จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย (ตอนที่ 2)

                                               
หลังจากที่ผมลงทุนในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตมา 8 ปี จำนวนเปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ทำประกันชีวิตก็เขยิบขึ้นมาที่ 33-34% แล้วเมื่อเทียบกับเพียง 17% เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เติบโตขึ้นมาประมาณ 100% แต่อย่าลืมนะครับว่า จำนวนประชากรไทยในปัจจุบันก็มากกว่าเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ดังนั้นการเติบโตของผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยเริ่มให้ความสนใจกับการทำประกันชีวิต ทั้งเพื่อความคุ้มครอง และเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต รวมทั้งยังสามารถนำเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และถ้าทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ท่านยังสามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท รวมเป็น 300,000 บาทที่ท่านสามารถจะลดหย่อนภาษีได้ นี่ก็เดือนธันวาคมแล้ว สำหรับท่านที่ยังไม่ได้ทำประกันชีวิตและมีฐานภาษีที่สูง ผมแนะนำให้ท่านทำประกันชีวิตครับ เพราะว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่อนเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราในอนาคตข้างหน้า ประกันชีวิตเป็นการตอบโจทย์นี้ได้ดี ผมเองก็ทำประกันชีวิตทุกปี แต่จุดมุ่งหมายหลักของผมก็คือการลดหย่อนภาษี ส่วนความคุ้มครองกลายเป็นผลพลอยได้ นอกจากนี้ผมยังซื้อกองทุน LTF และ RMF ทุกปี ซึ่งรัฐบาลใจดีให้สามารถซื้อได้ไม่เกิน 15% ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งกองทุน LTF และ RMF แต่ถ้าท่านซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ 200,000 บาทแล้วท่านสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ไม่เกิน 300,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นท่านที่มีรายได้ไม่สูงแต่มีเงินออมมาก ผมแนะนำให้ซื้อกองทุน LTF แล RMF 15% ของรายได้แล้วที่เหลือนำเงินออมไปซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญให้หมด แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท ท่านก็จะได้ประหยัดภาษีแบบสูงสุด แล้วอย่าลืมทำประกันสุขภาพให้คุณพ่อคุณแม่ด้วยนะครับ ถ้าท่านทั้งสองมีรายได้ในปีภาษีนี้ไม่เกินท่านละ 30,000 บาท ท่านสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นท่านต้องทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการภายในประเทศไทยเท่านั้น เพราะว่ารัฐบาลนอกจากต้องการส่งเสริมให้คนไทยทำประกันชีวิตแล้ว ยังต้องการส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตในประเทศให้เติบโตแข็งแกร่งไปด้วย ดังนั้นท่านต้องเลือกเอาระหว่างค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ทำในต่างประเทศที่ถูกกว่าภายในประเทศ แต่ท่านก็จะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้เลย ยังไงก็สนับสนุนธุรกิจคนไทยด้วยกันดีกว่าครับ และเมื่อดูตัวเลข Insurance penetration as % of GDP ของไทยเรายังอยู่ที่ 2-3% เท่านั้นในขณะที่ไต้หวันปาเข้าไปที่ 14% กว่าๆ หรือแม้กระทั่งอินเดียซึ่งเป็นชาติที่มี GDP ต่อประชากรต่ำกว่าเรา ยังอยู่ที่ 4-5%  เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้วสมาคมประกันชีวิตไทยคงต้องขยันประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ซะแล้ว ส่วนคำถามที่ถามมาทางหน้าเฟซบุ๊คเพจของผม www.facebook.com/vi.kitichai เกี่ยวกับเรื่องการที่ SCBLIF จะถอนตัวเองจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ควรจะทำอย่างไรดี ควรจะขายในตลาดหรือควรจะขายช่วงที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะทำ Tender offer หรือยอมถือต่อแล้ว Exit ออกไปพร้อมกับ SCB ซึ่งมีคนส่งคำถามนี้มาค่อนข้างมาก ผมขออนุญาตตอบแบบนี้ครับว่า
1) ผมไม่มั่นใจว่าหลังจากมีการ Delist ของ SCBLIF แล้วทาง SCB จะมีการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมที่คิดกับ SBCLIF ในการทำธุรกิจ Banc assurance กับธนาคารอย่างไร
2) เมื่อ DELIST แล้ว ทาง SCBLIF ซึ่งมีคณะกรรมการที่ส่วนใหญ่มาจาก SCB จะดูแลผู้ถือหุ้นรายย่อยมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเมื่ออยู่นอกตลาดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตัวให้อยู่ในกรอบระเบียบวิธีของตลาดหลักทรัพย์และกลต.
3) จากการที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีการร้องเรียนตลาดหลักทรัพย์และกลต. เกี่ยวกับเรื่องราคาที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยรู้สึกว่าไม่เหมาะสมคือต่ำเกินไป คงน่าจะสร้างความไม่พอใจกับ SCB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ SCBLIF คือถือหุ้นอยู่ถึง 94.66% เป็นอย่างมาก
4) SCB เริ่มมีนโยบายที่จะทำ Banc assurance บริษัทประกันภัยอื่นๆ ด้วย ซึ่งต่อไปอาจจะมีวันใดวันหนึ่งที่ธุรกิจประกันชีวิตที่ขายตามสาขาของ SCB อาจจะไม่มีแค่ SCBLIF ก็เป็นได้
5) เมื่อ DELIST แล้วท่านก็จะไม่สามารถที่จะขายหุ้น SCBLIF ในตลาดหลักทรัพย์ได้อีก จะไม่มีตลาดซื้อขายหุ้นตัวนี้รองรับอีกต่อไป ถ้าท่านนึกอยากจะขายขึ้นมาคงจะขายได้ยากพอสมควร หรือถ้าจะขายให้กับทาง SCB ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะรับซื้อหรือไม่ และถ้ารับซื้อจะรับซื้อราคาเท่าไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นราคาเดียวกับราคา Tender offer แต่ในใจลึกๆ ผมคิดว่าถึงเวลานั้น SCB คงรับซื้อถ้ามีคนอยากขาย แต่ราคานี่สิครับ ยากที่จะคาดเดาไว้จริงๆ ดังนั้นถ้าท่านพร้อมเป็นนักลงทุนระยะยาวจริงๆ และคิดว่าจะเข้าเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ SCB ทำธุรกิจประกันชีวิตท่านก็อาจจะถือครองหุ้นตัวนี้ต่อไป แต่ถ้าท่านไม่พร้อมผมอยากให้อ่านสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้ง 5 ข้อนี้อีกครั้ง แล้วค่อยๆ พิจารณาตัดสินใจดูอีกทีว่าทำจะอย่างไรดีกับหุ้น SCBLIF ที่ท่านถืออยู่ดี

กิติชัย เตชะงามเลิศ
                                                                                          03/12/57


ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter     : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog         : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 
Google+  : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
Linkedin   : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
Pinterest   : http://www.pinterest.com/kitichai/

 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6  และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน รายการ Whats's up Spring ช่อง Spring News TV ทุกวันพุธ ช่วง What's up Money เบรค 4 เวลา 10.45-11.00 น.

หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่  http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น