จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เพียงคุณออมแบบผมทุกเดือนๆละ 8,333 บาทผ่านไป 30 ปีคุณจะกลายเป็นเศรษฐี 100 ล้านแบบง่ายๆ

                                                        

-มายเซ็ตในด้านการออมเงินของคนส่วนใหญ่ผิดหมด นั่นคือสาเหตุที่คนส่วนใหญ่พอแก่ตัวลงกลับมีเงินออมไม่พอดูแลตนเองและลูกหลาน
-และเพียงคุณออมทุกเดือนๆละ 8,333 บาท แล้วเอาไปฝากธนาคารโดยไม่มีการถอนทั้งต้นและดอก ผ่านไป 30 ปีคุณจะได้เงินรวม 4,822,958 บาท แต่ถ้าคุณนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาดได้ผลตอบแทน 20%/ปี ผ่านไป 30 ปีเงินรวมจะเป็นตัวเลขที่ทำให้คุณช็อกได้ ลองทายดูสิครับว่าจะเป็นเท่าไร ผมบอกใบ้ว่าคุณจะกลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านและเกษียณก่อนเพื่อนคุณเป็น 10 ปี
-ผมกลุ้มใจมากเมื่อเห็นคนซื้อเครื่องสำอางหรือทัวร์เงินผ่อน มันจำเป็นขนาดนั้นเชียวหรือ ผมมีวิธืให้คุณได้เที่ยวฟรีแถมได้เงินใช้ด้วย โบราณว่าไว้"อดเปรี้ยวไว้กินหวาน"ไม่เคยเชยเลยในสายตาผม
-การเปลี่ยนมือถือเมื่อมีรุ่นใหม่ ควรมีใครสักคนออกมารณรงค์เปลี่ยนมายเซ็ตของเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ บางคนใช้งานเพียง 30% ของสมรรถภาพของเครื่องเท่านั้นเสียด้วยซ้ำ
-ทำไมวัฒนธรรมดีๆของฝรั่งที่ให้บุตรหลานไปทำงานช่วงซัมเมอร์แต่คนไทยกลับส่งลูกไปเรียนซัมเมอร์คอร์ส หรือปล่อยเด็กไปเดินเล่นตามห้างหรือเล่นเกมส์ เด็กไทยถึงเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ความอดทนต่ำ เลี้ยงลูกเป็นฮ่องเต้ ฮองเฮาไปหมด พ่อแม่โอ๋ลูกมากเกินไปเป็นการฆ่าลูกทางอ้อม ทำให้ลูกมีภูมิต้านทานต่ำ วัฒนธรรมแย่ๆของฝรั่ง เรากลับเอามาใช้กันจัง เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย คุณรู้ไหมว่าผมเริ่มทำงานเลี้ยงดูและส่งเสียตัวเองตั้งแต่อายุ 12 ปี มันทำให้ผมรู้คุณค่าของเงินเป็นอย่างดี
-หลายคนมักคิดว่าเวลาไม่มีค่า เดี๋ยวพรุ่งนี้พระเจ้าก็ประทานเวลามาให้อีก ลองไปถามคนที่ไปสนามบินไม่ทัน ต้องตกเครื่องดู ว่าเพียงแค่เศษเสี้ยวนาทีนั้นมีค่าเพียงไหน ผมใช้รถไฟฟ้าทำให้ผมประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย แถมยังใช้เวลาบนรถอ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้ แค่อ่านวันละ 40 นาที(นั่งไปและกลับ) ปีหนึ่งจะอ่านได้กี่เล่มคุณลองคิดดู การอ่านหนังสือเป็นการเติมความรู้ที่ถูกที่สุด ผมเป็นได้อย่างทุกวันนี้เพราะผมรักการอ่าน หนังสือเล่มละ 165 บาท คุณอ่านปีละ 20 เล่มเพิ่งจะเป็นเงิน 3,300 บาท แต่ความรู้ที่คุณได้นั้นมหาศาลนัก เรามาช่วยกันลบค่าเฉลี่ยที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละแค่ 6 บรรทัดเท่านั้นกันครับ
-ความใฝ่ฝันของคนที่เริ่มทำงานคือการมีรถสักคันซึ่งเป็นค่านิยมที่ผิด คุณรู้ไหมว่าค่าใช้จ่ายของการมีรถซิตี้คาร์สักคันตกปีละประมาณ 200,000 บาท เชื่อหรือไม่?
ผมมีเงินขนาดนี้ผมยังไม่ใช้รถเลย ผมไม่นิยมซื้อสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่า แต่ผมจะซื้อแต่สินทรัพย์ที่ทวีมูลค่าเท่านั้น รถอ่านออกเสียงเหมือนลดอยู่แล้ว ซื้อปุ๊บขาดทุนปั๊ป ซื้อคอนโดในเมืองดีกว่า(ห้องที่ผมอยู่ในปัจจุบัน ผมซื้อมาเพียง7.80 ล้านบาท ปัจจุบันราคาไต่ขึ้นไปเกือบ 20 ล้านบาทแล้ว กำไรทั้งอยู่ และกำไรถ้าคิดจะขาย) การอยู่คอนโดในเมืองทำให้คุณมีเวลามากขึ้นวันละ 2-3ชั่วโมง ปีหนึ่งเป็นกี่ชั่วโมงคุณลองคำนวณดู คุณไม่รู้สึกเสียดายเวลาเหล่านี้เลยเหรอ ถ้าคุณเอาเวลาที่ประหยัดได้ไปทำอาชีพเสริมโดยอาศัยความชอบหรือความถนัดส่วนตัว คุณจะรวยเร็วกว่าคนอื่น บางท่านคิดว่าเป็นเรื่องไกลเกินฝัน ผมจะบอกให้ว่า คนมีเงินเดือน 15,000 บาทก็สามารถเป็นเจ้าของคอนโดย่านสุขุมวิทได
-คนไทยหลายคนยังใช้บัตรเครดิตด้วยวิธีผิดๆ โดยเฉพาะพวกที่ไม่ชำระเต็ม คุณไม่รู้หรือว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตมันแพงขนาดไหน ผมเป็นคนหนึ่งที่พกบัตรเครดิตเป็น 10ใบแล้วเลือกใช้อย่างถูกวิธี ปีหนึ่งๆนอกจากจ่ายเงินช้าลง ผลประโยชน์ที่ได้จากบัตรเป็นหลักแสน
-กลับมาเรื่องการใช้สินเชื่อ ผมสนับสนุน ผมเองก็ใช้ แต่จะต้องใช้กับสินทรัพย์ที่ทวีมูลค่าเช่นคอนโด เป็นต้น ห้ามใช้กับสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่าโดยเด็ดขาด ซึ่งดอกเบี้ยกู้ซื้อคอนโดก็ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นเสียด้วย เป็นการเร่งความรวยของผมอีกวิธีหนึ่ง

