จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556


MEGA PROJECT 2.20 ล้าน จะใช้อย่างไร

          บทความฉบับนี้ ผมเขียนเมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากอ่านการโต้คารมกันระหว่างคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมต.คลังคนปัจจุบันกับคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมต.คลัง ในเรื่องของ MEGA PROJECT 2.20 ล้านล้านบาท ทำให้คันมือคันไม้อยากเขียนถึงครับ ก่อนอื่นเรามาดูว่าประเทศไทยเราต้องการโครงการเหล่านี้หรือไม่ ในความเห็นของผม ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าประเทศเราต้องการครับ เราขาดการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการคมนาคม LOGISTICS มาหลายปีแล้ว ต้นทุน LOGISTICS  เราสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว หรือแม้เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย โดยของไทยอยู่ที่ 18-20% ของ GDP ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 13% ยิ่งถ้าไปเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 8% ด้วยแล้วจะเห็นได้ชัดว่า นี่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับไทยที่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมากกว่า 70% ต้องรีบแก้ไขปรับปรุง ก่อนที่จะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง พลอยจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราตกอันดับไปเรื่อยๆ ไม่อยากเห็นชาติอื่นๆ ที่เคยล้าหลังกว่าเรา อย่างเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะเร่งแซงเราไปเหมือนกันมาเลเซียที่ทิ้งเราจนไม่เห็นฝุ่นไปแล้ว ถึงแม้โครงการต่างๆ เหล่านี้จะต้องใช้เงินจำนวนมากมหาศาล พร้อมกับภาระการชำระหนี้ 50 ปี แต่ผมว่ามีความจำเป็นนะครับ ยิ่งอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับในอดีต  โดยคาดว่าภาระดอกเบี้ยของพันธบัตรเงินกู้ครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 4.40-5% เท่านั้น สำหรับพันธบัตรอายุ 50 ปี ผมว่าค่อนข้างต่ำใช้ได้เลยทีเดียว ซึ่งการออกพันธบัตรชุดนี้ออกมา  เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยทีเดียวครับ เพราะว่าช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากและเร็ว ทำให้เป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องเข้ามาดูแลค่าเงินมีสภาพคล่องส่วนเกินมหาศาล ที่ธปท.ต้องดูแลในการดูดซับออกโดยการออกพันธบัตรของธปท. ทำให้ธปท.มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรดังกล่าว ส่วนเงินที่ได้เข้ามาธปท.ก็ไปลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐหรืออื่นๆ ที่ได้ผลตอบแทนต่ำกว่า ส่งผลให้ธปท.ต้องประสบปัญหาขาดทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน เป็นภาระที่หนักอึ้งทีเดียว การที่รัฐบาลออกพันธบัตรเงินกู้ ก็จะเป็นการช่วยดูดซับสภาพคล่องในตลาดไปเสียเอง เป็นการลดภาระของธปท.ทางอ้อม โดยเป็นการนำเงินเพื่อไปพัฒนาประเทศ แก้จุดบอดต่างๆ ของเศรษฐกิจไทย เงินส่วนที่ทางรัฐบาลจะนำไปใช้ในด้าน LOGISTICS ของประเทศ เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน โดยคุณกรณ์เห็นว่า รัฐบาลควรจะนำเงินไปใช้ในด้านการศึกษาและสาธารณสุขมากกว่า จริงอยู่ ทั้ง 2 ด้านนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมเห็นด้วยกับคุณกิตติรัตน์ ว่า ถ้านำเงินนั้นไปใช้ใน 2 ด้านนั้น จะไม่มีผลต่อการเติบโต GDP ของประเทศ เมื่อเทียบกับทางด้าน LOGISTICS เพราะเมื่อ GDP โต ก็จะทำให้คนในชาติและประเทศมีรายได้มากขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น รัฐก็มีความสามารถในนำงบประมาณรัฐไปใส่ในการศึกษาและด้านสาธารณสุขได้มากขึ้น ประชาชนเองมีรายได้มากขึ้นก็สามารถจะเข้าถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้มากและดีขึ้น รวมถึงสามารถจะเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น อย่าลืมนะครับว่าพันธบัตรที่ธปท.ออกมาเพื่อดูดสภาพคล่องนั้น เป็นเงินที่ดูดไป ไม่ได้ไปใช้ทำประโยชน์อะไรนอกจากเพื่อจะดูดสภาพคล่องออกจากตลาดไปเท่านั้น และตามมาด้วยภาระขาดทุนจากการออกดังที่ผมกล่าวมาข้างต้น ขณะที่พันธบัตรเงินกู้ของรัฐชุดนี้สามารถเอาไปใช้พัฒนาประเทศ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ รมต.คลัง เรื่อง ธปท.