จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ภาษีทรัพย์สินที่จะเป็นธรรม

ภาษีทรัพย์สินที่จะเป็นธรรม


            บนโลกใบนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีฐานะร่ำรวยประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์แต่เป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่าประมาณแปดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยเองก็ไม่สามารถหลีกพ้นจากความจริงข้อนี้ สาเหตุนี้ทำให้รัฐบาลหลายๆคณะพยายามที่จะออกกฏหมายต่างๆเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินจึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาและพยายามผลักดันมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที แต่ดูเหมือนรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากการรัฐประหารอาจจะทำได้สำเร็จ โดยภาษีมรดก ก็อย่างที่ท่านทราบๆกันแล้วว่าจะเรียกเก็บกับผู้รับมรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว จะต้องนำมารวมกัน ถ้าต่ำกว่า 50 ล้าน (โดยนำทรัพย์สินหักด้วยหนี้สินก่อน) ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกิน 50 ล้าน ผู้รับมรดกจะต้องชำระภาษีในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทในอัตราคงที่ ไม่เกิน 10% ซึ่งเป็นอัตราเพดาน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้จริงในเดือนมิถุนายนปีนี้
            แต่บทความฉบับนี้ ผมจะขอเน้นเรื่องภาษีทรัพย์สิน หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งในหลายๆประเทศก็มีการเรียกเก็บภาษีดังนี้ จุดประสงค์คือนอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้วยังเป็นการกระตุ้นให้เจ้าของทรัพย์สิน นำทรัพย์สินเหล่านี้ไปพัฒนา ไม่ใช่ซื้อเก็บไว้เก็งกำไร หรือปล่อยให้รกร้าง สร้างความสูญเสียแก่เศรษฐกิจของชาติ เงินภาษีนี้ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาจัดสร้างสาธารณูปโภค สร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว สะอาด น่ารื่นรมย์แก่สังคมของท้องถิ่นนั้นๆ คิดแล้วก็คล้ายๆมนุษย์คอนโดที่ต้องจ่ายค่าส่วนกลางให้นิติบุคคล เพื่อให้นิติบุคคลมีเงินที่จะไว้ใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางให้คงอยู่ในสภาพที่ดี เหมาะแก่การพักอาศัย ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับภาษีตัวนี้ เพียงแต่ว่าขอให้เงินภาษีในส่วนนี้ ได้ถูกนำไปใช้ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวเท่านั้นก็เพียงพอ แต่ภาษีโรงเรือนที่มีการเรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันก็ควรจะยกเลิกไป เพราะจะซ้ำซ้อนกับภาษีทรัพย์สินที่กำลังจะออกมา ถึงแม้ว่าจะมีบางฝ่ายแย้งว่า ภาษีโรงเรือนนั้นคิดจากฐานค่าเช่า หากเป็นบ้านที่อยู่อาศัยเองไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นการยกเลิกภาษีโรงเรือนจะยังประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าเท่านั้น ส่วนประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้านและอยู่พักอาศัยเองซึ่งจากเดิมก็ไม่ต้องเสียภาษีนี้อยู่แล้ว ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการยกเลิกภาษีโรงเรือนก็ตาม แต่ในเมื่อรัฐจะเรียกเก็บภาษีทรัพย์สินซึ่งอัตราเรียกเก็บก็ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สินนั้นๆ ยิ่งการถือครองทรัพย์สินเพื่อการพาณิชย์ก็จะถูกเรียกเก็บในอัตราภาษีที่สูงกว่าแบบอื่นๆอยู่แล้ว การมีอสังหาริมทรัพย์ไว้เช่าก็ถือว่าเข้าข่ายเพื่อการพาณิชย์อยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะเรียกเก็บภาษีโรงเรือนซ้ำอีก 
            ส่วนข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าไทยที่เสนอขอยกเว้นภาษีที่ดินสำหรับบ้านของผู้มีรายได้น้อยที่มูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท และยกเว้นให้ทุกคนเพื่อความชอบธรรม โดยให้คำนวณภาษีทรัพย์จากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ราคาค่อนข้างสูง ผมมีความเห็นว่าควรจะยกเว้นภาษีสำหรับบ้านที่มีมูลค่าไม่เกิน 1.50 ล้านบาท ส่วนข้อเสนอที่จะให้เก็บค่าธรรมเนียมการโอนเป็น 2% ของราคาซื้อขาย แต่ไม่เกิน 5,000 บาท ผมไม่เห็นด้วย เพราะว่าจะทำให้หน่วยงานของรัฐสูญเสียรายได้ตรงส่วนนี้เป็นอย่างมาก ยิ่งปัจจุบันนี้รัฐยังหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายจนทำให้งบประมาณขาดดุลติดต่อกันมาหลายปี จึงน่าจะคงแบบเดิมไว้ และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงๆ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็เป็นผู้ที่มีฐานะแน่นอน การเก็บ 2% ของราคาทรัพย์สินก็ดูเหมาะสมดี มีฉะนั้นเราจะออกกฏหมายภาษีมรดกหรือทรัพย์สินทำไม ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมนั่นเอง ส่วนค่าจดจำนองที่เดิมคิดไว้ 1% ของราคาทรัพย์สิน สำหรับผู้ที่กู้ซื้ออสังหาเพื่ออยู่อาศัยเอง ตัวนี้ควรจะกำหนดว่า 1% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เพราะผู้กู้ต้องแบกดอกเบี้ยจ่ายกับสถาบันการเงินอยู่แล้ว ภาระจะได้ไม่หนักเกินไป ยกเว้นอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อไว้เป็นสำนักงานหรือเพื่อการพาณิชย์ ก็จะเรียกเก็บในอัตราเท่าเดิมโดยไม่มีเพดาน

            ส่วนข้อเรียกร้องของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีทรัพย๋สินที่บริษัทเหล่านี้ถือครองเพื่อรอการพัฒนา พูดง่ายๆคือรอการสร้างแล้วขาย ให้ยกเว้นไม่เรียกเก็บภายในระยะเวลา 2 ปี ผมถือว่าเป็นการเอาเปรียบบุคคลธรรมดาหรือหน่วยงาน หรือองค์กรอื่นๆ ที่ถือครองทรัพย์สินแห่งนี้แต่ต้องเสียภาษีเป็นรายปี เพราะไม่ว่าจะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือบุคคลธรรมดา ต่างก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.30% (ยกเว้นถ้าบุคคลธรรมดาโอนชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี ก็จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ก็ต้องจ่ายค่าอากรในตอนโอนแทน) ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ก็จะมีวิธีการคำนวณภาษีที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็ต้องเสียภาษีรายได้เช่นกัน ดังนั้นการที่จะยกเว้นการเก็บภาษีกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองทรัพย์สินดังกล่าวในช่วงระยะเวลาถือครองประมาณ 1-2 ปี เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการเอาเปรียบกลุ่มอื่นๆที่อาจจะซื้อลงทุนเหมือนกันหรือจำใจถือเพราะว่ายังหาคนซื้อไม่ได้ อย่าลืมนะครับ การที่จะขายอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนึงไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเจอคนซื้อที่เขา CLICK กับอสังหาชิ้นนั้นจริงๆจึงจะได้ขาย และโอกาสที่จะขายอสังหาของบุคคลธรรมดายิ่งลำบากกว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก และที่อ้างว่าจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจนต้องผลักภาระให้ผู้บริโภค เวลาคุณขึ้นโครงการสร้างเสร็จก่อนขาย ขอถามสักคำว่าคุณตั้งราคาขายตอนสร้างเสร็จแพงกว่าตอนก่อนสร้างไหมครับ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมนี่แหละตัวดี เห็นความแตกต่างของราคามากตอน PRESALE กับช่วงเวลาที่ผ่านไปบางโครงการขยับราคาขึ้นแทบจะรายไตรมาสเสียด้วยซ้ำ

    กิติชัย เตชะงามเลิศ
           11/02/58

        ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที 
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่

 Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
 Twitter : http://twitter.com/value_talk
 Instagram : Gid_Kitichai
 Blog : http://kitichai1.blogspot.com
 You Tube : http://www.youtube.com/user/wittayu9
 Google+ : https://www.google.com/+KitichaiTaechangamlert
 Linkedin : https://www.linkedin.com/in/homeproperty
 Pinterest : http://www.pinterest.com/kitichai/

 หรือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารคนรวยหุัน, Condo Guide, Glow, และ Me(Market Evolution) ทุกเดือน

   ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยเอาเม้าส์ไปทางด้านขวามือจะมีแถบแสดงออกมา แล้วเลือกคลิกไอคอนที่เขียนว่าสมัครรับข้อมูล เมื่อผมมีบทความใหม่ ท่านก็จะทราบทันที

 หาอสังหาทั้งถูกและดีเพื่ออยู่เองหรือเพื่อการลงทุน ได้ที่ http://www.pantipmarket.com/mall/homeproperty

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น