        สิ่งที่ผมพูดมา คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ"ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน"ซึ่งวางจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปแล้วครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          20/08/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
     


วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจ Health Care ดีจริงหรือ (ตอนที่ 3)

ธุรกิจ Health Care ดีจริงหรือ (ตอนที่ 3)

          จากสัดส่วนประชากรของไทยเราที่มีจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี เกิน 10% ไปหลายปีก่อนแล้ว และคาดว่าจะมีคนไทยที่มีอายุเกิน 60 ปีเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดในเวลาอีก 10 ปีนับจากนี้  นั่นหมายถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยเหล่านี้น่าจะมีอนาคตที่สดใสตามไปด้วย เท่าที่ผมคิดดูธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงค์มีดังต่อไปนี้
1) ธุรกิจประกันชีวิต แน่นอนฐานอายุเฉลี่ยของประชากรที่สูงขึ้น ย่อมทำให้ความต้องการที่จะทำประกันชีวิตเพื่อความมั่นคงของชีวิตมากขึ้น จำนวนคนไทยที่ทำประกันชีวิตยังมีเพียง 33% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่ทำประกันชีวิตมากกว่า 100% (บางคนทำประกันชีวิตมากกว่า 1 กรมธรรม์) ดังนั้นโอกาสเติบโตยังมีอีกสูงมาก แต่น่าเสียดายที่บริษัทประกันชีวิตที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีเพียง 3 บริษัท ซึ่ง 1 บริษัทกำลังจะออกตลาดหลักทรัพย์ ตามนโยบายของธนาคารที่เป็นบริษัทแม่ผมอยากให้คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับและดูแลทั้งบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต นอกจากบังคับให้บริษัทประกันเหล่านี้เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) อย่างที่เป็นอยู่แล้ว น่าจะผลักดันให้ทุกบริษัทต้องเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีนับจากนี้ เพราะว่าการเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนทำให้ต้องทำงบการเงินที่โปร่งใส ต้องมีการตั้งกรรมการอิสระที่ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ เพราะว่าบริษัทประกันเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเงินออมระยะยาวและการคุ้มครองผู้ถือกรมธรรม์เป็นจำนวนมาก ถ้ามีความไม่มั่นคง ไม่โปร่งใส ผลกระทบย่อมเกิดในวงกว้างเป็นแน่ ถึงแม้คปภ. จะมีการกำกับดูแลที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าได้หน่วยงานอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์และกลต. ช่วยกำกับดูแลเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้ถือกรมธรรม์
2) ธุรกิจ Health Care ซึ่งพอจะแบ่งเป็น 4 ประเภทได้ดังนี้
