จริงๆแล้วสัปดาห์นี้ควรจะเป็นบทความเรื่อง “ฝากเงินที่ไหนได้ดอกเบี้ยสูงสุด(ตอนจบ)” แต่พอดีช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
(กยศ.) แล้วชักดาบ จนทำให้คุณครูวิภา ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในกำแพงเพชร
ถูกศาลตัดสินยึดทรัพย์เนื่องจากเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้กยศ. ให้นักเรียนชั้น ม.4
และ ม.5 จำนวน 60 คน
ตั้งแต่ปี 2541 แต่ปรากฎว่า ลูกศิษย์จำนวน 23 ราย ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้กับกยศ. ทำให้คุณครูผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบทั้งหมดนั้น
จนนำไปสู่การฟ้องและบังคับคดีเอากับผู้ค้ำประกัน
ที่ผ่านมาครูวิภาได้นำเงินไปชำระหนี้ให้กับกยศ.ตามหมายบังคับคดีแล้ว 3 คดี กระทั่งมีหมายบังคับคดียึดบ้าน และที่ดินใน จ.กำแพงเพชรอีกครั้ง
โดยมีกำหนดขายทอดตลาดในเดือน ส.ค. นี้ ทำให้ครูไม่สบายใจ และเป็นกังวล เพราะ
ไม่รู้ว่าจะถูกบังคับคดีอีกกี่ครั้ง และจะต้องหาเงินอีกเท่าไร
จึงจะชำระหนี้แทนลูกศิษย์ครบทั้งหมด ผมอ่านข่าวเรื่องนี้แล้วรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง
ครูวิภาให้ข้อมูลว่า ได้เซ็นค้ำประกันหนี้ กยศ. ให้กับนักเรียนมากถึง 60 ราย
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักว่ากยศ.ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
28 มีนาคม พ.ศ. 2538 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
16 มกราคม พ.ศ. 2539 ในสมัยท่านนายก บรรหาร
ศิลปอาชา ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามากขึ้น
จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541
ในสมัยท่านนายก ชวน หลีกภัย มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา
และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา