การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด
(ตอนที่ 2)
เรามาคุยกันต่อจากบทความที่แล้ว เรื่องการบริหารจัดการสภาพคล่องและการใช้บัญชี MARGIN
จริงๆแล้วบัญชี MARGIN เปรียบเสมือนดาบ 2 คม
คือ มีประโยชน์มากแต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็สามารถสร้างโทษมหันต์ได้เช่นกัน เพราะว่าเวลาตลาดหุ้นขาขึ้น
ถ้าคุณใช้ MARGIN คุณก็สามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่า
การใช้บัญชีเงินสด
โดยเฉพาะถ้าคุณลงทุนหุ้นถูกต้องถูกจังหวะก็เปรียบเสมือนเสือติดปีกเลยทีเดียว
ลองมาดูกันครับ ถ้าคุณมีเงิน 1 ล้านบาท คุณลงทุนด้วยบัญชีเงินสด
คุณสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในรอบตลาดขาขึ้นนี้ ได้ 80%
นั่นหมายถึง คุณสามารถทำกำไรได้ 800,000 บาท แต่ถ้าคุณลงทุนด้วยบัญชี
MARGIN และหุ้นที่ซื้อทั้งหมดเป็นหุ้นที่โบรคเกอร์คุณให้
MARGIN 50% และคุณลงทุนเต็มวงเงิน
นั่นหมายถึงคุณสามารถซื้อหุ้นในมูลค่าได้ถึง 2ล้านบาท
คือเป็นเงินจากหลักประกันของคุณ 1ล้านบาทและเงินกู้จากโบรคเกอร์อีก 1ล้านบาท
สมมติต่อไปว่า
ทางโบรคเกอร์คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คุณ 7% ต่อปี สมมติว่าคุณซื้อหุ้นแล้วลงทุนถือยาวไป
1ปีพอดี คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งปีเป็นเงิน 72,290 บาท (ดอกเบี้ยคิดทุสิ้นเดือน
ทบต้นไปทุกๆเดือน) สมมติว่าคุณลงทุนเหมือนกับที่คุณซื้อในบัญชีเงินสดทุกประการ
แต่เม็ดเงินที่ลงทุนเป็น 2 เท่า นั้นหมายความว่าคุณจะได้กำไรจากการลงทุน1.60ล้านบาท หักดอกเบี้ยจ่าย 72,290บาทเท่ากับว่าคุณได้กำไรสุทธิ 1,527,710
บาทหรือคิดเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนสุทธิเท่ากับ 152.77%
เลยทีเดียว นี่คือเสน่ห์ของการใช้ MARGINในการลงทุนในช่วงตลาดขาขึ้น
และคุณลงทุนหุ้นถูกตัว แต่ในทางกลับกันถ้าช่วงที่คุณลงทุนอยู่นั้น
ตลาดหุ้นอยุ่ในช่วงวิกฤต ปรากฏว่าเงินที่คุณลงทุนไว้ 1
ล้านในบัญชีเงินสดปรากฏว่า มูลค่าหุ้นในพอร์ตลดลงไปเหลือ 700,000
บาทเท่ากับว่าคุณขาดทุนไป 30%
เราลองมาดูกันว่า
ถ้าช่วงนั้นคุณลงทุนด้วย MARGINคุณจะเป็นอย่างไรบ้าง
ผมบอกไว้ก่อนเลยครับว่า เหมือนกับดูหนังคนละเรื่องกันเลยทีเดียว ถึงแม้ดาราแสดง
(หุ้น) ตัวเดียวกันและผู้กำกับ(ตัวคุณเอง)คนเดียวกัน สมมติฐานเดียวกันกับช่วงหุ้นขาขึ้น
คือลงทุน 2 ล้าน จากหลักประกัน 1 ล้าน
หุ้นที่ลงทุนเหมือนกันแต่ปริมาณหุ้นเป็น 2 เท่า จากการใช้ MARGINในสภาพตลาดแบบเดียวกัน คุณจะขาดทุนเป็น 2 เท่าคือ 600,000
บาท เมื่อนำดอกเบี้ยจ่ายมารวมเข้าไปนั่นหมายถึง คุณจะขาดทุนรวม 672,290 บาท หรือขาดทุน 67.23%
เลยทีเดียว ส่วนของทุนของคุณจะเหลือเพียง 327,710 บาทเท่านั้นเอง เห็นไหมครับว่า
นรกมีจริง ผมจึงมีความเห็นว่าบัญชี MARGINไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนที่น้อยกว่า
5 ปีขึ้นไป และไม่ใช่ว่าคุณมีประสบการณ์การลงทุนมากกว่า 5ปี
แล้วคุณจะเหมาะสมที่จะใช้บัญชี MARGINในการลงทุน เพราะนอกเหนือจากประสบการณ์จากการลงทุนที่ยาวนานแล้ว
ความเชี่ยวชาญและความเข้าใจการลงทุนต้องมีมากพอ
จากตัวอย่างที่ให้เห็นข้างต้น
ส่วนมากผมจะแนะนำให้ซื้อขายในบัญชี MARGIN แต่อย่าเพิ่งใช้วงเงินกู้
ให้เก็บเอาไว้ใช้ในช่วงที่ตลาดวิกฤตจริงๆ จะทำให้คุณมีอำนาจการซื้อในยามที่หุ้นตก
ในขณะที่ถ้าคุณใช้บัญชีเงินสด และคุณซื้อจนหมดเงินแล้วคุณก็จะได้แต่ทำตาปริบๆ
เฝ้าดูราคาหุ้นที่ตกลงไปจนบางตัวทั้งๆที่เป็นหุ้นดีๆแต่ราคาตกต่ำลงไปตามภาวะตลาด
จนราคาถูกว่าปัจจัยพื้นฐานมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องจริงปกติของตลาดหุ้นที่มีความเป็น EXTREME มากๆ คือเวลาภาวะตลาดหุ้นดี ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็มีราคาสูงขึ้น
โดยมีหุ้นหลายตัวเลยทีเดียวที่ราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน บางครั้งมีราคาพุ่งเกินมากกว่า
20-30% เลยเสียด้วยซ้ำ ในทางกลับกัน
ในยามตลาดขาลง ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็จะมีราคาลดลง
โดยมีหุ้นหลายตัวเลยที่ราคาต่ำเกินปัจจัยพื้นฐานมากๆ บางครั้งต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานถึง
20-30% เลยก็มี
บางครั้งมีข่าวลือที่ไม่เป็นจริงแต่ทำให้ตลาดหุ้นลงแรงๆ
อย่างเช่นวันที่ 15 ธันวาคม
ปี 2557 ที่ตลาดหุ้นลงไปทำจุดต่ำสุดที่
1,375.99 จากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 1,514.95 จุด ลดลงไปถึง 138.96 ภายในวันเดียว
หรือลดลงไปถึง 9.17% เกือบถึงจุด CIRCUIT BREAKER ที่ 10% เลยทีเดียว
ก่อนที่นักลงทุนจะตระหนักว่าเป็นข่าวลือที่ไม่จริง จนตอนปิดตลาดขึ้นมาปิดที่
1,478.49 ขึ้นมาจากจุดที่ต่ำสุด 102.50 จุด คิดเป็น 7.45 %
ภายในครึ่งวันทำการเท่านั้น ถ้าในวันนั้นท่านมีสภาพคล่องเหลือไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินสดหรือบัญชี
MARGINก็ตาม และท่านเป็นนักลงทุนที่ใช้เหตุใช้ผล
คงจะเข้าไปซื้อหุ้นตอนช่วงที่ SET INDEX ตกต่ำกว่า 1,400
จุดเป็นแน่ ลองคิดดูสิครับ ว่าท่านจะได้กำไรเพียงใด
ท่านใดอยากจะใช้บัญชีเงินสดหรือบัญชี
MARGIN ในการลงทุน ก็คงจะแล้วแต่วิจารณญานของท่านเอง อย่างไรก็ตาม อย่าพยายามคิดเข้าข้างตัวเอง
ว่าตนเองมีความรู้ความสามารถเข้าใจแล้ว ถึงคุณเองจะมีประสบการณ์การลงทุนมานานระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
เพราะว่าผลลัพธ์จากการใช้บัญชีประเภทใดในการลงทุน
จะสร้างความแตกต่างในผลลัพธ์จากการลงทุนอย่างมหาศาล พิจารณาให้ดีก็แล้วกันนะครับ
เอาละ สมมติว่าท่านตัดสินใจได้แล้วว่าจะใช้บัญชีซื้อขายหุ้นประเภทไหนแล้วต่อไปก็คือการเลือกหุ้นกันเสียที
ว่าไอ้ที่เลือกแบบ FUNDAMENTAL ANALYSIS มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างและแบบ TECHNICAL ต้องดูกราฟตัวไหน อย่างไร ผมขอเริ่มต้นที่ FUNDAMENTALก่อนเลยครับ เพราะว่าผมมีความเห็นว่า การที่เลือกหุ้นที่จะลงทุนควรดูจาก TOP
DOWN และBOTTOM UP ทีนี้เราลองมาดูกันครับว่า
มันแตกต่างกันอย่างไร
1. TOP
DOWN เป็นการวิเคราะห์จาก MACRO
หรือภาพรวมของเศรษฐกิจก่อน โดยจะเริ่มจากเศรษฐกิจโลกเลยยิ่งดี
ว่าช่วงนั้นภาวะเป็นอย่างไรบ้าง และปัจจุบันนักลงทุนยังต้องคอยเงี่ยหูฟังคำพูดของคณะกรรมการ FED ที่มีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมเป็นรายคน
และที่สำคัญที่สุดก็คือคำพูดของประธาน FED คนปัจจุบันว่า จะพูดชี้นำอย่างไร แล้วก็เอามาตีความกันว่า
คำพูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร โดยพยายามตีความเพื่อหา CLUE ที่จะชี้นำว่า FED จะมีการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร
ซึ่งแน่นอนจะมีผลกระทบไม่เพียงแต่ตลาดหุ้นสหรัฐเท่านั้น แต่จะกระเทือนไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก
แน่นอนต้องรวมตลาดหุ้นไทยเข้าไปด้วย สภาวะเศรษฐกิจโลกช่วงที่ผ่านมา ที่เติบโตลดลงไปมากหลักจากวิกฤต HAMBUGER
CRISIS ที่สหรัฐเมื่อปี 2551 บวกกับฐานที่ใหญ่ขึ้นอย่างมาก
จีนจะทำอย่างไรที่จะรักษาการเติบโตของ GDP โดยช่วงที่ผ่านมาจีนเองก็ได้มีการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคไว้มากมายแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง รถไฟความเร็วปกติและรถไฟความเร็วสูง
จนเป็นประเทศที่มีความยาวของรางรถไฟเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากสหรัฐ (224,792 กม.
ข้อมูลปี 2554) ที่มาเป็นอันดับหนึ่ง รัสเซียอันดับสอง (128,000 กม.ข้อมูลปี 2555)
อินเดียอันดับสาม (116,000 กม. ข้อมูลปี
2558) และจีน (112,000 กม. ข้อมูลปี 2558)
ในสมัยก่อนนั้นอินเดียสร้างทางรถไฟไว้มากโดยเฉพาะช่วงที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ
จีนเองเพิ่งมาเริ่มสร้าง เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง
จากการที่ภาวะเศรษฐกิจของโลกโดยรวมยังมีการฟื้นตัวไม่มากนัก
อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่งเกิดจากดอกเบี้ยนโยบายที่ควบคุมโดยธนาคารของประเทศต่างๆ
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการลงทุน
โดยอาจจะมีบางประเทศที่มีการขึ้นดอกเบี้ยบ้างก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้นักลงทุนต้องหาช่องทางลงทุนที่จะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน แทนที่จะลงทุนในตราสารหนี้ ที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น
ดังนั้นการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นนั่นเอง เป็นทางเลือกที่ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบัน
หรือ ผู้มีเงินออมที่เป็นนักลงทุน อาจจะมีการ Switch สินทรัพย์ในพอร์ต
ส่วนในประเทศไทย การท่องเที่ยวน่าจะยังดีอยู่ การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบกับธุรกิจต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรงแรม
MICE ร้านอาหาร
สปา ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้
เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การท่องเที่ยวแบบวัฒนธรรม และโบราณสถานต่างๆเป็นต้น และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไม่แพง คุ้มค่าเงิน
ดังที่ว่า หน่วยงานหรือสื่อใดๆ ก็ตามเมื่อทำการสำรวจ ประเทศไทยมักติดอันดับ TOP
5 หรืออย่างน้อย TOP 10 ประเทศที่คุ้มค่าเงินที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยว
ท่านผู้อ่านคงเริ่มเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการลงทุน
ว่าการที่อัตราดอกเบี้ยลดลงมีผลอย่างไรกับตลาดหุ้น มิฉะนั้นนักลงทุนทั่วโลกทำไมต้องคอยติดตามคำพูดของประธานและคณะกรรมการFED นักลงทุนไทยต้องติดตามผลการประชุม กนง. เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
จากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักๆของเราก็มีเพียงแค่สหรัฐเท่านั้นที่ดู OK ส่วนญี่ปุ่น จีน ประเทศในกลุ่ม EU รวมทั้ง ASEAN ที่นำเข้าสินค่าจากไทยลดลง ถ้าท่านเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ท่านก็ต้องวิเคราะห์กันอีกว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกแบบนี้
จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทยอย่างไร
นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของไทย
ซึ่งเมื่อเลือกอุตสาหกรรมที่ท่านคิดว่าน่าสนใจ มาสัก 5-6 อุตสาหกรรมเป็นอย่างน้อย
หลักจากนั้นท่านก็ลองมาดูรายชื่อบริษัทต่างๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว
แล้วก็เลือกออกมาสัก 2-3 บริษัทโดยเลือกผู้นำของอุตสาหกรรมนั้น แล้วเลือกเบอร์ 2
และ เบอร์3 ของธุรกิจนั้น
หลังจากนั้นก็เริ่มขบวนการคัดเลือกให้เหลือเพียง 1
บริษัท ที่ราคาตลาดมีส่วนลดจากราคาตามปัจจัยพื้นฐานมากที่สุด(ส่วนราคาตามปัจจัยพื้นฐานมีวิธีการหาได้อย่างไร
ผมจะมาพูดถึงวิธีการในตอนต่อๆไป) ขบวนการนี้เริ่มโดยนำรายงาน 56-1 และรายงานประจำปี
มาอ่าน ของทั้ง 3 บริษัท
ดูเหมือนต้องอ่านมากหน่อย ถ้าท่านอยากจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ
ท่านต้องทำได้ การที่อ่านรายงานของทั้ง 3 บริษัท
นอกจากจะทำให้เข้าใจบริษัทที่ท่านอ่านมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น
สินค้าหรือบริการของทางบริษัท ภาวะการณ์ของธุรกิจช่วงที่ผ่านมาและในอนาคตอันใกล้
ปัจจัยต่างๆที่สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของบริษัท ปัญหาความขัดแย้งทางกฎหมายกับบุคคลภายนอก
ซึ่งบางครั้งมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อผลประกอบการของบริษัทในอนาคต
อย่างเช่นปัญหาขัดแย้งของ BANPU กับบริษัทศิวะงานทวี จำกัด
เรื่อง โรงไฟฟ้าหงสา ที่อาจจะทำให้ BANPU ต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลถ้าแพ้คดี
เป็นต้น และหลายๆครั้งจะพบว่ารายงานดังกล่าวที่ต้องอ่าน
มีหลายบริษัทจะเขียนในแง่มุมของผู้บริหารของบริษัทนั้นๆ อาจจะมีการ BIAS ได้ แต่ถ้าอ่านรายงานของทั้ง 3 บริษัท จะทำให้ท่านสามารถเห็นภาพรวมของทั้งอุตสาหกรรมเลยทีเดียว
ทำให้ท่านมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมนั้นๆได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ซึ่งจะส่งผลให้การวิเคราะห์คาดการณ์ที่เป็นงานที่ท่านจะต้องทำต่อไปมีความแม่นยำมากขึ้น
ยิ่งถ้าบังเอิญงานที่นักลงทุนทำอยู่หรือท่านมีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว
ท่านก็จะได้เปรียบนักลงทุนรายอื่น
หลังจากนั้นผมก็จะเอางบการเงินย้อนหลังสัก 3 ปี
เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าท่านขยันมากขึ้นอีกหน่อย เอางบการเงินย้อนหลังมาดู 5 ปีเลย
จะทำให้ท่านเห็นแนวโน้มของรายการต่างๆในงบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย ต้นทุนขาย
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารส่วนดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการกู้เงินไม่ว่าจะเป็นการกู้จากสถาบันการเงิน
ซึ่งอาจจะมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวหรือคงที่ หรือการออกตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ที่อาจจะออกมาหลายๆงวด
ระยะเวลาของหุ้นกู้แต่ละรุ่นอาจจะยาวไม่เท่ากันรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เท่ากัน
หรืออาจจะเป็นหุ้นกู้แปลงสภาพที่ให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้
มีทางเลือกมากขึ้นจากการที่จะได้รับเพียงดอกเบี้ย
เรายังมีสิทธิ์ที่จะแปลงสภาพหุ้นกู้เหล่านี้เป็นหุ้นสามัญ
เมื่อราคาตลาดของหุ้นสามัญของบริษัทนี้มีราคาสูงกว่าราคาตลาดพอสมควร อย่างไรก็ตาม
บริษัทที่ออกหุ้นกู้ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะกำหนดบังคับให้ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้แปลงสภาพ
เมื่อราคาตลาดสูงกว่าราคาแปลงสภาพระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านไม่สามารถหาได้จากรายงานดังกล่าว
ก็อาจจะสอบถามจากแผนก INVESTOR RELATION ของบริษัทนั้นๆ
รวมทั้งการเข้าร่วมงาน OPP DAY เมื่อบริษัทดังกล่าวเข้าร่วม
รวมทั้งติดตามบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารจากสื่อต่างๆและอ่านบทวิเคราะห์ของบริษัทเหล่านี้จากโบรคเกอร์ต่างๆใน
www.settrade.com เพราะว่าโดยปกตินักวิเคราะห์ของโบรคเกอร์ต่างๆมีโอกาสได้เข้าพบพูดคุยกับผู้บริหารมากกว่านักลงทุนรายย่อย
แต่การอ่านบทวิเคราะห์ ท่านต้องสกรีนเอาข้อมูลที่เป็น FACT
แต่ส่วนที่เป็นความเห็น ท่านควรจะพินิจพิเคราะห์ให้มากสักหน่อย
เพราะว่านักวิเคราะห์บางรายก็ไม่ค่อย OK นัก
ดังนั้นข้อสำคัญคือต้องแยกแยะเอาส่วนที่เป็น FACT
กับความเห็นออกมาจากบทวิเคราะห์นั้นๆ
นอกจากนั้นการติดตามภาวะอุตสาหกรรมที่สนใจจากคำสัมภาษณ์ของนายกสมาคมของอุตสาหกรรมนั้นๆ
อย่างเช่น
การที่ผมสนใจธุรกิจประกันชีวิตจากคำสัมภาษณ์ของนายกสมาคมประกันชีวิตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จนทำให้ผมลงทุนใน SCNYL (ชื่อในขณะนั้น
ส่วนปัจจุบันชื่อ SCBLIF) ซึ่งสร้างผลตอบแทนแก่ผมมากกว่า
1,800% ภายในเวลาที่ถือครองหุ้นตัวนี้มา 7-8 ปี
ส่วนงบการเงินนั้น สิ่งที่ท่านต้องดู ไม่ใช่เพียงแค่บรรทัดสุดท้ายหรือกำไรสุทธิ/หุ้นเท่านั้น
สิ่งที่ท่านต้องดูคือทุกรายละเอียดของงบการเงินนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย ต้นทุนขาย
ซึ่งทำให้ท่านสามารถเปรียบเทียบการเติบโตของยอดขายทั้ง YOY
ของบริษัททั้ง 3 และอัตราส่วน GROSS PROFIT MARGIN เทียบ YOY ของบริษัทเดียวกัน และเทียบกันระหว่าง3บริษัท ดูว่าบริษัทไหนที่มี GROSS
PROFIT MARGIN ที่ดีกว่า และยังมียอดรายได้ที่โตขึ้น YOY มาตลอด 5 ปี บริษัทนี้เข้าเค้าแล้วว่าน่าจะเป็นบริษัทที่น่าสนใจลงทุน
แต่ช้าก่อนเรายังมีขั้นตอนการสกรีนหุ้นที่จะลงทุนขั้นต่อไป
โดยดูค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เพื่อดู EBIT/ยอดขายสุทธิ
(EBIT=EARNING BEFORE INTEREST & TAX) เช่นเดียวกัน
บริษัทไหนที่มีอัตราส่วนนี้ดีขึ้น YOY
และดีกว่าบริษัทที่เหลือ บริษัทนั้นน่าสนใจที่สุด แต่ตอนจะเหลียวไปดูบรรทัดสุดท้าย
ท่านควรตรวจสอบดูว่ามีรายการพิเศษบ้างไหม เช่น กำไร (ขาดทุน)
จากอัตราแลกเปลี่ยนหรือกำไร (ขาดทุน)จากราคาวัตถุดิบ
หรือกำไรขาดทุนที่เกิดจากการขายทรัพย์สินหรือหุ้นของบริษัทในเครือหรือบริษัทย่อย ถ้ามีรายการพวกนี้ควรจะนำไปหักออกจากกำไรสุทธิแล้วควรจะบวกกลับภาษีที่เกิดขึ้นจากรายการเหล่านี้กลับเข้าไป
เพื่อจะได้กำไรปกติสุทธิ/หุ้น ซึ่งจะเป็นตัวที่เราจะนำมาใช้คำนวณหา NET
PROFIT MARGIN เปรียบเทียบทั้ง YOY และเทียบเคียงกันระหว่าง 3 บริษัท
เนื้อที่หมดเสียแล้วครับ อ่านต่อบทความหน้าละกันครับ
กิติชัย เตชะงามเลิศ
9/9/61
อ่าน การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 1 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/1.html
การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 2 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/2.html
การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 3 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/3.html
การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 4 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/4.html
การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 4 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/4.html
การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนจบ ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/blog-post_9.html
ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยกรอกอีเมลของท่าน ในช่องใต้ Follow by Email ทางด้านขวามือ เมื่อมีบทความใหม่ๆ ก็จะมีการส่งอีเมลแจ้งเตือนให้ท่านทราบ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความดีๆกันนะครับ
ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/c/KitichaiTaechangamlert
Twitter : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_Kitichai
Blog : http://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/c/KitichaiTaechangamlert
หรือ 1.หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 ในคอลัมน์ "เขียนอย่างที่คิด"
2.วารสารเภตรา ของสมาคมศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ จุลสารเตชะสาร ของสมาคมเตชะสัมพันธ์ ทุกไตรมาส
ห้องที่จะขายดาวน์(เข้าอยู่ได้เลย)
ห้อง 2
นอน 1 น้ำ 43.5
ตารางเมตร ไม่ติดลิฟท์และห้องขยะ ไม่โดนบล็อควิว
เฟอร์นิเจอร์ครบครัน ตกแต่งสวยมาก ราคา 7,000,000 บาท
ดู VDO ที่ https://youtu.be/MFkfks7Q3XM
สามารถดาวน์โหลดรูปภาพและวีดีโอทั้งหมดของ
อัลทีจูด ดีไฟน์ สามย่าน(Altitude
Define Samyan) ได้ที่ https://www.dropbox.com/sh/yydb77yvmhk1926/AAAOykYkVdsXAVOanCti6x0aa?dl=0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น