จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จบแล้วต้องโกง ไม่โกงน่ะสิโง่?


                                 จบแล้วต้องโกง ไม่โกงน่ะสิโง่?




        จริงๆแล้วสัปดาห์นี้ควรจะเป็นบทความเรื่อง  “ฝากเงินที่ไหนได้ดอกเบี้ยสูงสุด(ตอนจบ)”  แต่พอดีช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้วชักดาบ จนทำให้คุณครูวิภา ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในกำแพงเพชร ถูกศาลตัดสินยึดทรัพย์เนื่องจากเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้กยศ. ให้นักเรียนชั้น ม.4 และ ม.5 จำนวน 60 คน ตั้งแต่ปี 2541 แต่ปรากฎว่า ลูกศิษย์จำนวน 23 ราย ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้กับกยศ. ทำให้คุณครูผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบทั้งหมดนั้น จนนำไปสู่การฟ้องและบังคับคดีเอากับผู้ค้ำประกัน ที่ผ่านมาครูวิภาได้นำเงินไปชำระหนี้ให้กับกยศ.ตามหมายบังคับคดีแล้ว 3 คดี กระทั่งมีหมายบังคับคดียึดบ้าน และที่ดินใน จ.กำแพงเพชรอีกครั้ง โดยมีกำหนดขายทอดตลาดในเดือน ส.ค. นี้ ทำให้ครูไม่สบายใจ และเป็นกังวล เพราะ ไม่รู้ว่าจะถูกบังคับคดีอีกกี่ครั้ง และจะต้องหาเงินอีกเท่าไร จึงจะชำระหนี้แทนลูกศิษย์ครบทั้งหมด ผมอ่านข่าวเรื่องนี้แล้วรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ครูวิภาให้ข้อมูลว่า ได้เซ็นค้ำประกันหนี้ กยศ. ให้กับนักเรียนมากถึง 60 ราย

       ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักว่ากยศ.ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2539 ในสมัยท่านนายก บรรหาร ศิลปอาชา ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามากขึ้น จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 ในสมัยท่านนายก ชวน หลีกภัย มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ผู้บริหารกับช่วงหุ้นตก


                               ผู้บริหารกับช่วงหุ้นตก


          นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นมาตั้งแต่ต้นปี คงประสบผลขาดทุนจากการลงทุนกันถ้วนหน้า เนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ลงจากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 1,852.51 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 1,584.68 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน(รูปภาพที่ 4) ลงมา 267.83 จุดคิดเป็น 14.46%  ยิ่งถ้าถือหุ้นผิดตัว โดยเฉพาะหุ้นที่ลงมามากๆ ก็คงจะขาดทุนในอัตราส่วนที่มากกว่านี้  การลงมาของตลาดครั้งนี้เกิดจากการที่สหรัฐอเมริกาเริ่มลดการผ่อนคลายทางการเงิน(QE)  ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น จีน EU แคนาดา เม็กซิโก ฯลฯ  โดยเฉพาะกรณีกับประเทศจีน ได้สร้างความหวาดวิตกให้กับนักลงทุนทั่วโลก กลัวว่าจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต  ภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกจึงได้มีการปรับตัวลงพอสมควร โดยเฉพาะตลาดในประเทศเกิดใหม่

        ในช่วงที่ผ่านมานี้ ถ้าดูข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2) ซึ่งนักลงทุนสามารถจะดูรายงานดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ของกลต http://capital.sec.or.th/webapp/corp_fin2/daily59.php
จะพบว่าผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนหลายๆบริษัท ได้เข้ามาซื้อหุ้นของตัวเองเป็นจำนวนมาก  คงเพราะรู้สึกว่าราคาหุ้นของตัวเองถูกเกินไปแล้ว มีทั้งนานๆซื้อทีและซื้อค่อนข้างบ่อย ด้วยเม็ดเงินที่มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ผู้บริหารแต่ละท่านของบริษัทนั้นๆ แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมสังเกตเห็นว่า ถึงแม้ผู้บริหารจะเข้ามาซื้อหุ้นของตัวเองก็ตาม แต่หลังจากนั้นก็ยังมีหุ้นบางตัวที่ถูกซื้อไป ยังมีราคาตกลงมาต่ำกว่าที่ผู้บริหารซื้ออยู่หลายบริษัททีเดียว

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ฝากเงินที่ไหนได้ดอกเบี้ยสูงสุด(ตอนจบ)


                               ฝากเงินที่ไหนได้ดอกเบี้ยสูงสุด(ตอนจบ)


       บทความที่แล้วผมได้แสดงให้เห็นถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของประเทศไทย ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งได้เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงที่เกิดการลดค่าเงินบาทว่า สภาพเศรษฐกิจและดัชนีตลาดทรัพย์เป็นอย่างไรกันบ้าง

        ผมคิดว่า โอกาสที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอยู่ที่ 14% เหมือนกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งคงมีน้อยมาก ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ นั่นหมายถึงว่าประเทศไทยเราคงจะใกล้เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ เหมือนกับประเทศเกิดใหม่หลายประเทศในขณะนี้ ที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างเช่น อาร์เจนตินา เป็นต้น

        ช่วงสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ในขณะนั้นประเทศไทยเรามีกองทุนฟื้นฟู ที่ช่วยสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา แต่ก็ถือได้ว่าผลลัพธ์ไม่ดีเอาเสียเลย  กว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เราต้องขาย Distressed asset ไปให้กับต่างชาติในราคาที่ถูกมากๆ  และก็เป็นเวลาหลายปีเลยทีเดียว ที่คนไทยทั่วทั้งประเทศต้องจมอยู่กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การว่างงาน ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ฯลฯ  ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากปีพศ.2551 โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. คุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน

2. เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

3. ดําเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และชําระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

       ต่อมาได้มีการ ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ.2559 ซื่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป เปิดได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว(ภาพที่ 1) เป็นจำนวนดังต่อไปนี้



             ภาพที่ 1 : จำนวนเงินคุ้มครองในช่วงปี 2558 เป็นต้นไป
                  ที่มา : http://www.dpa.or.th/

         จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินคุ้มครองลดลงเรื่อยๆ คือจาก 25 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมปี 2558 จนมาถึงปัจจุบัน เหลือเพียงจำนวนเงินคุ้มครองเพียง 15 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะมีผลถึงเพียงวันที่ 10 สิงหาคม 2561 หลังจากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2562 วงเงินคุ้มครองจะเหลือเพียง 10 ล้านบาท และจะลดไปเป็น 5 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2562 จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2560 และในที่สุดจะลดวงเงินคุ้มครองเหลือเพียง 1 ล้านบาทโดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป   
       
        แต่จำนวนเงินดังกล่าว เป็นจำนวนเงินต่อ 1 บัญชีธนาคาร ดังนั้น ผู้ฝากเงินก็ยังสามารถที่จะแตกเงินฝากไปไว้ที่หลายๆสถาบันการเงิน เพื่อจะให้เงินฝากของตนได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน ปัจจุบันนี้มีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่เป็นธนาคารอยู่ 30 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์อีก 3 แห่ง

         ดังนั้นถ้าผู้ฝากมีเงินฝากอยู่เป็นจำนวนเงิน 350 ล้านบาท ต้องการที่จะฝากเงินเป็นระยะเวลา 1 ปี ก็สามารถแบ่งเงินฝาก เป็นบัญชีละ 10 ล้านบาท มาฝากถาบันการเงินทั้ง 35 แห่ง ก็จะทำให้จำนวนเงินฝากทั้งหมดได้รับการคุ้มครอง โดยสามารถดูรายชื่อสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้จากเว็บไซต์ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก http://www.dpa.or.th/

ฝากเงินที่ไหนได้ดอกเบี้ยสูงสุด(ตอนที่ 1)


                              ฝากเงินที่ไหนได้ดอกเบี้ยสูงสุด(ตอนที่ 1)



       ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสถาบันการเงินของไทย จากรูปภาพที่ 1 ที่ผมได้มาจากเว็บไซต์ https://tradingeconomics.com/thailand/deposit-interest-rate

             

                                   ภาพที่ 1 : อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของประเทศไทยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา
        
          ในภาพนี้แสดงให้เห็นว่าช่วงระหว่างปีค.ศ.1990-1991(พ.ศ.2533-2534) ช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของประเทศไทย เคยขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 14% ต่อปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สมัยที่ประเทศไทยเรามีนายกที่ชื่อว่า พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ(4/8/2531 - 23/2/2534) ซึ่งต่อมาก็ถูกปฏิวัติโดยคณะปฏิวัติ ที่มีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534 แล้วคณะปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาล ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี(2/3/2534 - 7/4/2535) ขึ้นมาปกครองประเทศเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534) สมัยท่านนายกชาติชาย เป็นช่วงที่เงินสะพัดมาก และผมคิดว่าเป็นช่วงที่มีเงินสะพัดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ธุรกิจต่างๆต้องการขยายกำลังการผลิต และมีการเก็งกำไรกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ มีการสร้างสนามกอล์ฟ อาคารสำนักงาน คอนโดที่อยู่อาศัย มากกว่าความต้องการใช้งานจริงๆ หลังจาก เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปีพศ. 2540 ในสมัยที่ท่านพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี(25/11/2539 - 9/2/2540) โดยมี ดร.ทนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีคลัง ซึ่งได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐที่เคยอยู่แถวๆ 25 บาท ได้อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว โดยช่วงที่อ่อนตัวมากที่สุดอยู่ที่ 56.75 บาท เมื่อปี 2540(ตามภาพที่ 2)

