จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธปท.-กนง (ตอนที่ 3 ต้มยำกุ้ง (ต่อ)



                                                    ธปท.-กนง (ตอนที่ 3 ต้มยำกุ้ง (ต่อ)

               2 บทความที่แล้วนอกจากกล่าวถึงความเป็นมาของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รวมถึงบทบาทของ ธปท.ในช่วงที่ไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2541 และผลกระทบต่อนักลงทุน นักเก็งกำไร และประชาชนทั่วไป โดยผมค้างไว้ถึงช่วงที่ผมต้องตัดขาดทุนขายหุ้นไปบางส่วน เพื่อล้างหนี้ MARGIN  เพื่อเก็บสภาพคล่องไว้กับตัวบางส่วน เพราะว่าไม่แน่ใจว่าวิกฤติต้มยำกุ้งจะคงอยู่กับประเทศไทยนานเพียงใด แต่จากที่ร่ำเรียนมา วัฏจักรเศรษฐกิจมีขาลงและขาขึ้น เพียงแต่ไม่ว่าช่วงเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจะเป็นรูปตัว V หรือตัว U ที่ฐานแคบหรือกว้างก็ยังคาดเดาไม่ถูกในสมัยนั้น แต่คาดว่าน่าจะเป็นตัว U ฐานกว้าง แล้วก็เป็นจริง คือเราต้องจมอยู่ในภาวะเศรฐกิจถดถอยไปหลายปีเลยทีเดียว กว่าเศรฐกิจไทยจะโงหัวขึ้น ช่วงนั้นผมแทบจะหยุดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรทุกชนิด รักษาเงินที่มีอยู่เอาไว้ไม่ให้เสียหายเพิ่มเติม ช่วงนั้นคิดอยู่อย่างเดียวคือ จะรอเอาคืนช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ถ้าช่วงนั้นผมไม่ตัดสินใจขาย Cut loss หุ้น ผมคงล้มละลายไปแล้ว คิดดูสิครับ ช่วงที่ผมเข้าน่าจะประมาณ 1300-1400 จุด แล้ว SET Index ก็ไหลลงมาที่ 204 จุด หลายๆบริษัทที่ต้องล้มละลายกิจการไปทั้งๆที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น ธนสยาม ร่วมเสริมกิจ ศรีมิตร ฯลฯ และที่ล้มดังที่สุดก็คือกลุ่ม เอกธนกิจ(FIN I)ที่เป็นหุ้นขวัญใจทั้งนักลงทุน และนักเก็งกำไร เป็น Growth Stock ตัวหนึ่ง การเติบโตนอกจากเป็น Organic growth แล้วยังเกิดจากการไปไล่ Take Over กิจการอื่นๆเขามาอยู่ในเครือ จากการที่รายได้และกำไรที่มีการขยายตัวสูง นักลงทุนจึงยอมจ่ายเงินที่จะซื้อหุ้นตัวนี้ในราคาที่มีค่า P/E ที่สูง เมื่อ FIN I ไปซื้อกิจการที่มีค่า P/E ที่ต่ำกว่า แต่เมื่อนำรายได้และกำไรมารวมในเครือเดียวกัน นักลงทุนยอมจ่ายที่ค่า P/E ที่สูง FIN I ยิ่งไปเทคโอเวอร์กิจการอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นกิจการ Holding  ที่มีรายได้ กำไร และสินทรัพย์ โตเร็วอันดับต้นๆของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จนนักลงทุนแทบจะคิดว่า FIN I นี่ TOO –BIG –TO –FALL  แต่ในที่สุดวิกฤตต้มยำกุ้งก็ปิดฉาก FIN I พร้อมกับบริษัทจดทะเบียนอีกหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่กู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนและหรือเพื่อเก็งกำไร ลองคิดดูสิครับกู้มา 100 ล้าน $ ในตอนที่เริ่มกู้ ค่าเงินอยู่แถวๆ 26-27 บาท เพราะว่าในสมัยนั้นค่าเงินบาท PEG อยู่กับค่า.$.และเป็นอย่างนั้นมาช้านาน จนเอกชนไทยไม่ระมัดระวัง ไม่มีการซื้อ Forward เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน แล้วบางบริษัทแย่กว่านั้น เดิมมีธุรกิจหลักที่ไม่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ก็กู้เงินมาสร้างอาคารสำนักงานออกมาขายและให้เช่า หรือคอนโดมิเนียมเพื่ออยู่อาศัยออกมาขาย พอวิกฤติเศรษฐกิจ Demand หดหายไปอย่างรุนแรง ตึกเหล่านี้ก็ขายไม่ออก ไหนจะต้องจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ แถมหนี้ที่เคยกู้มา 100 ล้านเหรียญ คิดเป็น 2,700 ล้านบาท แต่พอค่าเงินบาทอ่อนลงไปเรื่อยๆ ยิ่งช่วงที่ขึ้นไปที่ 50 กว่าบาท/$ เงินกู้จะกลายเป็น 5,000กว่าล้านบาททันที เจ้าหนี้ก็เร่งทวงหนี้ทั้งต้นทั้งดอก อย่างนี้ธุรกิจอะไรจะอยู่รอดได้ ถึงแม้อยากจะตัดขายอาคารเหล่านี้ทิ้ง ก็ขายยากเพราะ Demand แทบไม่มีในตลาดเลย เลยทำให้ราคาอาคารเหล่านี้ตกลงอย่างมาก โดยเฉพาะในแถบทำเลที่ไม่ค่อยดี ราคาลดลงเกินครึ่งหนึ่งเสียด้วยซ้ำ ในช่วงนั้นจะเห็นอาคารที่สร้างเสร็จและไม่เสร็จมากมาย หลายๆอาคารเมื่อมองในยามค่ำคืน จะเห็นห้องที่เปิดไฟมีเพียงไม่กี่ห้องเท่านั้น แสดงว่าคนที่ซื้ออยู่จริงน้อยกว่ากลุ่มนักลงทุนและนักเก็งกำไร  ส่วนประชาชนคนทำมาหากินที่ผ่อนบ้านเพื่ออยู่อาศัยเองก็ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทห้างร้านปลดพนักงานออกส่วนหนึ่ง เพราะว่ายอดขายลดลงอย่างมาก พนักงานกลุ่มนี้ รวมทั้งเจ้าของธุรกิจรายย่อยที่ธุรกิจแย่ลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้รายได้ลดลง ตัวพนักงานเองถึงแม้บางรายที่โชคดีไม่ได้ถูกปลดออก แต่ก็ถูกลด OT ลง ทำให้มีผลกระทบต่อรายได้รวมที่ได้รับ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ไม่พอส่งธนาคารเพื่อผ่อนบ้านดังกล่าว ทำให้มีบ้านทีถูกยึดในสมัยนั้นเยอะมาก แต่ว่าวิกฤตก็มีโอกาสให้ธุรกิจบางประเภทกลับรุ่งเรืองขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ธุรกิจนี้คืออะไร มาติดตามอ่านในบทความหน้าครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
        29/11/58



ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 หรือ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B8หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน 
ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที


วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธปท.-กนง.(ตอนที่2..ต้มยำกุ้ง1)



                                                ธปท.-กนง.(ตอนที่2..ต้มยำกุ้ง1)

            บทความที่แล้วผมเกริ่นถึงที่มาที่ไปของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกนง. รวมถึงอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานไว้พอสังเขปแล้ว เรามาดูผลงานของ 2 หน่วยงานนี้ในช่วงที่ผ่านมากัน  ที่เด็ดๆแล้วทำให้คนไทยจำไม่ลืม คือช่วงที่เราต่อสู้ค่าเงินบาทกับต่างชาติ ซึ่งทีแรกดูเหมือนว่าเราจะชนะคงมีการเปิดแชมเปญเลี้ยงฉลองกัน แต่ในที่สุดเราก็พ่ายแพ้ในสงครามเงินตราค่าเงินบาทที่เคยอยู่แถว 25-27 บาท ก็อ่อนปวกเปียก ขึ้นไปทำจุดสูงสุดระหว่างวันที่ 57-58 บาท ในปี พ.ศ. 2541 ทำให้เกิดภาวะวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยถดถอยอย่างรุนแรง คนไทยถูกบีบให้ออกจากงานมากมาย จากการที่เศรษฐกิจไทยช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ เรามีเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูมาก มีการเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ดินที่ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก ตั้งแต่สมัยอดีตนายก ชาติชาย ชุณหวัน ราคาพุ่งสูงขึ้นมาตลอด ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง มีการผุดขึ้นมาของสนามกอร์ฟเพื่อขายสมาชิกสนามกอร์ฟกลายเป็นเครื่องมือเก็งกำไรอีกประการหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นผมก็เข้าไปเก็งกำไรซื้อขายสมาชิกสนามกอร์ฟกับเขาเหมือนกัน ปรากฎว่าสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนดีมาก สภาพคล่องในการซื้อขายค่อนข้างสูง บางสนามผมซื้อไปไม่ถึง 6 เดือน ขายไปกำไรมากกว่า 20-30% แล้ว นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่การเก็งกำไรจากการซื้อขายสมาชิกสนามกอร์ฟได้รับความนิยมในหมู่นักเก็งกำไรพอสมควร จึงทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายมาก นอกจากนั้น ในสมัยนั้นบริษัทใหญ่ๆก็นิยมกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนและเก็งกำไรโดยผ่านช่องทาง BIBF(BANGKOK INTERNATIONAL BANKING FACILITY) หลายๆบริษัทนำเงินกู้ดังกล่าวมาใช้ในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยนำไปเก็งกำไรสร้างคอนโดมิเนียม ขายยแก่นักลงทุนนักเก็งกำไร เพราะว่าออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมด ลูกค้ากลุ่มเหล่านี้รอซื้อเพื่อนำไปเก็งกำไรต่อ ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่งดงามอย่างมากในช่วงอาคารที่มีราคาแพงที่สุดก็คือ ALL SEASON ซึ่งราคาซื้อขายต่อตารางเมตรตกประมาน 1แสนบาท (ปัจจุบัน ราคาคอนโดดีๆในย่าน CBD แถบสุขุมวิท สาธร เพลินจิต ราคาพุ่งขึ้นไปถึงเกือบ 4แสนบาทต่อตาราเมตร สำหรับชั้นสูงวิวดีๆ) ส่วนตลาดหุ้นก็ทำสถิติสูงสุดที่ 1,789 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสต์ของตลาดหุ้นไทย ตราบจนปัจจุบันนี้ ซึ่งผ่านมาเกือบ 20 ปี แล้วดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไม่สามารถทำลายสถิติดังกล่าวได้ นักเก็งกำไรที่ติดอยู่บนดอย รอคอยการกลับมารับพวกเขานานเหลือเกินทีเดียว ซ้ำร้าย หลังจากที่ทำสถิติสูงสุดดังกล่าว SET INDEX ก็ตกลงมาเหลือเพียง 204 จุด ในเวลาไม่ถึง 5 ปี สร้างบาดแผลอันแสนสาหัสให้ทั้งนักลงทุนและนักเก็งกำไร  ในช่วงนั้นมีนักลงทุนที่ฆ่าตัวตายหลายคนจากสาเหตุนี้ ภาวะหนี้ล้นพ้นตัวจากการกู้มาลงทุน เก็งกำไร และหรือจับจ่ายใช้สอย แล้วบางรายยังต้องมาตกงานเสียอีก ลูกยังเล็กอยู่ ในช่วงนั้นคนไทยต้องต่อสู้กับภาวะวิกฤตเป็นเวลาหลายปี คนที่แกร่งจริงๆเท่านั้น จึงจะฝ่าฟันเอาชีวิตรอดจากวิกฤตนั้นได้  ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ตกต่ำ เป็นครั้งแรกในชีวิตผทที่เห็นราคาอสังหาตกต่ำลง คอนโดหลายๆแห่งราคาลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่งของช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู สมาชิกสนามกอร์ฟก็ราคาตกลงอย่างมาก หาคนซื้อแทบไม่ได้เลยในยามนั้น การเก็งกำไรในสินทรัพย์ทุกประเภทถูกปิดตาย ผมเองก็มีบามแผลเหวอะหวะมาก เมื่อคิดย้อยไปได้ในสมัยนั้น ถ้าผมไม่ยอมตัดขาดทุนหุ้นที่ผมลงทุนโดยใช้ MARGIN ทำให้ผมขาดทุนมากกว่าเป็น 2 เท่าของนักลงทุนทั่วไป เพราะว่าในสมัยนั้นเงิน 1 ล้านสามารถมีอำนาจในการลงทุน 2 ล้าน ไหนจะดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องจ่ายให้กับโบรคเกอร์ทุกสิ้นเดือนอีก โชคดีที่ผมล้างMARGIN จนหมด เหลือหุ้นดีๆไว้ในพอร์ต ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็เก็บเป็นสถาพคล่องไว้ใช้จ่ายได้สัก 5-6ปี เพราะว่าช่วงนั้นเหมือนอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิด มองไปสุดปลายอุโมงค์ยังไม่เห็นแสงสว่างใดๆเลย เนื้อที่หมดแล้ว ไว้อ่านต่อบทความหน้ากันครับ


กิติชัย เตชะงามเลิศ
        20/11/58



ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 หรือ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B8หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน 
ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที 
หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty


วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธปท. –กนง. (ตอนที่ 1)


                                                ธปท. –กนง. (ตอนที่ 1)

            ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ต่างก็เป็นหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบุคลากรที่ทรงคุณวุฒิ และความน่าเชื่อถือมาแต่ไหนแต่ไร
            หลังจากที่ประเทศไทยมีสัมพันธไมตรี และติดต่อค้าขายกับต่างชาติโดยเฉพาะพวกตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 ได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนมาสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทางคณะราษฎร์โดย นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ได้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดตั้งธนาคารชาติ  เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง  พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎร ต่อมา พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นาย ปรีดีจึงได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น โดยได้มอบหมายให้พระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง รับผิดชอบในการร่างกฎหมายธนาคาร จนในที่สุด พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยก็ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2482 โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำหน้าที่เกี่ยวกับธุรกิจธนาคารกลาง และบริหารเงินกู้ของรัฐบาล โดยสำนักงานธนาคารชาติไทยได้เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2483 และได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ซึ่งเป็นวันชาติไทยในสมัยนั้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนฐานะของสำนักงานชาติไทยให้เป็นธนาคารกลาง โดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2485 และได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 ซึ่งเป็นวันที่ 10 ธันวาคม 2485 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ  โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เริ่มดำเนินการ ณ อาคารที่ทำการเดิมของธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยา โดยมีพระองค์เจ้า วิวัฒนไชย ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการพระองค์แรก ต่อมาจึงได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ วังบางขุนพรหม ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2488
            บทบาทหน้าที่ของ ธปท.ตามพรบ ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 มีดังนี้
1.        ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาล และบัตรธนาคาร
2.        กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
3.        บริหารจัดการสินทรัพย์ของธปท.
4.        เป็นนายธนาคาร และนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
5.        เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
6.        จัดตั้งหรือสนับสนุนระบบชำระเงิน
7.        กำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงิน
8.        บริการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งบริการจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
9.        ควบคุมการแลกเปลี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน
โดยประเทศไทยมีผู้ว่าการ ธปท.รวมแล้ว 21 ท่าน โดยมี พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และนาย เล้ง ศรีสมวงค์ ที่ดำรงตำแหน่งท่านละ 2 สมัย แต่ละสมัยไม่ติดกัน ผู้ว่า ธปท.คนล่าสุดคือ  นายวิรไท สันติประภพ ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 แทนนายประสาร ไตรรัตน์วรกุลที่ได้หมดวาระลง คณะกรรมการ ธปท. ปัจจุบันมีจำนวน 12 ท่าน โดยมี นายอำพน กิตติอำพน เป็นประธานคณะกรรมการ และนายวิรไท สันติประภพ เป็นรองประธานกรรมการ
            คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) (กนง.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธปท. ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท.อย่างใกล้ชิด ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้การกำหนดทิศทางและนโยบายการเงิน กนง.จะพิจารณาจากข้อมูลต่างๆที่ ธปท.นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจึงนำไปพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางนโยบานการเงินต่อไป โดยกนง.ที่คณะกรรมการธปท.แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 ท่าน โดยมีผู้ว่าการ ธปท.เป็นประธาน และมีรองผู้ว่าการธปท.อีก 2 ท่าน ร่วมเป็นคณะกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้
            อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน
1.        กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรฐกิจ และการเงินของประเทศ
2.        กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยเงินตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
3.        กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามนโยบายข้อ 1.และ 2.
4.        ติดตามการดำเนินงานของ ธปท.ตามข้อ 3. ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพโดยจะมีการจัดประชุมทุก 6 สัปดาห์โดยประมาน(ปีละ 8 ครั้ง) เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะมีผลกระทบต่อแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม (ที่มา : เว็บไซด์ของ ธปท.) บทความหน้าเราจะมาดูผลงานของธปท.ที่ผ่านมาว่า เป็นอย่างไรกันครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
        11/11/58




ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/
 หรือ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B8หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน 
ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที 
หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty