จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 3 )

                                     การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 3 )


                บทความก่อนพูดถึงการติดตามข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับบริษัทที่เราสนใจจะลงทุน รวมทั้งข่าวคราวของอุตสาหกรรมที่บริษัทที่เราสนใจอยู่ว่ามีสภาวะการณ์อย่างไรบ้าง รวมทั้งการตรวจสอบงบการเงินของบริษัทที่เราเลือกลงทุน นอกจากสิ่งที่ต้องตรวจสอบและวิเคราะห์ดูแล้ว ยังมีอัตราส่วนอื่นๆที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณา เช่น ROE ( RETURN ON EQUITY ) และ ROA (RETURN ON ASSET ) ค่า 2 ตัวนี้ยิ่งมากจะยิ่งดี นั่นหมายถึงผลตอบแทนจากส่วนของทุน และผลตอบแทนจากการใช้สินทรัพย์ที่มีเพื่อสร้างกำไรให้กับบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อท่านทำตามขั้นตอนตามที่เขียนมาทั้ง 6 ขั้นตอน ท่านก็จะพอมีแนวทางที่จะเลือกหุ้นที่จะลงทุนได้แล้ว

                ขั้นตอนต่อไป ก็คือการดูว่าราคาหุ้นของบริษัทที่ท่านได้คัดเลือกไว้แล้วว่ามีราคาถูกเพียงพอให้ท่านเข้าไปลงทุนหรือไม่ ค่า P/E จะบอกท่านได้ โดยตัว P ก็ดูจากราคาตลาดของหุ้นบริษัทที่ท่านสนใจ ส่วนตัว E ก็คือตัว EPS แต่ไม่ใช่ EPS ที่บริษัทประกาศออกมา แต่ต้องเป็นกำไรปกติสุทธิ/หุ้นที่ท่านคำนวณตามที่ผมได้อธิบายไว้เบื้องต้น แต่ P/E ที่ท่านคำนวณได้จะเป็น P/E ที่เกิดขึ้นจากกำไรที่ประกาศออกมาแล้วของปีล่าสุด หรือถ้าท่านเอากำไรของ 4 ไตรมาสล่าสุด มาคำนวณ ก็จะเป็น TRAILING P/E สิ่งที่ต้องระวังคือ กรณีที่บริษัทนั้นๆ ถ้าเป็น CYCLICAL STOCK คือเป็นหุ้นของบริษัทที่ธุรกิจเป็นวัฏจักรอาจจะทำให้ท่านตัดสินใจในการลงทุนผิดพลาดไปได้ เพราะว่าช่วงที่ธุรกิจอยู่ในวัฏจักรช่วงขาขึ้น ผลประกอบการของบริษัทจะดีเป็นพิเศษจะทำให้เมื่อคำนวณ P/E แล้วจะได้ค่าP/E ที่ต่ำมาก ทำให้นักลงทุนเข้าใจว่าเป็นหุ้นที่ดีมีราคาถูก พอช่วงวัฏจักรขาลงหลายๆบริษัทเลยที่จะมีผลประกอบการที่ติดลบ คือขาดทุนเลยทีเดียว ซึ่งก็จะสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนได้ โดยปกติถ้าเลี่ยงได้ก็น่าจะเลี่ยงที่จะลงทุนในหุ้นที่อยู่ในธุรกิจแบบวัฏจักร เพราะว่ามีความเสี่ยงในการลงทุนเป็นอย่างมาก 

               ผมจะยกตัวอย่างราคาหุ้นที่อยู่ในธุรกิจวัฏจักรตัวหนึ่งให้ท่านได้เห็นถึงผลตอบแทนที่สุดมหัศจรรย์ และอารมณ์ประเภทนรกมีจริง เรามาดูราคหุ้น STA กันครับ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ราคาหุ้นตัวนี้อยู่ที่ 1.90 บาท ซึ่งช่วงนั้นราคายางตกต่ำอย่างมาก จึงทำให้ราคาหุ้น STA ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับยางที่มีราคาต่ำลง แต่พอช่วงที่ราคายางฟื้นตัวขึ่นมา ราคาหุ้นตัวนี้ดีดขึ้นไปถึง 41.25 บาท เมื่อเดือนมกราคม 2554 ราคาขึ้นมาถึง 39.35บาท/หุ้น คิดเป็น 2,071% เลยทีเดียว แต่พอราคายางตกลงมาอีกรอบ ราคาหุ้นตัวนี้ก็หล่นลงมาเหลือเพียง 11.30 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 เป็นการลดลงถึง 29.45 บาท คิดเป็น 71.39% ซึ่งปัจจุบันราคาตัวนี้ก็ยังต้วมเตี้ยม อยู่แถวๆ 10 บาทต้นๆอยู่เลย นี่กระมังที่นักลงทุนบางท่านกลับเห็นว่าเป็นหุ้นที่มีเสน่ห์ เพราะว่าเห็นผลกำไรจากราคาหุ้นในช่วงที่หุ้นเหล่านี้เริ่ม TURNAROUND แต่หุ้นประเภทนี้ ที่สุดแล้วก็สร้างบาดแผลให้กับนักลงทุนไว้มากมาย 

             ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการประเมินราคาที่เหมาะสมหุ้นกลุ่มวัฏจักรเป็นอะไรที่ประเมินยากมาก ถ้าคิดจะลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ TIMING ที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงเวลาที่ธุรกิจนี้อยู่ในช่วง DOWN CYCLE มานานแล้ว และเริ่มมีสัญญาณว่าเริ่มฟื้นตัวแล้ว ช่วงนี้แหละเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด ซื้อราคาไหนก็ได้ไม่แพง เพราะว่าเวลาขึ้นอย่างที่เห็นจากตัวอย่างหุ้น STA ซึ่งขึ้นได้รอบหนึ่งเป็นพันๆเปอร์เซนต์เลยทีเดียว แต่ปัญหาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสัญญาณฟื้นตัวที่แท้จริง เพราะว่าถึงแม้จะเป็นช่วงขาลงก็ตาม แต่ก็มีช่วง REBOUND ของราคาของผลิตภัณฑ์เป็นช่วงๆ ซึ่งก็พลอยทำให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องมีการ REBOUND ตามไปด้วยเช่นกัน บางครั้งทำให้นักลงทุนหลายคนเข้าใจผิดว่า จบช่วงขาลงแล้ว ทำให้ต้องติดหุ้นไปในที่สุด ผมจึงแนะนำว่า ถ้าเลี่ยงได้ ก็เลี่ยงเถอะ สำหรับหุ้น TURNAROUND
               
              กลับมากันที่ P/E อันที่จริงตัว E ที่ท่านควรจะใช้ ควรจะเป็น ตัว E ในอนาคต โดยการประเมินกำไรที่จะเกิดขึ้นใน 3 ปีข้างหน้าและ G ควรจะมีการเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20% ตัดปัญหาคำถามที่ควรจะให้ค่า P/E หุ้นแต่ละตัวที่เท่าใดก็หมดไป ส่วนท่านที่ชอบให้ HISTORICAL P/E (P/E ในอดีต) โดยเอาค่าเฉลี่ยในอดีตมาใช้แล้วอาจจะบวกหรือลบ 1 หรือ 2 STANDARD  DEVIATION พูดไปพูดมารู้สึกว่า อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านงงมากขึ้น แทนที่จะเข้าใจมากขึ้น ขออนุญาตตัดบทเลยว่า เอาค่า PEG หรือ PE/G นี่แหละครับดีที่สุด 



            ทั้งหมดที่กล่าวมาคือการใช้วิธี TOP DOWN ในการวิเคราะห์หาหุ้นที่น่าสนใจที่จะลงทุนที่ผมใช้อยู่ ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือ วิธี BOTTOM UP ซึ่งเป็นวิธีที่ตรงข้ามกับแบบ TOP DOWN โดย TOP DOWN จะเป็นการมองจากข้างบนลงล่าง คือจะมองแบบ MACRO ก่อนโดยดูภาพเศรษฐกิจโลกว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร และอุตสาหกรรมใดที่น่าสนใจในภาวะเศรษฐกิจเช่นนั้น แล้วค่อยมาดูรายบริษัทที่น่าสนใจที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ นั่นคือมาเจาะ MICRO ทีหลัง ในขณะที่ BOTTOM UPนั้น โดยปกติผมจะมีหุ้นที่ผมติดตามอยู่เป็นประจำประมาณ 30-40 ตัว โดยตัวไหนที่ผมถืออยู่ในปัจจุบัน ก็จะติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนตัวไหนไม่ได้ถืออยู่แต่เคยถือหรือแม้แต่ไม่เคยถือ แต่ว่าน่าสนใจ ก็จะคอยติดตามห่างๆ หุ้นตัวที่ติดตามห่างๆ เมื่อมีแนวโน้มว่าธุรกิจของบริษัทนั้นๆเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจนผมรู้สึกว่าน่าสนใจ ผมก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น วิธีการวิเคราะห์หาราคาที่เหมาะสมก็จะเป็นวิธีเดียวกับที่ได้กว่ามาแล้วในบทความฉบับก่อนๆ


               เมื่อเลือกหุ้นที่น่าสนใจได้และราคาที่เหมาะสมได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือหา TIMING ในการเข้าไปลงทุน  ซึ่งปกติผมจะใช้ TECHICAL ANALYSIS คือการนำกราฟของราคาหุ้นตัวที่คิดว่าจะเข้าไปลงทุน ว่ามีแนวโน้มอย่างไร เป็นขาขึ้นขาลงหรือ SIDE WAY ซึ่งแนวโน้มของราคาหุ้นก็มีเพียงแค่ 3 แนวโน้มนี่แหละครับ แต่เวลาดูกราฟ โดยปกติผมจะใช้กราฟที่เป็นรายเดือนก่อนเพื่อดูแนวโน้มในระยะยาว ถ้ากราฟบอกว่าแนวโน้มระยะยาวอยู่ในขาขึ้น อย่างนี้ค่อยสบายใจว่า หุ้นตัวนี้มีความเสี่ยงจากการลงทุนระยะยาวไม่มากนัก หลังจากนั้นก็มาดูกราฟรายสัปดาห์เพื่อดูแนวโน้มระยะกลาง และถ้ากราฟบอกว่า OK อย่างนี้ก็หมายความว่ามีความเสี่ยงในระยะกลางน้อย แล้วสุดท้ายก็มาดูกราฟรายวัน ถ้ากราฟรายวันบอกว่าในระยะสั้นเป็นแนวโน้มขาขึ้นด้วย อย่างนั้นคงต้องซื้อเลยทันที แต่ถ้ากราฟรายวันมีแนวโน้มเป็นขาลง อย่างนี้ผมยิ่งชอบ เพราะผมยังไม่ต้องรีบซื้อทีเดียวเลย อาจจะแบ่งการซื้อเป็นหลายๆครั้ง ตามแนวรับที่ได้จากการดูกราฟ นั่นหมายถึงผมจะได้หุ้นตัวนี้ในราคาที่ถูกลงไปอีก นั่นหมายถึงผมจะยิ่งมี MARGIN OF SAFETY มากขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยผลกำไรที่จะได้มีโอกาสมากขึ้น ทีนี้คำถามที่ท่านผู้อ่านที่พอจะมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคนิคต่างๆในการดูกราฟ คงอยากจะทราบกระมัง ปกติผมใช้ INDICATOR ตัวไหนในการวิเคราะห์ จริงๆแล้วตัวที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นตัว BASIC จริงๆคือ

               1.MOVING AVERAGE (MA) หรือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ มีหลายคนที่เริ่มศึกษาเรื่อง TECHICAL ANALYSIS ใหม่ๆ มักจะชอบถามว่า ที่มาของ INDICATOR ทั้งหลายนั้น มีสูตรในการคำนวณเพื่อที่จะได้มาอย่างไร ผมเองก็เป็นคนหนึ่งในช่วงเวลาที่เริ่มศึกษาแนวทางนี้ ก็มีความสงสัยดังกล่าวเช่นกัน อาจจะเป็นเพราะสมัยเรียนหนังสือ วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ผมชอบกระมัง ทำให้มีความอยากรู้ที่มาที่ไป แต่พอผ่านไปสักพัก ผมพบว่ามันไม่มีความจำเป็นแม้แต่น้อยที่จะรู้ที่มาของค่า INDICATOR ต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการวิเคราะห์แบบนี้คือ การดูที่ผลลัพธ์ หรือกราฟที่แสดงออกมา แล้วเราตีความว่าอย่างไร การวิเคราะห์ทางเทคนิคนี้ผมมีความรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่จะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะว่ากราฟรูปเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายคนอาจจะเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในรูปนั้นแตกต่างกัน ผู้ที่มีประสบการณ์ในการดูกราฟมานานและมีความเชี่ยวชาญอาจจะเห็นหลายๆภาพซ้อนกันอยู่ในภาพเดียวกัน ซึ่งผมจะพูดถึงในโอกาสต่อไป 

                แต่ตอนนี้เรากลับมาที่ INDICATOR ตัวแรกก่อน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ผู้ที่เริ่มศึกษาการดูกราฟจะเริ่มต้นจะต้องเรียนรู้ก่อนเป็นตัวแรกๆ MOVING AVERAGE ที่นักลงทุนใช้จะมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น แบบ SIMPLE (ปกติ) WEIGHTED (แบบถ่วงน้ำหนัก) และแบบ EXPONENTIAL(แบบยกกำลัง)  ตัวผมเองผมจะใช้แบบ EXPONENTIAL เป็นหลัก  เพราะว่ามักจะส่งสัญญาณเร็วกว่า 2 แบบที่เหลือ แต่บางครั้ง สำหรับหุ้นบางตัว ถ้าผมย้อนไปดูอดีตแล้วรู้สึกว่า แบบ EXPONENTIAL ไม่แม่นยำ ผมจะลองใช้แบบ SIMPLE หรือแบบ WEIGHTED ดูเพื่อหาดูว่ารูปแบบใดที่เหมาะกับหุ้นตัวนั้นๆ โดยดูจากความแม่นยำในอดีต โดยนักวิเคราะห์ทางเทคนิค มีความเชื่อเรื่อง “HISTORY WILL REPEAT ITSELF” หรือประวัติศาสตร์มักจะย้อนรอยตัวเอง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เขามาดูรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจากกราฟนั่นเอง ทีนี้เทคนิคในการดู MOVING AVERAGE มีอะไรบ้าง ก่อนอื่นเราต้องเลือกจำนวนวันที่จะใช้เสียก่อน ปกติผมจะใช้ MA 5 , 10 , 15 , 25 , 75 และ 200 วัน โดยเส้น 5 วันเป็นตัวแทนของระยะสั้นมากๆ เส้น 10 วันเป็นตัวแทนระยะสั้น ส่วนเส้น 25 วันเป็นตัวแทนระยะระหว่างระยะสั้นและระยะปานกลาง เส้น 75 วันเป็นตัวแทนระยะปานกลาง และ 200วันเป็นตัวแทนระยะยาว

               ปกติเวลาที่ราคาหุ้นอยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย หมายถึงยังดูไม่ค่อยดี ยิ่งถ้าราคาหุ้นอยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ยทั้ง 5 ยิ่งแสดงว่า หุ้นตัวนั้นอยู่ในภาวะ BEARISH หรือภาวะหมี คืออยู่ในแนวโน้มไม่ดี ในทางตรงกันข้าม ขณะที่ราคาหุ้นตัวใดอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยทั้ง 5 เล้น และค่าเฉลี่ยเหล่านั้นเรียงตัวโดยเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นอยู่ข้างบน แล้วไล่เรียงลำดับลงมาจนถึงเส้นระยะยาวที่สุด ในที่นี้คือ เส้นค่าเฉลี่ย 5 วัน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สั้นที่สุดที่ผมใช้  อยู่บนสุด ตามมาด้วย 10 ,25 ,75 วัน โดยเส้น 200วัน อยู่ล่างสุด รูปกราฟแบบนี้แหละเป็นรูปกราฟที่สวย เพราะว่าหุ้นตัวนั้นอยู่ในภาวะ BULLISH หรือภาวะกระทิง ยิ่งถ้าราคาหุ้นอยู่เหนือเส้น 5 วันไม่มากยิ่งดี แต่ถ้าราคาหุ้นอยู่เหนือเส้น 5 วันมากๆ แสดงว่าอาจจะอยู่ในภาวะ OVERBOUGHT ในช่วงสั้น คือเป็นภาวะที่มีการซื้อมากเกินไป อาจจะมีการปรับตัวลงในระยะสั้นได้ เป็นต้น นอกจากนี้ เวลาราคาหุ้นตัดทะลุเส้นค่าเฉลี่ยลงไป จะทำให้แนวโน้มดูไม่ดี และเส้นค่าเฉลี่ยเส้นนั้นจะเป็นแนวต้าน เวลาที่หุ้นตัวนั้นมีราคาปรับตัวขึ้นมา 

                   ในทางกลับกัน ถ้าราคาหุ้นปรับตัวทะลุเส้นค่าเฉลี่ยขึ้นไป แสดงว่า เริ่มมีแนวโน้มที่ดี เส้นค่าเฉลี่ยเส้นนั้นก็จะกลายเป็นแนวรับไปโดยอัตโนมัติ  และในกรณีเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นตัดทะลุเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวขึ้นไป หมายถึงแนวโน้มได้เปลี่ยนไปในทางที่ดี และจุดตัดนั้นก็จะเป็นแนวรับที่ดีจุดหนึ่ง เวลาที่หุ้นตัวนี้มีราคาปรับตัวลงมา ในทางกลับกัน ถ้าเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นตัดทะลุเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวลงไป ก็แสดงว่าหุ้นตัวนี้เริ่มมีแนวโน้มไม่ดีเสียแล้ว และเมื่อหุ้นตัวนี้มีราคาปรับตัวขึ้นมา จุดตัดนี้ก็จะเป็นแนวต้าน  เวลาที่หุ้นกลับขึ้นมา แล้วที่ผมพูดถึง กราฟรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน เส้นค่าเฉลี่ยทั้ง 5 เส้น ผมก็ดูทั้งรายวัน สัปดาห์ และรายเดือนด้วยเหมือนกัน เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว บางครั้ง ผมก็ปรับแต่งจากเส้น 5 วันเป็น 7 วัน เส้น 10 วันเป็น 12,13,หรือ 14 วันจนกว่าจะเห็นว่าเส้นนั้นแสดงผลได้แม่นยำที่สุด โดยดูจากช่วงอดีตที่ผ่านมา  มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านพอจะเข้าใจถึงวิธีการใช้ INDICATOR ตัวนี้กันแล้ว เรามาดู INDICATOR ตัวถัดไปในบทความหน้ากันครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ


    9/9/61

อ่าน การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 1 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/1.html
       การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 2 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/2.html
       การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 3 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/3.html
       การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 4 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/4.html
       การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนจบ )  ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/blog-post_9.html



          ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยกรอกอีเมลของท่าน ในช่องใต้ Follow by Email ทางด้านขวามือ เมื่อมีบทความใหม่ๆ ก็จะมีการส่งอีเมลแจ้งเตือนให้ท่านทราบ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความดีๆกันนะครับ



ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่


      หรือ 1.หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 ในคอลัมน์ "เขียนอย่างที่คิด"   
              2.วารสารเภตรา ของสมาคมศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ จุลสารเตชะสาร ของสมาคมเตชะสัมพันธ์ ทุกไตรมาส


ณ วรา เรสซิเดนท์ หลังสวน ขายดาวน์ยูนิตสุดสวย ชั้นเพนท์เฮ้าส์ พร้อมเฟอร์นิเจอร์พรีเมียมครบชุด ซื้อมาในรอบ VVIP เจ้าของขายเอง ราคาพิเศษ เดิน 3 นาที จาก BTS ชิดลม


     ห้องที่จะขายดาวน์(คาดว่าจะเสร็จภายใน กย. ปี 2561) : ห้อง ชั้น 8(ชั้นเพนท์เฮ้าส์ ) พื้นที่ 44.37 ตรม.1 นอน 1 น้ำ หันไปทางทิศเหนือ ชั้นนี้ มีสวนลอยฟ้า สระว่ายน้ำ และฟิตเนส วิวดี พร้อมเฟอร์นิเจอร์พรีเมียมครบชุด ตกแต่งสวยมาก ราคา 10,600,000 บาท

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  http://thinkofliving.com/2016/02/24/navarang-press-navara/#QIelJ0rQfTXROa15.99


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น