      

                                                                 ภาพที่ 2 : ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ช่วงระหว่างปี1997-2018
                                                                 ภาพจาก : www.investing.com

         ในสมัยนั้น สนามกอล์ฟแทบจะร้าง นักกอล์ฟหายไปเป็นจำนวนมาก เพราะมีหลายๆบริษัท ห้างร้าน หรือกิจการต่างๆ ที่ต้องปิดตัวลงไป พนักงานถูกเลย์ออฟเป็นจำนวนมาก หลายๆอาคารกลายเป็นอาคารร้าง เพราะว่าคนที่จองซื้อคอนโด หรือซื้อสมาชิกสนามกอล์ฟ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มนักเก็งกำไรเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อฟองสบู่แตก จึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น

         จากรูปภาพที่ 3 แสดงให้เห็นว่า มีการเก็งกำไรในตลาดหุ้นเป็นอย่างมาก ช่วงนั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไต่ระตับจาก 243.97 ในเดือนธันวาคม ปีพศ.2530 วิ่งไปทำจุดสูงสุดที่ 1,143.78 ในเดือนกรกฎาคม ปีพศ. 2533 เท่ากับว่าขึ้นมาถึง 899.81 จุด หรือคิดเป็น 368.82%โดยใช้เวลาเพียง 2 ปีกับ 7 เดือนเท่านั้น หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 142.79% ในช่วงเวลานั้นนักลงทุนและนักเก็งกำไรอู้ฟู่กันถ้วนหน้า เห็นอย่างนี้แล้ว ฟองสบู่จะไม่แตกได้อย่างไรครับ ซึ่งเห็นได้ว่าหลังจากที่ไปทำจุดสูงสุดดังกล่าวแล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็หล่นลงมาอย่างแรง โดยลงไปจุดต่ำสุดที่ 544.30 จุดในเดือนพฤศจิกายน ปีพศ.2533  โดยลงไปถึง 599.48 จุด หรือคิดเป็น 52.41 % ภายในเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรก็ล้วนแต่จะกระอักเลือดตายกันทั้งนั้น
                      

                                                              ภาพที่ 3 : ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2530 ถึง 2533

       ถ้าเทียบกับช่วงปัจจุบันซึ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ลงจากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 1,852.51 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,584.68 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน(รูปภาพที่ 4) ลงมา 267.83 จุดคิดเป็น 14.46% ภายในเวลาประมาณ 4 เดือนเท่ากัน ถือได้ว่าช่วงปัจจุบันนี้เป็นการลงที่น้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงสมัยก่อน เป็นโชคดีของนักลงทุนรุ่นหลังๆ ที่ยังไม่เคยเจอการลงแบบมหาโหดเหมือนกับนักลงทุนรุ่นก่อนๆ

                  

                                                       ภาพที่ 4 : ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ช่วงต้นปี 2561 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561

              ยังไม่ได้เข้าถึงเรื่องการฝากดอกเบี้ย ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด เนื้อที่ก็หมดแล้วมาติดตามอ่านกันในสัปดาห์หน้าครับ




กิติชัย เตชะงามเลิศ



       ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยกรอกอีเมลของท่าน ในช่องใต้ Follow by Email ทางด้านขวามือ เมื่อมีบทความใหม่ๆ ก็จะมีการส่งอีเมลแจ้งเตือนให้ท่านทราบ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความดีๆกันนะครับ



ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่


      หรือ 1.หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 ในคอลัมน์ "เขียนอย่างที่คิด"   
              2.วารสารเภตรา ของสมาคมศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ จุลสารเตชะสาร ของสมาคมเตชะสัมพันธ์ ทุกไตรมาส




ห้องที่จะขายดาวน์(เข้าอยู่ได้เลย)
     ห้อง 2 นอน 1 น้ำ  43.5 ตารางเมตร ไม่ติดลิฟท์และห้องขยะ ไม่โดนบล็อควิว เฟอร์นิเจอร์ครบครัน ตกแต่งสวยมาก ราคา 7,000,000 บาท ดู VDO ที่  https://youtu.be/71DIiM0m4tM

