จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หุ้นเพิ่มทุน IPO, PP และ RO ตอนที่ 1

หุ้นเพิ่มทุน IPO, PP และ RO ตอนที่ 1


การที่บริษัทต่างๆนำหุ้นของตนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือ MAI จุดประสงค์หนึ่งก็คือการระดมทุน ส่วนจุดประสงค์หรือประโยชน์อื่นๆที่จะได้รับจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน ผมเคยเขียนไว้ในบทความก่อนๆของผม ชื่อว่า “เอาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กันดีกว่า” โดยค้นดูได้จาก Blog ของผม kitichai1,blogspot.com โดยก่อนจะเข้าตลาดก็ต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินช่วยแนะนำการจัดทำข้อมูล และระบบบัญชีที่ถูกต้องสอดคล้องกับกฏระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ เมื่อทำการยื่นไฟล์ลิ่งเพื่อขอเป็นบริษัทจดทะเบียน และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ก็สามารถที่จะขายหุ้น IPO เพื่อระดมทุนจากประชากรทั่วไปได้ ซึ่งในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมาหุ้น IPO ได้สร้างผลตอบแทนให้กับผู้จองซื้อหุ้นเหล่านี้เป็นอย่างมาก โดยบางตัวให้ผลกำไรมากกว่า 200% เสียด้วยซ้ำ ภายในเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากผู้จองซื้อชำระเงินค่าหุ้นจองเหล่านี้ ต่างก็ได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้า พักหลังๆนี้ นักลงทุนรายย่อยหรือรายละเอียด (รายเล็กจิ๋ว) ล้วนแล้วแต่ไม่มีสิทธิ์ได้จองหุ้นเหล่านี้ ถ้ามีวอลลุ่มซื้อขายน้อยไม่ถึงเกณฑ์โบรกเกอร์ที่เป็น UNDERWRITER กำหนด คนที่มีสิทธิ์จองจึงมีแต่นักลงทุนรายกลางกับรายใหญ่เท่านั้น ซ้ำแล้วหุ้นจองหลายตัวถูกเจ้าของบริษัทดึงโควต้ากลับไปจัดสรรให้ญาติพี่น้อง มิตรสหาย และผู้มีอุปการะคุณ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือ SUPPLIER ต่างๆ  นอกเสียจากหุ้นจองที่มีปริมาณหุ้นมากๆ รายย่อยจึงอาจมีสิทธิ์ได้จองกับเขาบ้าง ซึ่งหุ้นเหล่านี้พอเข้าตลาด ส่วนใหญ่ก็จะขึ้นไม่มาก หรือบางครั้งอาจทำให้ผู้จองขาดทุนก็เป็นได้ ดังนั้นเวลาโบรกเกอร์ถามรายย่อยว่าอยากได้หุ้นจองไหม นั่นหมายความว่าหุ้นตัวนั้นไม่ค่อยเป็นที่พิศวาสของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ส่วนกรณีหุ้นที่เข้าตลาด 2-3 วันแรกขึ้นหวือหวาเป็น 100-200% ถ้าผมเป็นเจ้าของหุ้น ผมคงโกรธที่ปรึกษาทางการเงินและ UNDERWRITER เป็นอย่างมาก ว่าทำไมตั้งราคาหุ้น IPO ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากอย่างนี้ แทนที่บริษัทของผมจะได้รับเงินจากการขาย IPO มากกว่านี้ ลองดูตัวอย่างครับ สมมติว่าผมเป็นเจ้าของหุ้นบริษัท DEF จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท PAR = 1 บาท ต่อมาเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้น ขาย IPO หุ้นละ 2 บาท ปรากฏว่าเข้าตลาดวันแรกราคาขึ้นไปปิดที่ 6 บาท ต่อมาวันที่สอง ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 7.20 บาท ลองคิดง่ายๆกันครับว่า ถ้าตั้งขายราคา IPO ที่ 5 บาท นักลงทุนก็น่าจะยังแฮปปี้อยู่เพราะว่าได้ผลตอบแทนวันแรกก็ 20%แล้ว ถ้าถือไปถึงวันที่สองไปขายที่ 7 บาท ก็ยังได้กำไรรวมแล้ว 40% เสียด้วยซ้ำ นับว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนเยี่ยมยอดในช่วงเวลาการลงทุนสั้นๆ เพียงแค่ประมาณครึ่งเดือนเท่านั้น แต่เงินที่ขาย IPO แทนที่บริษัทจะได้เงินจากการระดุมทุนครั้งนี้เป็น 250 ล้านบาท กลับได้เพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น เงินส่วนที่บริษัทควรจะได้อีก 150 ล้านบาทก็ไปตกอยู่ที่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายกลางรายใหญ่ที่ได้สิทธิ์จองหุ้นเหล่านี้ไป ผมอยากเห็นตลาดหลักทรัพย์ทำ SCORING ให้คะแนนบรรดาที่ปรึกษาทางการเงินและ UNDERWRITER เหล่านี้ ถ้าหุ้น IPO เมื่อเข้าตลาดแล้วมีราคาเปลี่ยนแปลงไม่มากกว่า 20% ควรจะได้คะแนนเต็ม 10 ส่วนหุ้น IPO ตัวไหนที่เข้าตลาดแล้วราคาเปลี่ยนแปลงมากกว่า 100% น่าจะได้คำแนนต่ำกว่า 5 แล้วนำ SCORING นี้มาเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นระยะๆ และควรจะกำหนดกฏเกณฑ์การจัดสรรหุ้น IPO เสียใหม่ โดยกำหนดสัดส่วนให้กับนักลงทุนสถาบัน : นักลงทุนรายกลางและรายใหญ่ : นักลงทุนรายย่อย เป็น 30 : 40 : 30 โดยนักลงทุนรายกลางและรายใหญ่ หมายถึงนักลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อเดือนมากกว่า 100 ล้านบาทและมีพอร์ตการลงทุนสูงกว่า 100 ล้านบาท แล้วบังคับให้บริษัท UNDERWRITER เหล่านี้ต้องประกาศรายชื่อผู้จองซื้อหุ้น IPO และจำนวนหุ้นที่แต่ละรายได้ใช้สิทธิ์จองต่อสาธารณะ อาจจะเป็นทางเว็บไซด์ของบริษัทและเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อความโปร่งใส มิฉะนั้นหุ้นจองตัวที่มีโอกาสกำไรสูงๆ หลายๆครั้งอาจจะถูกจองโดยญาติพี่น้องของผู้บริหารของ UNDERWRITER เหล่านั้นเสียเอง แทนที่นักลงทุนรายย่อยทั้งหลายที่ถูกเรียกติดปากว่า แมงเม่า จะได้อานิสงค์จากกำไรของหุ้น IPO กับเขาบ้าง
            เนื้อที่หมดแล้ว คงต้องมาต่อเรื่องหุ้น PP และ RO ในสัปดาห์หน้าส่วนภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้ ผมขอแนะนำให้ขึ้นขาย ลงไม่ซื้อนะครับ เพราะว่าผมคิดว่าตลาดหุ้นช่วงนี้แพงเกินไป ถึงแม้หลายฝ่ายจะเก็งว่า กนง.อาจจะมีการประกาศลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า 0.25% จากตัวเลข GDP ปี 2557 แย่กว่าที่คาดคือ = 0.70%เท่านั้น ซึ่ง กนง. อาจจะคงดอกเบี้ยก็เป็นได้ แต่ถึงแม้กนง.จะมีการประกาศลดดอกเบี้ยผมคิดว่า ธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่ลดดอกเบี้ยตาม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แทบไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยเลย

    กิติชัย เตชะงามเลิศ
           18/02/58
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/ หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น