่พอจะถอนเงินลงทุน เขาจะใช้เงินบาทน้อยกว่าเพื่อแลกเป็นเงินดอลลาร์  และอัตราดอกเบี้ยของไทยเรายังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ หรือญี่ปุ่น กรณีเป็น YEN CARRY TRADE ส่วนผมเองก็เริ่มสนใจที่จะซื้อคอนโดที่ลอดดอน หรือย่านแมนชัดต้น ในนิวยอร์ก เพราะว่าใช้เงินบาทน้อยกว่าเมื่อหลายปีที่แล้ว  และราคาคอนโดเหล่านั้น  ราคายังฟื้นจากราคาต่ำไม่มากเกินไปนักที่ดินในเมืองที่มีจำกัด และกฎระเบียบในการสร้างอาคารสูงที่เข้มงวด น่าจะทำให้ราคาคอนโดเหล่านี้สูงขึ้น  เมื่อเศรษฐกิจของอังกฤษและอเมริกาฟื้นตัว ท่านผู้อ่านที่มีบุตรหลานกำลังจะไปศึกษาต่อในต่างประเทศอเมริกา และยุโรปลองเปลี่ยนจากการเช่าอพาร์ตเมนต์ มาเป็นซื้อคอนโดไว้อยู่อาศัยแทน พอบุตรหลานท่านจบการศึกษาใน 4 ปีข้างหน้า ผมมั่นใจว่า ท่านน่าจะขายได้กำไร 2 ต่อ คือ ต่อแรกจากราคาที่สูงขึ้น และต่อที่สองคือกำไรจากค่าเงิน ซึ่งผมคิดว่า ค่าเงินบาทน่าจะอ่อนกว่า 29.50 บาทแน่ๆ เพราะว่าภายใน 1 ปี ข้างหน้า FED คงจะถอนมาตรการ QE และธนาคารกลางประเทศอื่นๆ คงจะดำเนินการคล้ายๆ กัน


ติดตามแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
และ BLOG : http://kitichai1.blogspot.com
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หรือหน้า B10
 และนิตยสารคนรวยหุันCondo Guide, Stock Review, Me(Market Evolution), Glow และ Lisa  ทุกเดือน

                            กิติชัย เตชะงามเลิศ

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

ธุรกิจท่องเที่ยวในไทยยังจะดีต่อเนื่อง, 10/4/13


ธุรกิจท่องเที่ยวในไทยยังจะดีต่อเนื่อง

          ผมเพิ่งไปพักร้อนที่โรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่ง ริมชายหาดท้องนายปานน้อย เกาะพงัน ซึ่งหาดแห่งนี้เป็นชายหาดที่สวยงามมากหาดหนึ่งบนเกาะพงัน ผมเดินทางโดยรถทัวร์ VIP 24 ที่นั่ง เป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเกือบครึ่ง โดยรถทัวร์นี้ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ประมาณ 20.15 น. โดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเศษๆ ไปจอดแวะที่ทับสะแก เพิ่งทานอาหารเย็น (?) ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปทานอาหารเย็น (?) ที่นั่นแทนที่จะจอดแวะร้านอาหารที่ไม่ไกลจากกรุงเทพ จะได้ทานมื้อเย็นจริงๆ ไม่ดึกเกินไป พอหลังจากทานอาหารเสร็จขึ้นรถ ผู้โดยสารจะได้เตรียมตัวนอนหลับพักผ่อนได้ต่อเนื่อง แทนที่จะหลับตั้งแต่ขึ้นรถแล้วไปตื่นตอน 00.30น. เพื่อทานอาหารแล้วนอนต่อ ค่าอาหารทางบริษัททัวร์น่าจะพอหาร้านอาหารใกล้กรุงเทพในราคาค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกันได้นะครับ หลังจากทานอาหารเสร็จก็หลับยาวไปตื่นนอนเวลา 07.00 น. ที่ท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฎร์ เพื่อลงจากรถไปขึ้นเรือเพื่อไปลงที่ท่าท้องศาลา เกาะพงัน โดยใช้เวลาบนเรือประมาณ 2 ชั่วโมง พอถึงฝั่งต้องจ้างรถสองแถวในราคา 900 บาท/จากราคาที่บอกมาทีแรก 1,500 บาทสำหรับการเดินทางเพียง 45 นาที สำหรับผู้โดยสารเพียง 2 คน ดูเป็นการค้ากำไรเกินควรจริงๆ จากประสบการณ์เมืองท่องเที่ยวโดยเฉพาะทางทะเล  เช่น ภูเก็ต  สมุย พงัน ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จะแพงกว่าปกติ โรงแรมที่ผมเข้าพักเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว มีพนักงานโรงแรมที่เป็นคนต่างชาติค่อนข้างมาก ผมประมาณว่ามีถึง 30% ซึ่งทั้งหมดมาจากคน ASEAN ซึ่งมีทั้งมาจากฟิลิปปินส์ กัมพูชา พม่า ลาว ส่วนแขกที่เข้าพัก 95% เป็นคนตะวันตก คนไทย 3% คนเอเชีย 2% ผมเชื่อว่า หลังปี 2558 น่าจะเห็นคน ASEAN เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น เพราะว่าประเทศไทยขาดแคลนแรงงานค่อนข้างมาก ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยยังน่าสนใจ โดยดูได้จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นทุกปี  ธุรกิจอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว  น่าจะมีผลประกอบการดีขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนส่งทางอากาศ  ซึ่งปัจจุบันมี 2 บริษัทสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดอีก 2 บริษัทคือ นกแอร์กับบางกอกแอร์เวย์ และสายการบินเล็กๆ ที่จะเปิดขึ้นมาใหม่อีก เพื่อนของผมที่ทำธุรกิจด้านอสังหาและที่ปรึกษาทางการเงิน  ก็กำลังจะเปิดบริษัทสายการบินเล็กๆ โดยจะเริ่มต้นจากเครื่องบิน 2 ลำ บินแบบ CHARTER FLIGHT ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่หอมหวล  จากปริมาณการเดินทางที่มากขึ้นของพลเมือง ASEAN ด้วยกัน ทำให้ธุรกิจการบินโดยเฉพาะ LOW COST AIRLINE น่าจะได้รับประโยชน์มาก  แต่หลังจากรถไฟความเร็วสูง (HIGH SPEED TRAIN) สร้างเสร็จ คาดว่าจะมีผู้โดยสารจำนวนมากโดยเฉพาะเส้นทางในประเทศ  จะเปลี่ยนจากการเดินทางโดยเครื่องบินมาเป็นรถไฟความเร็วสูงแทน  ถ้าพฤติกรรมของคนไทยเราเหมือนกับชาวญี่ปุ่นและยุโรป ลองคิดดูสิครับค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยเครื่องบิน  เริ่มต้นจากค่า TAXI จากบ้านไปถึงสนามบินต้นทางบวกกับค่าตั๋วเครื่องบิน  บวกกับค่า TAXI จากสนามบินปลายทางเพื่อเข้าไปในเมือง  เมื่อเทียบกับค่ารถ TAXI จากบ้านไปสถานีรถไฟต้นทาง  บวกกับค่าตั๋วรถไฟ บวกกับค่า TAXI ไปจุดหมายปลายทาง  ซึ่งโดยปกติสถานีรถไฟจะอยู่ในเมือง ขณะที่สนามบินจะอยู่นอกเมือง  ดังนั้นค่า TAXI จะต่างกัน เมื่อคำนวณเปรียบเทียบแล้วราคาสูสีกัน  ผมเชื่อว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ซึ่งรวมทั้งผมด้วย  คงจะเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง มาใช้รถไฟความเร็วสูงแทน เพราะว่าเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ตั้งแต่ออกจากบ้านสนามบินต้นทาง (ก่อน FLIGHT อย่างน้อย 1 ชั่วโมงสำหรับการเดินทางในประเทศและ 2 ชั่วโมง สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ) สนามบินปลายทาง จุดหมายปลายทาง  เมื่อเทียบกับเดินทางโดยรถไฟซึ่งนับตั้งแต่ออกจากบ้าน สถานีรถไฟต้นทาง (แต่ไปถึงก่อนรถไฟออก 5 นาที ก็ทันถมเถแล้ว) สถานีรถไฟปลายทาง  จุดหมายปลายทาง การที่สถานีรถไฟมักอยู่ในเมืองทำให้ใช้เวลาเดินทางสั้นกว่า  นอกจากนั้น  ผู้โดยสารยังได้เห็นว่าข้างทางขณะที่เครื่องบินไม่มีเสน่ห์แบบนี้  ดังนั้นช่วง 1 ปีก่อนที่ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงทั่วประเทศไทยจะสร้างเสร็จ  ผมแนะนำว่าควรจะลดการถือครองหุ้นกลุ่มนี้ลง
          ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่คึกคัก  ก็ยังมีธุรกิจท่าอากาศยาน ธุรกิจบริการน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับสายการบิน  ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร  ธุรกิจห้างสรรพสินค้า  ธุรกิจสปา โรงพยาบาล  ซึ่งธุรกิจเกือบทั้งหมดที่ผมกล่าวถึง  ก็ล้วนแล้วแต่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  โดยธุรกิจโรงแรมบางบริษัทก็ทำธุรกิจร้านอาหารด้วย  บางบริษัทก็ทำแต่ธุรกิจโรงแรม  โดยบางบริษัทเปิดโรงแรมโดยมีแบรนด์ของตัวเอง  และรับบริหารโรงแรมให้กับเจ้าของโรงแรมอื่นๆบางบริษัทไม่มีแบรนด์ของตัวเองแต่ใช้บริการ HOTEL CHAIN MANAGEMENT ของเครือข่ายโรงแรมสากล เข้ามาบริหารโรงแรมให้หลายๆ บริษัท นอกจากจะมีโรงแรมในประเทศแล้ว ยังขยายสาขาไปยังต่างประเทศทั้งสร้างเอง บริหารเอง หรือจ้าง เช่น โรงแรมใหญ่ๆ เข้ามาบริหารให้หรือเข้าไปบริหารโรงแรมในต่างประเทศก็มี ยิ่งไปกว่านั้นยังไปเทคโอเวอร์ HOTEL CHAIN เมืองนอก ก็มีเหมือนกัน ส่วนธุรกิจร้านอาหาร นอกจากสร้างแบรนด์ของตัวเองแล้ว ยังมีการนำเข้า FRANCHE ร้านอาหารชื่อดังจากเมืองนอกโดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้บริโภคชาวไทย
          ส่วนธุรกิจห้างสรรพสินค้า  เราเริ่มเห็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วในต่างจังหวัด  ปัจจุบันจังหวัดใหญ่ๆ ล้วนมีห้างสรรพสินค้าจากกรุงเทพไปเปิดเกือบหมด ยิ่งไปกว่านั้นบางจังหวัดมีห้างสรรพสินค้าหลายๆ ห้างเสียด้วย  จาก URBANIZATION ที่ผมเขียนถึงเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเห็นนั่นคือการไปเทคโอเวอร์ห้างสรรพสินค้าในอิตาลีและเดนมาร์คของเครือเซ็นทรัล ยังต้องตัดใจขายหุ้นส่วนใหญ่ใน BIGC ให้ CASINO จากฝรั่งเศส และขายหุ้นส่วนใหญ่ใน TOPS SUPERMARKET ให้กับต่างชาติ และขายหุ้นให้ CARREFOUR ให้กับ CARREFOUR ฝรั่งเศส แต่หลังจากเศราฐกิจไทยฟื้นตัวเครือเซ็นทรัลก็ได้ซื้อ TOPS SUPERMARKET กลับมา  ดูแล้วเหมือนกับคำพังเพยว่า สมบัติผลัดกันชม จริงๆ ทางด้านธุรกิจสปาจากการไปใช้บริการค่อนข้างบ่อย ผมเริ่มสังเกตว่ามีคนต่างชาติโดยเฉพาะเขมรและลาวเข้ามาเป็น THERAPIST มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งฝีมือนวดของคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ด้อยเมื่อเทียบกับ THERAPIST คนไทยเลย สมัยก่อนเห็นแต่สปาไทยไปเปิดให้บริการที่ต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน SBA จากประเทศจีนเข้ามาเปิดให้บริการในไทย  และกำลังจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้  ส่วนธุรกิจโรงพยาบาล  น่าชื่นใจนะครับ  เรามี HOSPITAL CHAIN ที่ใหญ่ติดอันดับต้นๆ ในเอเชียแปซิฟิค เรามีหลายโรงพยาบาลที่ได้รับ JCIA แสดงถึงความเป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ  และบางโรงพยาบาลก็ไปสร้างชื่อเสียงในระดับโลกเลยทีเดียว
          อย่างไรก็ตามแม้ธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมาดูมีแนวโน้มที่ดี  แต่การที่จะตัดสินใจเข้าลงทุน ควรจะเปรียบเทียบดูมูลค่ากิจการว่า ณ ราคาปัจจุบันมีความน่าสนใจในการลงทุนมากน้อยเพียงไหน บางครั้งหุ้นที่ดีแต่แพงก็ไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุนเสมอไปนะครับ

ติดตามแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หรือหน้า B10
 และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Stock Review, Me(Market Evolution), Glow และ Lisa  ทุกเดือน

                            กิติชัย เตชะงามเลิศ