สามารถดาวน์โหลดรูปภาพและวีดีโอทั้งหมดของ อัลทีจูด ดีไฟน์ สามย่าน(Altitude Define Samyan) ได้ที่ https://www.dropbox.com/sh/yydb77yvmhk1926/AAAOykYkVdsXAVOanCti6x0aa?dl=0

          อาคารชุด 8 ชั้น และชั้นใต้ดิน ลึก 3 ระดับ 59 ห้องชุด ที่จอดรถ  59 คัน คิดเป็น 100 % บนที่ดิน 218 ตารางวา

พื้นที่ส่วนกลาง : สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะ ห้องสมุด ซาวน่า และ สปอร์ตคลับ / ฟิตเนส


Altitude Define Samyan, 2 best units(2B1B & 1B1B), only 200 m. from MRT-Samyan and 600 m. from BTS-Saladang.


Down payment sales:

        Unit 2B1B, 43.5 SQM., fully furnished with well decoration, only 7,000,000.
                         https://youtu.be/71DIiM0m4tM

There r only 59 units with 100% car park. Expected ready to move in now.

U can download all of Altitude Define Samyans photo & VDO from https://www.dropbox.com/sh/yydb77yvmhk1926/AAAOykYkVdsXAVOanCti6x0aa?dl=0
หรือ https://photos.app.goo.gl/S9Xu3oX6YJj13f4i9

ตลาดให้เช่าที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย



              ตลาดให้เช่าที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย
         

          ผมได้อ่านรายงานของ CBRE เกี่ยวกับเรื่องตลาดให้เช่าที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย รู้สึกว่าน่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่าน โดยเนื้อหาของบทความนี้มีดังนี้ครับ

          มีผู้ลงทุนมากมายที่ลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อให้เช่า เพื่อหวังรายรับคงที่และผลกำไรส่วนต่างจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และหรือเพื่อที่จะได้รับค่าเช่าที่ดีที่สุดและหาผู้เช่าง่าย  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้เช่าว่า ผู้เช่าเป็นใคร, ต้องการเช่าที่ไหน, สิ่งที่ต้องการคืออะไร และมีงบเช่าที่อยู่อาศัยเท่าไร

          ผู้เช่าในตลาดเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ระดับสูงคือผู้เช่าซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย และ ระดับรองลงมาคือ ผู้เช่าที่สามารถเช่าได้ในวงเงินโดยส่วนใหญ่ไม่เกิน 10,000 บาท ได้แก่คนไทยที่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัย หรือต้องการเช่าในระยะเวลาสั้นๆ ได้แก่ นักศึกษามหาวิทยาลัย    ตลาดให้เช่าที่อยู่อาศัยในตัวเมืองสำหรับความต้องการเช่าที่อยู่อาศัยของคนไทยมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับความต้องการที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ของชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทยเพียง 2-3 ปี ที่ต้องการจะเช่ามากกว่าจะซื้อที่อยู่อาศัยแบบถาวร

          ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา บรรดาชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ส่วนใหญ่ต้องการอาศัยเพียงบางจุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ บริเวณสุขุมวิทซอย 1-63, บริเวณลุมพินี และบางส่วนของสาธร โดยบริเวณอยู่อาศัยที่หนาแน่นเป็นจำนวนมากได้แก่ สุขุมวิทบริเวณ พร้อมพงศ์ และทองหล่อ, ลุมพินี, ศาลาแดง และนางลิ้นจี่ในเขตสาธร   บริเวณสุขุมวิทยังคงเป็นที่ตั้งที่นิยมอาศัยกันมากที่สุด เพราะพร้อมพรั่งไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ได้แก่ รถไฟฟ้า BTS, ร้านค้า, โรงพยาบาล, โรงเรียนนานาชาติ และภัตตาคารหลากหลาย  ผู้เช่าต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันพิจารณาเช่าในบริเวณรอบสุขุมวิทที่ไกลออกไปถึงเอกมัยและอ่อนนุช

          ชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 87,000 คน ด้วยอัตราการเพิ่มจำนวน 2.8%ต่อปี ชาวญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นผู้เช่าอาศัยที่มีจำนวนสูงสุดมากกว่า 25% แต่ใน 4 เดือนแรกของปี 2018 ได้ลดจำนวนลงเหลือเพียง 21.2% ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนชาวจีนที่มาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา  และกลายเป็นชาวต่างชาติที่มีจำนวนมาก เป็นอันดับสองของชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย โดยปัจจุบันคิดเป็น 13.9% ของชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย