จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ดีลเทคโอเวอร์ที่น่าสนใจ-ตอนที่ 2

ดีลเทคโอเวอร์ที่น่าสนใจ-ตอนที่ 2

          สัปดาห์ก่อนผมเขียนถึงเรื่องดีลเทคโอเวอร์ ได้รับFeedback ค่อนข้างดีจาก Social media ของผมไม่ว่าจะเป็น Facebook (www.facebook.com/VI..Kitichai) หรือBlog (http://kitichai1.blogspot.com) ซึ่งมียอดเข้าชมดูมากพอสมควร สัปดาห์นี้เลยมาต่อกันในดีลเทคโอเวอร์อื่นๆ ตามสัญญาครับ ดีลที่น่าสนใจและเป็นดีลที่ทำให้หลายๆ คนกลายเป็นเศรษฐีหรืออภิมหาเศรษฐีก็คือดีล BGH เทคโอเวอร์ HNC (บริษัท Health Network) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาลในกลุ่ม พญาไทและเปาโล ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือคุณวิชัย ทองแตง ราชานักเทคโอเวอร์ที่เป็นที่รู้จักกันดี สำหรับนักลงทุนในยุคนี้ ดีลนี้ทำกันเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553  โดยใช้วิธีแลกหุ้นกัน BGH เพิ่มทุนจดทะเบียน โดยออกหุ้นสามัญใหม่ 230.87 ล้านหุ้น โดยตีมูลค่าหุ้น BGH ที่ 37.75 ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดในขณะนั้น บวกกับเงินสดอีก 680 ล้านบาท เพื่อไปแลกซื้อหุ้น HNC อนึ่งบริษัท HNC เป็นบริษัทที่ถือหุ้น 49.17% ของบริษัทประสิทธิ์พัฒนาจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารในกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท (และถือหุ้น 100% ในรพ.เปาโล พหลโยธิน 88.73% ในรพ.เปาโล สมุทรปราการ 80.72% ในรพ.เปาโล โชคชัย 4 และ 99.76% ในรพ.เปาโล นวมินทร์  ซึ่งก่อนจะมีการเทคโอเวอร์ครั้งนี้ BGH ก็ถือหุ้นอยู่ในบริษัทประสิทธิ์พัฒนาอยู่แล้ว 19.47% หลังการเทคโอเวอร์ทำให้ BGH กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือถือถึง 68.64% ทำให้ต้องตั้งโต๊ะทำ Tender offer ตามกฎตลาดหลักทรัพย์จากนักลงทุนรายย่อย ทำให้ รพ.กรุงเทพกลายเป็นเครือโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นที่ 2 ใน Asia pacific โดยนอกจากรพ.กรุงเทพซึ่งมีสาขามากมายทั่วไทยแล้ว ยังมี รพ.สมิติเวช (ปัจจุบัน BGH ถือ 95.76%) BNH (BGH ถือหุ้น 88.30%) รพ.วัฒโนสถ (บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง) และกลุ่มรพ.พญาไทและรพ.เปาโลที่เทคโอเวอร์มาจาก HNC จนปัจจุบันเครือโรงพยาบาลกรุงเทพมีโรงพยาบาลในเครือ 31 แห่ง เมื่อผนวกโรงพยาบาลสนามจันทร์อีก 3 แห่ง ที่กำลังอยู่ระหว่างการควบรวม และอีก 9 แห่งที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง รวมเป็น 43 แห่งเมื่อสร้างเสร็จ และมีแผนจะขยายจำนวนโรงพยาบาลในเครือให้เพิ่มขึ้นเป็น 50 แห่งในปีหน้า คาดหวังว่าจะมีผู้ป่วยนอกเพิ่มเป็น 30,000 คน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 22,000 คน/วัน ทำให้ BGH มี Economy of scale ค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่อคนไข้ 1 ราย จะลดลง ต้นทุนการสั่งเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรคต่างๆ ก็จะถูกกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ ยิ่งทาง BGH กำลังนำระบบ B-EXCHANGE ซึ่งจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านเวชระเบียนเข้ามาใช้ระหว่างโรงพยาบาลในเครือ ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในเครือทำได้ง่ายขึ้น คุณหมอโรงพยาบาลปลายทางสามารถอ่านผลการรักษาต่อเนื่องจากคุณหมอจากโรงพยาบาลต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยอาการของโรค และชนิดของยา หรือวิธีการบำบัดโรคที่ได้ทำไปแล้ว ยิ่ง BGH มีศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางอยู่หลายด้านด้วยแล้ว ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อคนไข้เป็นอย่างมากช่วยลดค่าใช้จ่าย จากการวินิจฉัยซ้ำซ้อนและลดความผิดพลาดทางการรักษาได้เป็นอย่างดี ทำให้ราคาหุ้น BGH ที่เดิมเคยอยู่ที่ราคา 30 กว่าบาท กระโดดขึ้นมา 170 กว่าบาท (PAR=1 บาทในสมัยนั้น แต่ปัจจุบัน PAR=0.10 บาท) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเกือบ 500% ภายในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น เพราะว่านักลงทุนชอบกลุ่ม Health care อยู่แล้ว โดย P/E ที่ซื้อขายกันของหุ้นในกลุ่มนี้อยู่ที่  20-30 กว่าเท่า หุ้น BGH เป็นหุ้นที่นักลงทุนยอมจ่ายค่า P/E ในระดับที่สูงถึง 30 กว่าเท่า คงจะเป็นเพราะว่าชอบนโยบาย การลงทุนแบบควบกิจการที่ทาง BGH ทำอยู่และการขยายสาขาของโรงพยาบาลในเครือไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีกลุ่มคนไข้เป้าหมายมากพอ   รวมทั้งขยายตัวในรูปของคลีนิคเพื่อรักษาพยาบาลโรคที่ไม่ซับซ้อนหรือเพื่อจะส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลใหญ่อีกต่อหนึ่ง ดีลการควบรวมครั้งนั้น ทำให้นพ.ประเสริฐ ประสาททองโอสถ และคุณวิชัย ทองแตงติดอันดับ 1 ใน 10 ของอภิมหาเศรษฐีเมืองไทยของ Forbes magazineในเวลาถัดมา ทั้งๆ ที่ในอดีตไม่เคยติดอยู่ใน 10 อันดับแรกนี้มาก่อน และพลอยทำให้นักลงทุน VI หลายๆ ท่านล่ำซำขึ้นมาด้วย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ากำไรของ BGH หลังจากที่ทำดีลดังกล่าวกำไรจากปี 2553 อยู่ที่ 2,295 ล้านบาท กระโดดมาที่ 4,386  7,937 และ 6,261 ล้านบาท สำหรับปี 2554 2555 และ 2556 ตามลำดับ (ปี 2556 ผลประกอบการไม่ค่อยน่าประทับใจ)  เราต้องมาดูกันต่อไปว่าผลประกอบการปี 2557 และปีต่อๆ ไปจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร โชคดีตรงที่ปลายปีหน้าเราจะเริ่มเข้าสู่ AEC แล้ว BGH และบริษัทอื่นๆ คงได้อานิสงค์ไม่มากก็น้อยครับ  ถ้ากลุ่มรพ.กรุงเทพเข้าครอบครองตลาดผู้ป่วยที่มีฐานะระดับกลางและระดับบนไว้เกิน 70% เมื่อไหร่ผู้ป่วยคงต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่ายมากขึ้น นั่นคงจะต้องถึงเวลาที่หน่วยงานของรัฐจะต้องเข้ามากำหนดเพดานของค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่าตัด Doctor fee ค่าพยาบาล ค่ายารักษาโรค ฯลฯ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยไม่ให้ต้องถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาแพงเกินควร  แต่ราคาหุ้น BGH ในขณะนี้จะถูกหรือแพง ผมคงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักวิเคราะห์และนักลงทุนพิจารณาตัดสินกันเองนะครับ (หุ้นดีแต่แพงก็ไม่น่าซื้อนะครับ)

          ส่วนพอร์ตลงทุนของผมในส่วนที่เก็งกำไร ช่วงนี้ผมจะพยายามลดการลงทุนในส่วนนี้ลง แต่จะยังคงพอร์ตที่ถือระยะยาวไว้เหมือนเดิม ซึ่งผมคาดว่าเราน่าจะเห็นการปรับตัวลงในระดับร่วมร้อยจุดภายในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมนี้ ส่วนดีลเทคโอเวอร์กรณีรสากับสิงห์ และกรณี PF ถ้า Feedback ดีผมจะมาเขียนถึง 2 ดีลนี้ในโอกาสหน้าครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          09/07/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/


 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, L'Optimum และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน
     

หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่  http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น