จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร

จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร
เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆ

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนจบ )

                         การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนจบ )




            บทความนี้เรามาต่อที่  INDICATOR ตัวถัดไปกันครับ

                6. PARABOLIC SAR หลายครั้งเลยที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคเกิดความอึดอัดใจ เพราะว่า INDICATOR แต่ละตัวส่งสัญญาณซื้อ หรือขาย ราคาก็ขึ้นหรือลงไประดับหนึ่งแล้ว  อย่างเช่น กว่า MACD จะตัดขึ้น หรือตัดลง นั่นหมายความว่า ราคาก็มีการปรับตัวขึ้นหรือลงไประดับหนึ่งแล้ว จึงทำให้มีการพัฒนา INDICATOR ตัวนี้ขึ้นมาโดยนักเทคนิคชื่อดังนาย WELLES WILDER ผู้เป็นผู้สร้างตัว RSI ตัวชี้วัดที่ผมได้กล่าวถึงเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน  โดยตัวชี้วัด SAR นี้ จะมีลักษณะเป็นจุดๆ ซึ่งมีนักเทคนิคหลายคนเรียกมันว่าเป็นตัว STOP AND REVERAL SYSTEM คือ เป็นจุดกลับเปลี่ยนทิศทางของราคา โดยตราบใดที่ตัวจุด SAR เหล่านี้อยู่ภายใต้แท่งราคาหุ้น ตราบนั้นหุ้นตัวนั้นยังอยู่ในภาวะ BULLISH เช่นเดียวกัน ตราบใดที่จุด SAR เหล่านั้นอยู่เหนือแท่งราคาหุ้นตัวนั้นอยู่ในภาวะ BEARISH และจุดที่เริ่มเข้าซื้อก็ต่อเมื่อตัวจุด SAR ที่เคยอยู่เหนือแท่งราคาได้กลับลงมาอยู่ใต้แท่งราคาโดยจุดแรกที่เริ่มกลับลงมาคือจุดที่จะเริ่มเข้าซื้อนั่นเอง  ในทำนองกลับกับ จุดที่ท่านจะต้องรีบตัดสินใจขายก็คือ เมื่อจุดSAR ที่เคยอยู่ใต้แท่งราคาได้กลับไปอยู่เหนือแท่งราคาจุดที่กลับขึ้นไปเป็นจุดแรกก็คือ จุดที่ท่านควรจะตัดสินใจขายหุ้นตัวนั้นทิ้งในทันที  ซึ่งจาก 6 INDICATOR ดูเหมือนตัวชี้วัดนี้จะมีวิธีการที่ง่ายที่สุดใช่ไหมครับ และนอกจากง่ายที่สุดแล้ว มันยังได้ผลดีด้วยครับ


               7.FIBONACCI  RETRACEMENT เป็นการพล็อตกราฟเพื่อหาจุดที่จะเข้าไปรับซื้อในช่วงที่หุ้นตกลงมา หรือหาจุดที่จะขายเมื่อหุ้นตัวนั้นดีดขึ้น  โดยจะสร้างจากจุดต่ำสุดไปยังจุดสูงสุดเพื่อหาจุดทยอยรับซื้อในช่วงที่หุ้นปรับตัวลงมา และสร้างจากจุดสูงสุดไปจุดต่ำสุด เพื่อหาจุดขายตอนที่หุ้น REBOUND หรือปรับตัวขึ้น ซึ่งค่าที่ผมใช้เป็นปกติจะมีอยู่ 3 ค่าคือ 38.2% 50% และ 61.8% ในหุ้นที่มีความแข็งแกร่งของราคามาก เวลาหุ้นปรับตัวลงมาที่แนวรับ 38.2% น่าจะรับอยู่ แต่ถ้าแข็งแกร่งปานกลางอาจจะต้องดูที่แนวรับ 50% ส่วนตัวที่มีความแข็งแกร่งน้อย อาจจะต้องไปรอดูที่แนวรับ 61.8% หรือตัวที่อ่อนแอมากอาจจะต้องไปทดสอบจุดต่ำสุดเก่า ตัวที่อ่อนแอมากๆ อาจจะเกิดจุดต่ำสุดใหม่  ในทางกลับกัน ในช่วงที่หุ้นพลิกกลับตัวขึ้นมาสำหรับหุ้นที่อ่อนแอ แนวต้านที่ 38.2% มักจะสกัดกั้นการดีดตัวขึ้นมาได้ ส่วนตัวที่แข็งแกร่งขึ้นมาหน่อย อาจะดูที่แนวต้านที่ 50% ส่วนตัวที่แข็งแกร่งขึ้นมาอีกอาจจะขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 61.8% ส่วนตัวที่แข็งแกร่งจริงๆ อาจจะขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมหรืออาจจะทำจุดสูงสุดใหม่เสียด้วยซ้ำ  ซึ่งแน่นอน จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดมีหลายจุด ท่านจะเลือกที่จุดไหนก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าช่วงระยะเวลาที่ท่านใช้ดูเป็นช่วงระยะเวลายาวนานแค่ไหน

               นอกจาก INDICATOR 7 ตัวที่กล่าวมานี้ การรู้จักเส้นแนวโน้มจากราคาก็เป็นความรู้พื้นฐานที่ท่านนักลงทุนที่สนใจจะใช้การวิเคราะห์เทคนิคช่วยในการตัดสินใจได้ง่ายๆ เช่นกัน เช่นเส้นแนวโน้มขาขึ้น (UPTREND LINE) หรือขาลง (DOWNTREND LINE) สามารถลากด้วยตัวเองได้ไม่ยากเลย  เมื่อเราเห็นจุดต่ำสุด ที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็สามารถลากเส้นแนวโน้มขาขึ้นโดยมาจากจุดที่ต่ำสุดจุดก่อนไปยังจุดต่ำสุดถัดไป แล้วลากต่อยาวออกไปทางด้ายขวามือ ก็จะได้เส้นแนวโน้มขาขึ้นแล้ว เมื่อใดที่หุ้นปรับตัวลงมา เส้นแนวโน้มเส้นนี้ก็จะเป็นแนวรับที่ดีที่จะรองรับการปรับตัวลงได้ แต่ถ้าทะลุลงมา หมายความว่าหุ้นอาจจะกำลังเปลี่ยนแนวโน้มแล้ว จะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลง หรือ SIDE WAY ออกด้านข้างก็ได้ 

               โดยจะเริ่มจากเส้นแนวโน้มขาลง ซึ่งง่ายมาก เมื่อเราเห็นจุดสูดที่ต่ำลงมาเรื่อยๆ เราก็สามารถลากเส้นแนวโน้มขาลง โดยการลากจากจุดที่อยู่สูงที่สุดก่อนหน้าไปยังจุดสูงที่สุดถัดไป แล้วลากต่อไปทางขวามือ ก็จะได้เส้นแนวโน้มขาลง เมื่อหุ้นตัวนี้เด้งขึ้นมาก็จะเจอกับเส้นแนวโน้มขาลงตัวนี้สกัดต้านเอาไว้ แต่ถ้าการดีดตัวมีความแข็งแกร่งมาก อาจจะทะลุเส้นแนวโน้มนี้ได้ แล้วอาจจะเปลี่ยนจากแนวโน้มลงเป็นแนวโน้มขึ้น หรืออาจจะเปลี่ยนเป็น SIDE WAY


               นอกจากเส้นแนวโน้มขาขึ้นและขาลงแล้ว ยังมีรูปแบบต่อเนื่อง (CONTINUOUS PATTERN) อีกหลายรูปแบบ รูปแบบที่เห็นได้บ่อยๆคือรูปแบบสามเหลี่ยม(TRIANGLE) ซึ่งรูปแบบนี้ ท่านอาจจะต้องมีจินตนาการที่ดีในการมองเห็นรูปจากกราฟของแท่งราคาหุ้นแล้วสามารถมองออกมาได้ว่าเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม หรืออาจจะต้องหาประสบการณ์ในการดูกราฟมากๆเข้าไว้ ในที่สุดพอเห็นรูปกราฟที่พอจะพล็อตเป็นรูปสามเหลี่ยมได้ ท่านจะสังเกตเห็นได้ทันทีที่เห็นรูปภาพนั้นๆ โดยที่รูปแบบสามเหลี่ยมนี้ยังแบ่งออกเป็น

               1.SYMMETRIC TRIANGLE คือรูปแบบราคาที่เมื่อพล็อตเป็นรูปกราฟแล้ว เส้นแนวโน้มเส้นบนจะเป็นเส้นแนวโน้มลง ส่วนเส้นแนวโน้มเส้นล่างจะเป็นเส้นแนวโน้มขาขึ้น โดยทำมุมกับเส้นกึ่งกลางระหว่างเส้นทั้ง 2 ด้วยองศาที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน เมื่อราคาหุ้นตัดเส้นแนวโน้มเส้นบนขึ้นไปหมายถึงสัญญาณซื้อ ในขณะที่ถ้าราคาหุ้นตัดเส้นแนวโน้มเส้นล่างลงไปหมายถึงสัญญาณขาย

               2.ASCENDING TRIANGLE เป็นรูปแบบของราคาที่มีจุดสูงสุดอยู่ในระดับเดียวกันหลายๆจุด ส่วนจุดต่ำสุดยกตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติเมื่อเราลากเส้นบนจะได้เป็นเส้นที่แทบจะเป็นแนวราบ ส่วนเส้นล่างจะเป็นเส้นแนวโน้มขึ้น แล้วในที่สุดราคาหุ้นก็จะทะลุเส้นบนขึ้นไป เมื่อเส้นแนวโน้มเส้นล่างวิ่งเข้าใกล้เส้นแนวราบเส้นบน ซึ่งหมายถึงสัญญาณซื้อนั่นเอง โดยมี TARGET แรกอยู่ที่ความสูงระหว่างเส้นแนวราบกับจุดต่ำสุดจุดแรกเมื่อนำมาบวกกับราคา ณ จุดที่ราคาหุ้นตัดกับเส้นแนวราบขึ้นไปนั่นเอง

               3.DESCENDING TRIANGLE เป็นรูปแบบที่ตรกันข้ามกับรูปแบบที่ 2 หรือ ASCENDING TRIANGLE กล่าวคือ รูปแบบของราคาชนิดนี้มีจุดสูงสุดต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อลากเส้นแนวโน้มจะได้เป็นเส้นแนวโน้มขาลง ในขณะที่จุดต่ำสุด จะมีหลายจุด ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน แล้วในที่สุดราคาหุ้นก็จะทะลุเส้นล่างที่เป็นเส้นแนวราบลงไป กลายเป็นสัญญาณขาย โดยมี TARGET แรกอยู่ที่ความสูงระหว่างเส้นแนวราบกับจุดสูงสุดจุดแรก ซึ่งเมื่อนำความสูงนี้ไปบวกกับราคา ณ จุดที่ราคาหุ้นตัดเส้นแนวราบลงมานั่นเอง

          รูปแบบต่อเนื่องต่อไปคือรูปแบบ FLAG แบะ PENNANT เป็นรูปแบบที่มีการพักตัวชั่วคราวจากแนวโน้มเดิม ซึ่งปกติจะกินเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะขยับตัวไปในทิศทางเดิม โดยที่ถ้าเดิมเป็นแนวโน้มขาขึ้น หลังจากจบรูปแบบ FLAG หรือแบบ PENNANT ก็จะกลับไปเป็นรูปแบบขาขึ้นต่อ หรือถ้าเดิมเป็นแนวโน้มขาลง พอจบรูปแบบ FLAG หรือแบบ PENNANT ก็จะลงต่อ

1. FLAG คือรูปแบบต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่เมื่อสังเกตให้ดีจะมีรูปแบบเหมือนธง 4 เหลี่ยม

2.PENNANT คือรูปแบบต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่สร้างรูปแบบเป็นรูปธงแบบสามเหลี่ยม

               รูปแบบต่อเนื่องถัดมาคือ WEDGE ซึ่งเมื่อมองผิวเผินจะรู้สึกคล้ายๆกับ PENNANT แต่ต่างกันตรงที่ WEDGE จะมีการฟอร์มตัวในระยะยาวที่นานกว่า PENNANT ซึ่งจะใช้เวลาฟอร์มตัวในช่วงสั่นๆเพียง 1-3 สัปดาห์ และ WEDGE จะมีการทำจุดต่ำสุดใหม่ ในขณะที่ PENNANT จะมีจุดต่ำสุดที่ยกสูงขึ้น 

             รูปแบบถัดมา DOUBLE TOP และ TRIPLE TOP ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบเป็นการเคลื่อนไหวที่มีการสร้างจุดสูงสุดอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยที่ DOUBLE TOP จะเป็นจุดสูงสุด 2 จุดในขณะที่ TRIPLE TOP จะมีจุดสูงสุด 3 จุด โดยปกติเมื่อราคาหุ้นเมื่อเกิด DOUBLE TOP หรือ TRIPLE TOP แล้ว ถ้ามีการดีดราคาขึ่นมาอีกครั้ง ส่วนใหญ่จะมีจุดสูงสุดดังกล่าวนั้นเป็นแนวต้าน ทำให้ราคาหุ้นต้องปรับตัวลง ยกเว้นแต่การปรับขึ้นมารอบหลังมีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 2 หรือ 3 รอบ กรณี DOUBLE TOP และ TRIPLE TOP ตามลำดับ ก็อาจจะทำให้ราคาหุ้นที่ขึ้นมารอบหลังสามารถตีทะลุขึ้นไปได้ ซึ่งจุดสูงสุดเดิมก็จะกลายเป็นแนวรับที่แข็งแกร่งในทันที  ในทางกลับกัน DOUBLE BOTTOM และ TRIPLE BOTTOM โดยทั้ง 2 รูปแบบเป็นการเคลื่อนไหวที่มีการสร้างจุดต่ำสุดอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยที่ DOUBLE BOTTOM จะเป็นจุดต่ำสุด 2 จุด ในขณะที่ TRIPLE BOTTOM จะมีจุดต่ำสุด 3 จุด  โดยปกติเมื่อราคาหุ้นเมื่อเกิด DOUBLE BOTTOM หรือ TRIPLE BOTTOM แล้วถ้ามีการปรับตัวลงมาอีกรอบหนึ่ง ส่วนใหญ่จะมีจุดต่ำสุดดังกล่าวเป็นแนวรับ ทำให้ราคาหุ้นมีการเด้งกลับขึ้นไป เว้นแต่การปรับตัวลงมารอบนี้มีมูลค่าซื้อขายเข้ามาหนาแน่นกว่าเดิมมากๆ โอกาสที่จะทะลุจุดต่ำสุดเดิม สร้างจุดต่ำสุดใหม่ก็จะมีมากขึ้น ซึ่งจุดต่ำสุดเดิมก็จะกลายเป็นแนวต้านที่แข็งแกร่งขึ้นมาทันที เมื่อราคาหุ้นมีการดีดกลับขึ้นมา


               รูปแบบต่อมาที่ผมคิดว่านักลงทุนที่ใช้เทคนิคการดูกราฟควรจะทำความเข้าใจก็คือ รูปแบบ HEAD&SHOULDER (หัวและไหล่) (H&S) เป็นรูปแบบที่มีการฟอร์มตัวของราคาคล้ายๆรูปหัวคน และมีไหล่ซ้ายและไหล่ขวา โดยที่ระดับของไหล่ทั้ง 2 ข้างโดยปกติจะอยู่ใกล้เคียงกัน ในขณะที่ส่วนหัวจะมีจุดสูงกว่าจุดสูงของไหล่ทั้ง 2 ข้าง โดยที่เมื่อไรก็ตามที่รูปแบบฟอร์มตัวไหล่ซ้าย และส่วนหัวเสร็จแล้ว กำลังจะฟอร์มตัวเป็นไหล่ขวา เมื่อราคาลงมาทะลุเส้นที่ลากจากส่วนไหล่ซ้าย มาที่ไหล่ขวา ก็จะเป็นสัญญาณขาย ซึ่งรูปแบบนี้ที่จริงก็คือการเปลี่ยนรูปแบบจากเดิม ขาขึ้นกลายเป็นขาลงนั่นเอง ในทำนองกลับกัน รูปแบบ HEAD&SHOULDER BOTTOM ซึ่งเป็นรูปแบบที่ตรงกันข้ามกับ HEAD&SHOULDER คือ เป็นการฟอร์มตัวของราคาคล้ายรูปคน มีไหล่ซ้ายและไหล่ขวา โดยที่ระดับของไหล่ทั้ง 2 ข้างโดยปกติจะอยู่ใกล้เคียงกันแต่คราวนี้กลายป็นรูปแบบคว่ำ โดยทั้งหัวและไหล่ กลับหัวลงไปอยู่ด้านล่าง  โดยเมื่อราคาหุ้นมีการฟอร์มตัวเป็น ไหล่ซ้าย และส่วนหัวเสร็จแล้ว กำลังจะฟอร์มตัวเป็นไหล่ขวาอยู่ เมื่อราคาทะลุเส้นที่ลากจากส่วนไหล่ซ้าย มาที่ไหล่ขวาขึ้นไปก็จะกลายเป็นสัญญาณซื้อ ซึ่งรูปแบบนี้คือการเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เป็นขาลงกลายเป็นขาขึ้นนั่นเอง

               เรื่องต่อไปที่ท่านควรจะศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวข้องกับเรื่อง GAP คือการที่ราคามีการเปิดช่องว่างของราคาซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งช่วงที่หุ้นมีราคาขึ้น หรือช่วงที่หุ้นมีราคาลงมาก็ตาม เช่น ราคาวันก่อนหน้าของหุ้น DEF มีจุดสูงสุดที่ 3.70 ต่ำสุดที่ 3.30 บาท และมีราคาปิดที่ 3.50 วันถัดมาราคาเปิดกระโดดที่ 4 บาทเลย เนื่องจากมีข่าวดีบางอย่าง ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาตั้งแต่ช่วงเปิดตลาดเช้า แล้วขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 4.50 จะเห็นได้ว่า ราคาต่ำที่สุดของวันล่าสุด กับราคาสูงสุดของวันก่อนมีช่องว่างของราคา  นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า GAP นั่นเอง ซึ่งปกติ GAP จะเป็นการแสดงถึงความแข็งแรงของทิศทางราคาไม่ว่าจะเป็นทิศทางขาขึ้นหรือลง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีข่าวดีหรือข่าวร้ายที่เหนือความคาดหมายของนักลงทุนในตลาด โดย GAP มี 3 รูปแบบคือ

               1.BREAKAWAY GAP เป็นการสร้าง GAP ชุดแรก โดยปกติจะเกิดจากการที่ราคาหุ้นสามารถทะลุเส้นแนวรับหรือแนวต้านสำคัญ

               2.RUNAWAY GAP เป็น GAP ที่เกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากเกิด BREAKAWAY GAP ไปแล้ว แสดงว่าทิศทางของราคามีความแข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นการขึ้นหรือลงก็ตาม

               3.EXHAUSTION GAP เป็น GAP ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากการเกิด GAP 2 ตัวข้างบนซึ่งเป็น GAP ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายขาขึ้นที่มีการอ่อนกำลังลง ทำให้คาดการณ์ได้ว่า หุ้นกำลังจะมีการเปลี่ยนทิศทางในอีกไม่นาน นั่นคือ ถ้าเดิมเป็นทิศทางขาขึ้น นั่นก็หมายความว่ากำลังจะเปลี่ยนเป็นทิศทางลงแล้ว ในทางกลับกัน ถ้าเดิมเป็นทิศทางลง นั่นก็หมายความว่ากำลังจะเปลี่ยนเป็นทิศทางขึ้นแล้ว

               และแล้วมหากาพย์ของบทความ “การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด” ก็จบลงที่บทความตอนที่ 5 นี่เอง ซึ่งท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือ “จาก 1 ล้านเป็น 500 ล้าน ผมทำอย่างไร “ ที่ผมอยากฝากให้ท่านนักลงทุนไว้เป็นคู่มือในการลงทุนที่จะสร้างความสำเร็จในการลงทุนของทุกๆท่านครับ

กิติชัย เตชะงามเลิศ


    9/9/61

อ่าน การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 1 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/1.html
       การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 2 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/2.html
       การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 3 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/3.html
       การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนที่ 4 ) ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/4.html
       การเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ( ตอนจบ )  ได้ที่ http://kitichai1.blogspot.com/2018/09/blog-post_9.html



       ถ้าท่านชอบบทความผม ท่านสามารถสมัครสมาชิกโดยกรอกอีเมลของท่าน ในช่องใต้ Follow by Email ทางด้านขวามือ เมื่อมีบทความใหม่ๆ ก็จะมีการส่งอีเมลแจ้งเตือนให้ท่านทราบ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความดีๆกันนะครับ




ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่


      หรือ 1.หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ทุกวันพุธหน้า B6 ในคอลัมน์ "เขียนอย่างที่คิด"   
              2.วารสารเภตรา ของสมาคมศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ จุลสารเตชะสาร ของสมาคมเตชะสัมพันธ์ ทุกไตรมาส




IDEO Verve ราชปรารภ ติดแอร์พอร์ทลิงค์ราชปรารภ เพียง 60 เมตร และห่างจากตลาดประตูน้ำเพียง 500 เมตร



ห้องที่จะขายและให้เช่า

      ชั้น 24 พื้นที่ 49.50 ตรม. 2 นอน 1 น้ำ ห้องสวย เฟอร์นิเจอร์ครบถ้วน มี ผ้าม่าน เตาไฟฟ้า เครื่องดูดควัน แอร์ 3 ตัว ตู้เย็น 14.9 คิว เครื่องซักผ้าฝาหน้า Digital TV 49 และ 32 นิ้ว เครื่องทำน้ำร้อน และ Microwave ขายในราคา 6,000,000 บาท ปล่อยเช่า 25,000 บาท/เดือน
สามารถดาวน์โหลดรูปภาพและวีดีโอทั้งหมดของ IDEO Verve ราชปรารภ ได้ที่ https://www.dropbox.com/sh/xaa5a4hsso6o1ft/AADO2gWro2v2eEW6B87q3z4ja?dl=0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น