2.1) ธุรกิจยาและอาหารเสริม ซึ่งประเทศไทยเรายังมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนายาของเราเองยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว โดยธุรกิจนี้ในต่างประเทศ หุ้นกลุ่มนี้จะซื้อขายกันที่ P/E เฉลี่ยประมาณ 16-17% แต่บางช่วงก็ขึ้นไปถึงเกือบ 40 เท่า แต่ช่วงที่เกิด Hamburger crisis ก็เคยเห็นซื้อขายกันที่ P/E ต่ำกว่า 10 เท่ามาแล้วในบ้านเรา ดูเหมือนมีอยู่บริษัทหนึ่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ทำธุรกิจที่พออนุโลมเข้ามาในหมวดนี้ได้เช่นกัน
2.2) ธุรกิจ BIO TECH ไทยเรายังล้าหลังสิงคโปร์มาก ปัจจุบันสิงคโปร์ พัฒนาประเทศโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรม BIO TECH ซึ่งผมมองว่าเขาฉลาดและมาถูกทางแล้ว หุ้นกลุ่มนี้ซื้อขายกันในตลาดโลกที่ P/E เฉลี่ย 25-27 เท่า บางช่วงเคยขึ้นไปซื้อขายกันที่ P/E 70 กว่าเท่าด้วยซ้ำไป ตอน Hamburger crisis เคยหล่นไปซื้อขายกันที่ P/E ประมาณ 12 เท่า ส่วนในเมืองไทยผมยังไม่เห็นว่า มีบริษัทไหนที่พอจะเข้าข่ายธุรกิจนี้ได้เลยในตลาดหุ้นบ้านเรา
2.3) ธุรกิจ Health care equipment ก็เป็นธุรกิจที่เป็นดาวเด่นเช่นกัน ถึงแม้จะเป็นรอง BIO TECH อยู่บ้าง ธุรกิจเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์และอนามัย ในตลาดหุ้นโลก หุ้นกลุ่มนี้ซื้อขายกันที่ P/E เฉลี่ยประมาณ 22 เท่า ตอนตลาดบูมๆ เคยซื้อขายกันที่ P/E มากกว่า 40 เท่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นฟุบ เคยหล่นลงไปซื้อขายกันที่ P/E 12 เท่า ส่วนตลาดหุ้นไทยก็มีบางบริษัทเข้าข่ายสามารถจัดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ แต่ธุรกิจนี้ในบ้านเรา ยังมีความสามารถผลิตแต่อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่เป็น LOW TECH เท่านั้น ส่วน HIGH TECH ยังต้องนำเข้าอยู่ ผมมองว่ารัฐบาลน่าจะส่งเสริมธุรกิจนี้ โดยให้ BOI ออกมาตรการส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติต่างๆ มาลงทุน ทำโรงงานผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์เหล่านี้ เพราะว่าเราเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์อยู่แล้ว รวมทั้งเรามีฐานการผลิตในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว ในเมื่อเรากำลังจะมี AEC ในปลายปีหน้าแล้ว ฐานประชากรรวมของประเทศในกลุ่ม ASEAN 600กว่าล้านคน นับเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและอินเดียเท่านั้น และอำนาจในการซื้อของคนใน ASEAN ก็สูงกว่าคนจีนและอินเดีย สิ่งที่ควรจะบังคับบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ก็คือต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตให้กับเราด้วย อย่าให้เหมือนกับธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ที่เราได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีน้อยมาก ดูอย่างจีนสิครับ จีนสามารถที่จะบังคับ SIEMENS ให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตรถไฟความเร็วสูง จนปัจจุบันจีนสามารถที่จะผลิตรถไฟดังกล่าวได้เองแล้ว
เนื้อที่หมดแล้วมาต่อธุรกิจ Health Care ตัวต่อไปตัวต่อไปในสัปดาห์หน้ากันนะครับ

