จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

เครื่องดื่มกับภาษีสุขภาพ



                                                                  เครื่องดื่มกับภาษีสุขภาพ

               สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆอยู่ชิ้นหนึ่ง ที่ผมอยากเขียนถึงมานาน นั่นคือ ข่าวที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย คัดค้านแนวคิดของรัฐที่จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มรสหวานจากน้ำตาล เพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วน และโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เป็นการเลือกปฏิบัติกับสินค้าเครื่องดื่ม ทั้งๆที่มีอาหารอื่นๆที่มีปริมาณน้ำตาลมากเช่นกัน และโรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สมดุลของตัวผู้บริโภคเอง โดยร่างกายมีการรับพลังงานเข้ามามากว่าใช้ไปในแต่ละวัน ส่วนเกินที่ว่านี้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วน
               เรามาแยกดูกันเป็นประเด็นๆครับ
               1.ภาษีสรรพสามิต ปกติจะเรียกเก็บกับสินค้าที่ก่อให้เกิดโทษกับผู้บริโภค หรือสังคมได้ เช่น รถยนต์ เวลาใช้สอยจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอน๊อกไซด์ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อสูดดมเข้าไป และก๊าซพวกนี้สามารถซึมเข้าไปในร่างกายผ่านทางผิวหนังคนเราได้ด้วย เช่นเดียวกับบุหรี่ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผู้สูบ ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิดด้วย สุราก็ทำให้เกิดตับแข็ง และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ปีๆ หนึ่งเราสูญเสียทรัพยากรบุคคลจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากการเมาสุรา ซึ่งผมเห็นด้วยกับกรมสรรพสามิตที่น่าจะเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตกับสินค้าเหล่านี้ในอัตราที่สูงขึ้นทุกปี ผมคิดว่าการขึ้น 10% ทุกๆปีจะทำให้คนไทยลดการบริโภคสินค้าที่ทำลายสุขภาพลงไปได้ในที่สุด ทำให้ประเทศชาติ และรัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่ายรวมทั้งเงินตราต่างประเทศที่จะต้องนำเข้ายารักษาโรคมารักษาพยาบาลผู้ป่วย หรือผู้ประสบเหตุเนื่องจากสินค้าเหล่านี้
               2.อาหารที่มีรสหวานจัด จากปริมาณน้ำตาลที่ใส่เข้าไปมากเกินความพอดี มีโทษต่อสุขภาพจริงหรือ จากบทความทางการแพทย์ต่างก็พิสูจน์แล้วว่า การบริโภคน้ำตาลที่เกินพอดี เป็นต้นตอของโรคหลายชนิด โดย AMERICAN HEART ASSOCIATION แนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินกว่า 36 กรัมต่อวัน สำหรับผู้ชาย  และ 24 กรัมต่อวัน สำหรับผู้หญิง ทีนี้เรามาดูปริมาณน้ำตาลในขวดชาเขียวขนาด 500 cc. ในท้องตลาดกันครับว่า ในแต่ละขวดมีปริมาณน้ำตาลเท่าไหร่กันบ้าง ผมขออนุญาตไม่ระบุยี่ห้อแต่ขอกระซิบดังๆว่าเป็นยี่ห้อยอดนิยมที่คุณรู้จักกันดี
                             
                              1.ชาเขียวน้ำผึ้งผสมมะนาว                                            มีน้ำตาล 54.50กรัม (= น้ำตาล 13.6 ช้อนชา แม่เจ้า!!)
                              2.ชาดำเลมอนไอซ์ที                                                        มีน้ำตาล 52.50 กรัม
                              3.ชาเขียวผสมเก็กฮวย และชาเขียวรสข้าวญี่ปุ่น        มีน้ำตาล 33.50 กรัม = น้ำตาล 8.3 ช้อนชา
                              4.ชาเขียวต้นตำหรับ                                                        มีน้ำตาล 31.50 กรัม
( ข้อมูลจากบล๊อกคุณกลมกลม
http://www.oknation.net/blog/Technologies-for-next/2012/09/20/entry-1 )
               นั่นหมายถึงถ้าคุณดื่มชาเขียว 2 ตัวแรก วันละขวด คุณจะได้รับน้ำตาลคิดเป็น 1.50 เท่าของน้ำตาลที่คุณสุภาพบุรุษควรทานต่อวัน และประมาณ 2.20 เท่าสำหรับคุณสุภาพสตรี ส่วนตัวที่ 3 และ 4 คุณแทบจะหมดสิทธิ์บริโภคน้ำตาลจากอาหาร และเครื่องดื่มที่เหลือภายในวันเลยทีเดียว ผมยังสงสัยมาหลายปีแล้วว่าทำไม กรมสรรพสามิตจึงไม่เก็บภาษีกับสินค้าเหล่านี้ ซึ่งควรจะรวมไปถึงเครื่องดื่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเกลือแร่ FUNCTION DRINK เครื่องดื่มอื่นๆไม่ว่าจะเป็น นมจืดรสหวานต่างๆ นมข้นหวาน โยเกิร์ตที่มีปริมาณน้ำตาลสูง โดยน่าจะกำหนดให้เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล มากกว่า 20 กรัมต่อลิตร ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ยิ่งมีน้ำตาลเยอะๆยิ่งต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ผมเชื่อว่าเริ่มแรก อาจจะมีเสียงงอแงจากผู้ผลิต แต่ในที่สุดก็จะปรับตัวกันได้ โดยคงจะทยอยออกรสชาติใหม่ๆที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยลง เพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ในเมื่อเครื่องดื่มทุกประเภทโดนเหมือนกันหมด ก็จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ การที่ผู้บริโภคจะ SWITCH เครื่องดื่มจากประเภทหนึ่งไปอีกประเภทหนึ่งก็จะไม่เกิดขึ้น สุขภาพของคนในชาติก็จะดีขึ้น ช่วยประหยัดเงินตราของชาติได้เป็นอย่างมาก
               นอกจากเครื่องดื่มแล้ว พวก SNACK ทั้งหลายที่มีปริมาณน้ำตาล และหรือเกลือที่มากเกินไป ก็เป็นตัวการทำลายสุขภาพเช่นกัน ไหนๆก็ไหนๆแล้ว กรมสรรพสามิตควรจะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับสินค้าเหล้านี้ด้วยเช่นกัน ยี่ห้อดังๆพวกมันฝรั่งทอดนี่แหละตัวดีเลย ปริมาณเกลือเกินพอดีทั้งนั้น เก็บกันแบบครบวงจรเลย รัฐเองก็จะมีรายได้จากภาษีสุขภาพเหล่านี้มากขึ้น และผมอยากให้นำภาษีนี้ไปใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนในชาติ จะได้ตรงกับวัตถุประสงค์ของภาษี
               ถ้ารัฐนำมาตรการนี้ออกมาใช้จริงๆ นักลงทุนคงต้องรีบทำการบ้านกันว่าจะกระทบหุ้นตัวไหนกันบ้าง จะได้รีบขายทิ้งก่อนที่ราคาจะตกแรงๆนะครับ


กิติชัย เตชะงามเลิศ
        2/3/59



1.หนังสือ "จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร" เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ
2.หนังสือ "ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน" แนะวิธีออมเงินเพียงเดือนละหลักพัน ก็เป็นเศรษฐี 100 ล้าน ก่อนอายุ 50 ปี!
 
      ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่

 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com และ http://money.sanook.com/kitichai/
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 
     หรือ

1.หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า A10 ในคอลัมน์ "เขียนอย่างที่คิด"  
2.หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจหน้า 15 เดือนละครั้ง ในคอลัมน์ “จับช่องลงทุน”
3.นิตยสาร Condo Guide ทุกเดือน
4.นิตยสาร คนรวยหุัน  Me(Market Evolution) และ วารสารเภตรา ทุกไตรมาส
5. http://www.amthai.co.uk เดือนละครั้ง