ควรจะลดดอกเบี้ยในประเทศลงอีก ในสภาวะที่มีเงินร้อนไหลเข้ามาในประเทศไทยมากมายในขณะนี้ ยิ่งขณะนี้มีเงินจากญี่ปุ่นจากมาตรการ QE ของญี่ปุ่นที่จะปั๊มเงินออกมาอีกมากมายทุกเดือน ถ้าผมเป็นผู้ออมเงินชาวญี่ปุ่น ผมคงจะหาทางแลกเงินเยนเป็นเงินสกุลอื่นที่มีแนวโน้มแข็งค่าแบบเงินบาทและซื้อพันธบัตรไทยระยะ 1-3 ปี เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยก็สูงกว่า ซื้อพันธบัตรญี่ปุ่นและค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องไปได้อีกแบบนี้ ถ้าผมเป็นผู้ว่า ธปท. ในเมื่อเห็น DEMAND มากขนาดนี้ เรื่องอะไรผมจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงๆ ไปทำไม เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผมเอง ซ้ำร้ายเงินที่ได้จากการขายพันธบัตร ผมกลับต้องไปซื้อพันธบัตรของหลักๆ กลับมา ซึ่งล้วนแล้วแต่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำกว่าของผมอีก ทั้งๆ ที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้นยังแย่กว่าของเราเสียอีก จริงอยู่หน้าที่ของธปท. คือดูแลเรื่องค่าเงินสภาพคล่อง อัตราเงินเฟ้อ ของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การที่จะลดอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทยได้ แต่ในสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศค่อนข้างต่ำในขณะนี้ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ก็มีส่วนกดให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในอัตราต่ำแบบนี้ได้อีก ยังไม่พูดถึงเครื่องมือที่ธปท.หลายเครื่องมือ อาทิ เช่น การกำหนดค่า LTV ซึ่งถือว่าผ่อนปรับอย่างมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เรามาดูของเพื่อนบ้านเรานะครับ
          LTV (LOAN TO VALUE) คืออัตราส่วนการปล่อยกู้ที่ธนาคารให้แก่ผู้กู้ตามอัตราส่วนเมื่อเทียบกับมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน
          LTV               บ้านหลังแรก              บ้านหลังที่ 2              บ้านหลังที่ 3 ขี้นไป
          จีน                70                         40                         0-40%
          ฮ่องกง           50-70                    50-70                    50-70%        (1)
          สิงคโปร์          60-80                    40-80                    40-80%        (2)
          ไทย              90-95                    90-95                    90-95%        (3)
หมายเหตุ :
1.      ถ้ารายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกฮ่องกง LTV = 40-60% และ LTV จะผันแปรผกผันกับมูลค่าของหลักประกัน
2.      ถ้าระยะการกู้นานกว่า 30 ปี หรือผ่อนจนถึงอายุ 65 ปี LTV = 60% สำหรับบ้านหลังแรกและ 40% สำหรับบ้านหลังที่ 2
3.      คอนโด = 90% อสังหาริมทรัพย์แนวราบ = 95%
          ถ้าธปท. เริ่มมองเห็นการเก็งกำไรมากเกินไป อัตรา LTV ยังมีช่องกว้างที่ ธปท. จะดำเนินการได้ และการดำรงเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ต่อเงินกู้ประเภทต่างๆ ธปท.สามารถเพิ่มอัตราเงินทุนสำรองในประเภทของหนี้ที่ธปท. เห็นว่ามีการขยายตัวมากเกินไป หรือมีอัตราหนี้เสียสูง  การที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำ ก็จะทำให้ธุรกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกสูงขึ้น  อย่าลืมนะครับดอกเบี้ยจ่ายเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของธุรกิจ  และพวก SME จะมีโอกาสเข้าถึงเงินกู้และมีภาระดอกเบี้ยลดลง ความอยู่รอดของธุรกิจก็จะมากขึ้นนะครับ ส่วนที่คุณกรณ์สนับสนุนการสร้างรถไฟรางคู่แทนที่จะเป็นรถไฟความเร็วสูง ข้อนี้ ผมเห็นด้วยกับคุณกรณ์เป็นอย่างยิ่งครับ เพราะว่าต้นทุนในการก่อสร้างจะถูกกว่ามากและยังจะใช้ทั้งขนคนและขนของได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก  รัฐไม่จำเป็นต้องมาอุดหนุนโดยการลดราคาค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงให้ต่ำ  เพื่อดึงดูดให้คนมาใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนมีฐานะปานกลางขึ้นไป   ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐไม่ควรจะนำงบประมาณมาอุดหนุนคนกลุ่มนี้เราก็เห็นการขาดทุนของ AIRPORT RAIL LINK แล้วนะครับ จำนวนผู้โดยสารก็น้อยราคารัฐก็ต้องอุดหนุน ยอมขาดทุน เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า บทเรียนมีแล้ว อย่าให้มันซ้ำซากนะครับ นี่เป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศนะครับ ใช้กันให้คุ้มค่าหน่อยครับแต่ถ้าดื้อรั้นจะทำให้รถไฟความเร็วสูงจริงๆ ผมดูรายงานของ TDRI แล้วระบบของประเทศสเปน น่าจะคุ้มค่าที่สุด นอกจากความเร็วจะสูงสุดคือ 350 กม./ชม. แล้วต้นทุนการก่อสร้างเพียง 10 ล้าน$/กม. โดยสามารถใช้รางร่วมกับรถไฟปกติได้ด้วย


ติดตามแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
และ BLOG : http://kitichai1.blogspot.com
หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หรือหน้า B10
 และนิตยสารคนรวยหุันCondo Guide, Stock Review, Me(Market Evolution), Glow และ Lisa  ทุกเดือน

                            กิติชัย เตชะงามเลิศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น