ธุรกิจ Health care ดีจริงหรือ? (ตอนที่ 1) : http://kitichai1.blogspot.com/2014/07/health-care-1.html

ธุรกิจ Health care ดีจริงหรือ? (ตอนที่ 2) : http://kitichai1.blogspot.com/2014/08/health-care-2.html

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          20/08/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
     

หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่  http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty


วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจ Health care ดีจริงหรือ (ตอนที่ 2)

ธุรกิจ Health care ดีจริงหรือ (ตอนที่ 2)

          สัปดาห์นี้ เรามาพูดถึงธุรกิจ Health care ต่อจาก 2 สัปดาห์ที่แล้วกันครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่พลาดบทความ “ธุรกิจ Health care ดีจริงหรือตอนที่ 1” ท่านอาจจะอ่านได้จาก Blog ของผมที่ http://kitichai1.blogspot.com เพื่อความต่อเนื่องและความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น จากตอนที่ 1 ผมพูดถึง ภาพรวมของประชากรโลกที่มีอายุ 60-65 ปีขึ้นไป รวมทั้งแนวโน้มว่าในอนาคต สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับพลเมืองโลกทั้งหมด  ดูๆ แล้วน่าจะเป็นปัญหาหนักใจกับหลายๆ ประเทศเลยทีเดียว รวมทั้งประเทศไทยเรา ซึ่งปัจจุบันก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้วเมื่อหลายปีที่แล้ว คือมีคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และอีกไม่ถึง 10 ปี เราก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ นั่นหมายถึงจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของจำนวนคนไทยทั้งหมด จากบทวิจัยเรื่อง “ความต้องการแรงงานต่างด้าวสำหรับสังคมสูงวัย” ที่คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำไว้ พบว่าในปี พ.ศ.2573 หรืออีกเพียง 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องมีการนำเช้าแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือ สูงถึง 9.14 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 10%  ของประชากรไทยในขณะนั้น เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน ซึ่งจะทำให้ GDP ของไทยยังคงมีการเติบโตในระดับอัตราประมาณ 4% ต่อปี แต่ GDP ต่อหัวจะเติบโตติดลบร่วม 1% เนื่องจากฐานประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าประเทศไทยไม่มีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติดังกล่าว GDP ของไทยจะติดลบถึง 7% และ GDP ต่อหัวจะติดลบ 8% ดูๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมากถึงแม้จะมีผลดีในด้านการเจริญเติบโตของประเทศและเป็นการลดต้นทุนค่าจ้างของภาคเอกชน เนื่องจากค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงคนไทย แต่ข้อเสียคือจะทำให้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาของบริษัทที่จ้างแรงงานเหล่านี้จะลดลงประมาณ 4% และทำให้ไม่ค่อยสนใจเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงแรงงานชั่วคราวเท่านั้น นอกจากนั้นปัญหาสังคมก็จะติดตามมาเป็นแน่ เราเห็นข่าวแรงงานต่างด้าวฆ่านายจ้างอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ก็แตกต่างจากของไทยเรา การลดปัญหาด้านหนึ่งก็อาจจะสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่ง นั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ถึงแม้ประเทศญีปุ่นที่ประสบปัญหาสังคมผู้สูงวัย ก่อนประเทศไทยเราตั้งนาน แต่ก็ยังไม่เปิดประเทศรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน เหตุผลส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะเป็นประเทศที่มีความเป็นเชื้อชาตินิยมอย่างสูง ผมคิดว่าการเพิ่มอายุจาก 60 ปีเป็น 66 ปี ถึงจะเกษียณ น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี เสมือนกับเรามีแรงงานเพิ่มขึ้นจากปกติทุกปี และบุคลากรเหล่านี้เปรียบเสมือน “ขิงแก่” ที่บ่มเพาะความรู้และประสบการณ์ในทำงานมาอย่างช่ำชอง และถึงแม้จะทำงานจนถึงอายุ 66 ปีแล้ว หลังจากนั้นยังอาจให้เป็นที่ปรึกษาของบริษัทต่อไปได้อีก เนื่องจากปัจจุบันอายุขัยของประชากรไทยมากขึ้น เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ แต่อยากให้เป็นแบบสมัครใจ ในการที่ผู้สูงอายุจะเลือกที่จะทำงานต่อหรือไม่เมื่ออายุครบ 60 ปี เพราะว่าหลายๆ ท่านก็ไม่อยากที่จะทำงานต่อ อยากจะเดินทางท่องเที่ยว อยากใช้เงินที่หามาเกือบชั่วชีวิต  หรืออยากจะเลี้ยงหลานที่บ้าน แต่จากประสบการณ์ของผมพบว่า คนที่เกษียณงานใหม่ๆ จะรู้สึกมีความสุขมากที่ไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน แต่พอไม่ได้ทำงานไปสักพัก จะเริ่มรู้สึกเหงา วันๆ ไม่รู้จะทำอะไร หลายๆ ท่านอยากกลับไปทำงานเหมือนเดิม โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งสูงๆ ไม่ว่าจะทางราชการหรือบริษัทเอกชนใหญ่ๆ เนื้อที่บทความใกล้หมดสงสัยคงต้องไปต่อตอนที่ 3 ในสัปดาห์หน้า แต่ก่อนที่จะจบบทความนี้ ผมยังมองว่า SET INDEX น่าจะมีการปรับตัวลงในครึ่งหลังของเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีแนวรับที่แข็งแกร่งบริเวณ 1,450 จุด แต่ถ้าผลประกอบการหลังประกาศไตรมาส 2 ออกมา แล้วทำให้เหล่านักวิเคราะห์มีการปรับคาดการณ์ผลประกอบการปีหน้าดีขึ้น กอรปกับหน้าตาของคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะประกาศในเดือนนี้ ดูแล้วประทับใจนักลงทุน เราอาจจะไม่เห็นตลาดหุ้นลงมาถึง 1,450 จุดก็เป็นได้ เพราะว่านักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างก็มองข้ามช็อตไปถึงผลประกอบการปีหน้ากันแล้วครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          13/08/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
     



วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ถึงเวลาต้องปฏิรูปภาษีแล้ว

ถึงเวลาต้องปฏิรูปภาษีแล้ว

          สัปดาห์นี้คราวแรกว่าจะมาเขียนถึงเรื่องธุรกิจ Health care ดีจริงหรือ ตอนที่ 2 แต่เห็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องการรีดภาษีของหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงการคลัง แล้วผมอยากจะแสดงความเห็นบ้าง จึงต้องขอยกยอดเรื่อง Health care ไปเป็นสัปดาห์หน้า ผมขออนุญาตสรุปคร่าวๆ ว่าจะมีการถอนขนห่านรีดภาษีครั้งใหญ่อะไรบ้าง
(1) กรมสรรพากร มีแนวโน้มจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% ซึ่งคาดว่าสามารถเรียกเก็บภาษีได้เพิ่มปีละ 1.5 แสนล้านบาท
(2) กรมสรรพากรเรียกบริษัทตรวจสอบบัญชีมากำชับให้ทำบัญชีให้ถูกต้อง และขอความร่วมมือให้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 20% และกำลังขออำนาจให้พนักงานสอบสวนกรณีทุจริตภาษีสามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องส่งเรื่องฟ้องศาลและขออำนาจศาล หรือขออำนาจ ปปง. ในการอายัดทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้องในการทุจริต
(3) กำลังแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเสียภาษีของคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี โดยจะบังคับให้ลงรายได้เป็นรายได้บุคคลด้วย แม้จะลงเป็นรายได้คณะบุคคลแล้วก็ตาม
(4) กรมสรรพสามิตเตรียมที่จะเรียกเก็บภาษีน้ำมันดีเซลเป็น 5.31 บาท/ลิตร คาดว่าจะได้ภาษีเพิ่มปีละ 1 แสนล้านบาท
(5) กรมสรรพสามิตจะเรียกเก็บภาษีชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มผสมน้ำตาล โดยถือว่าเป็นเครื่องดื่มทำลายสุขภาพ คาดว่าจะอยู่ที่ 10-20% ของมูลค่า ซึ่งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมชาเขียวบางรายได้ออกมาเรียกร้องให้กรมสรรพสามิต ถ้าจะมีการจัดเก็บ ก็ขอให้เก็บภาษีตามบัญชีแนบท้ายทั้ง 111 รายการ ไม่ควรเรียกเก็บเฉพาะรายการใดรายการหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากเป็นสินค้าที่พอจะทดแทนกันได้
(6) กรมสรรพามิตจะเรียกเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม กับธุรกิจที่ทำให้เกิดมลพิษต่างๆ
(7) กระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI เพราะว่าได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาที่ 20% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเป็นอันดับสองใน ASEAN รองจากสิงคโปร์เท่านั้น จึงมีหลายๆ ธุรกิจที่รีบมาขอ BOI เพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเดิมที่สูง เราจึงเห็นตัวเลขของ BOI ที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
(8) กระทรวงการคลังจะมีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ คือ ภาษีมรดก และภาษีที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชน สร้างความเป็นธรรมและสร้างรายได้ให้แก่รัฐ
ในด้านภาษีมรดก ยังมีปัญหาว่าจะเรียกเก็บทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศได้อย่างไร เพราะเป็นการยากที่จะเข้าไปตรวจสอบ  ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทางกระทรวงการคลังต้องการใช้ทดแทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน ที่จัดเก็บได้น้อย และมีความเหลื่อมล้ำ โดยภาษีตัวใหม่จะใช้ราคาประเมินของกรมธนรักษ์ ซึ่งต้องติดตามว่าในที่สุดจะคลอดได้หรือไม่และถ้าคลอดอัตราภาษีที่ใช้สำหรับเพื่อการพาณิชย์ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อการเกษตรและที่ดินรกร้าง จะเป็นอย่างไร
อันที่จริง ผมว่ากรมสรรากรควรจะเรียกเก็บภาษีกับกลุ่มฐานรายได้อื่นๆ เช่น กลุ่มรถเข็นแผงลอย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เอาเปรียบสังคมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าเบียดเบียนพื้นที่บาทวิถี วางขายของตามอำเภอใจ จนแทบจะไม่เหลือทางเดินให้คนเดินถนนเลย ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมถึงได้มีการปล่อยปละละเลยกันได้ถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะยามค่ำคืนบริเวณสยามสแควร์ด้านติดถนนพระราม 1 หรือบริเวณแยกอโศก-สุขุมวิทตรงปากซอยคาวบอย ซึ่งเปิดเป็นบาร์เบียร์โจ่งครึ่มถึงตี 2 ตี 3 เปิดเพลงเสียงดัง มอเตอร์ไซต์จอดบนฟุตบาทจนแทบไม่เหลือทางเดินรถ Taxi จอดซ้อนคัน ทำให้จราจรย่านอโศกแม้จะเป็นยามค่ำคืน ก็ยังติดขัด ผมมีคำถามที่อยากให้กทม.ตอบ ว่าทำไมบน Sky walk และบริเวณนอกชานชาลาของสถานีรถไฟฟ้า BTS ถึงไม่มีหาบเร่แผงลอย ผมเคยสังเกตเห็นหลายครั้งว่าเมื่อจะมีพ่อค้าแม่ค้าแอบเอาของมาขายก็จะถูกเจ้าหน้าที่รปภ.เข้ามาห้ามขายทันที แต่ทำไมเทศกิจจึงได้ปล่อยปละละเลยได้ขนาดนี้ครับ หรือว่ามีผลประโยชน์จากส่วยบังตา แล้วพอพวกพ่อค้าเหล่านี้ขายต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็มีความรู้สึกว่าบาทวิถีเป็นที่ทำกินของตน ไม่มีความคิดเลยว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หลายๆ รายมียอดขายในแต่ละวันไม่ใช่น้อย ผมขอยกตัวอย่างรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 40-50 บาทในวันหนึ่งๆ ขายได้ประมาณ 100-200 ชามลองตีซะว่าวันละ 150 ชาม ราคาเฉลี่ยชามละ 45 บาท นั่นหมายถึงยอดขายตกวันละ 6,750 บาท หยุดขายทุกวันจันทร์ ดังนั้นปีหนึ่งๆ คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งสมควรจะต้องเสียภาษี แต่ก็ไม่เคยเสียภาษีเลย ในขณะที่คนกินเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาทปีหนึ่งรายได้เกิน 180,000 บาทต้องเริ่มเสียภาษีแล้ว กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ทั่วประเทศไทยมีจำนวนเท่าไหร่ ผมไม่มีตัวเลขที่แน่นอน ถ้าทางสรรพากรจับกลุ่มรถเข็นแผงลอยเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนให้หมดและเรียกเก็บภาษี ก็น่าจะช่วยกระทรวงการคลังในยามที่ชักหน้าไม่ถึงหลังได้บ้างไม่มากก็น้อย และอยากให้ทางกทม.ช่วยจัดโซนให้กลุ่มแม่ค้าเหล่านี้ และไม่อนุญาตโดยเด็ดขาดในการขายของบนบาทวิถี แบบที่ประเทศสิงคโปร์เขาจัดการระเบียบที่บ้านเมืองของเขา อยากฝากให้กทม.ขอให้ทาง คสช. ช่วยร่วมดำเนินการปฏิรูปการใช้พื้นที่บาทวิถีให้ถูกต้อง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าบาทวิถีซึ่งหมายถึงเป็นพื้นที่สำหรับใช้เดิน ถ้าทางคสช.และกทม.ร่วมกันทำได้สำเร็จ ท่านจะซึ้อใจคน กทม. และคนหัวเมืองใหญ่ๆ ได้อย่างเต็มที่

กลับมาที่ตลาดหุ้นจากบทความฉบับที่แล้วที่ผมเตือนย้ำว่าตลาดใกล้มีการปรับตัวลงแล้ว ในที่สุดตลาดหุ้นก็ไปทำ High ที่ 1,548 จุด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ไม่ถึง 1,550 จุดตามที่ผมทำนายเอาไว้ แล้วลงมาทำ Low เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ 1,487 จุด แล้วมีการ Rebound ขึ้นมา ผมยังมั่นใจว่าตลาดยังอยู่ในช่วงการปรับตัวลงโดยตลาดน่าจะมีการปรับตัวลงจากจุดสูงสุดประมาณ 100 จุดบวกลบโดยมีแนวรับที่แข็งแกร่งบริเวณ 1,420-1,450 จุด ใจเย็นๆ รอให้ตลาดปรับตัวลงมาบริเวณดังกล่าว แล้วค่อยเลือกซื้อหุ้นน่าจะเป็นกลยุทธที่ดีครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          06/08/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
     

หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่  http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty